ข้าวโพดหวานลูกผสมพันธุ์สงขลา 84-1

องค์ความรู้การผลิตเมล็ดพันธุ์
ข้าวโพดหวานลูกผสมพันธุ์สงขลา 84-1

สัปดาห์ที่ 1

การคัดเลือกพื้นที่

การคัดเลือกพื้นที่ที่เหมาะสม ควรเป็นพื้นที่ราบ ไม่มีน้ำท่วมขัง เนื้อดินอุ้มน้ำและระบายน้ำได้ดี  มีค่าความเป็นกรด-ด่าง 5.6-7.0 โดยฤดูปลูกที่เหมาะสมในการผลิตเมล็ดพันธุ์ ควรปลูกปลายฤดูฝน แล้วเก็บผลผลิตช่วงฤดูแล้ง ประมาณเดือนธันวาคมถึงเดือนมีนาคม

อย่างไรก็ตาม การเลือกพื้นที่ปลูกควรมีการป้องกันปัญหาละอองเกสรตัวผู้จากพันธุ์อื่นปะปน ได้แก่ พื้นทีผลิตเมล็ดพันธุ์ไม่ควรปลูกข้าวโพดชนิดอื่นหรือพันธุ์อื่นมาก่อน 

เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาเมล็ดตกค้างในแปลงงอกขึ้นมาปะปน หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ควรให้เมล็ดข้าวโพดที่ตกค้างงอกขึ้นมาก่อน แล้วทำการไถกำจัดทิ้งช่วงเตรียมแปลงปลูก  หรือใช้วิธีปลูกเหลื่อมเวลากับข้าวโพดพันธุ์อื่น อย่างน้อย 3 สัปดาห์ 

ถ้าปลูกในเวลาเดียวกันต้องมีระยะแปลงห่างจากพันธุ์อื่นอย่างน้อย 300 เมตร เพื่อให้ปลอดละอองเกสรตัวผู้จากพันธุ์อื่น 

แต่หากแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์อยู่ใต้ทิศทางลมก็ต้องเพิ่มระยะห่างจากแปลงข้าวโพดพันธุ์อื่นมากกว่านี้

 การเตรียมดินที่ดีควรปฏิบัติเมื่อดินมีความชื้นพอเหมาะ โดยควรเตรียมดินก่อนปลูกอย่างน้อย 2-3 ครั้ง

สัปดาห์ที่ 2

การไถดะ

การไถดะ เป็นการไถครั้งแรกเพื่อเปิดหน้าดิน โดยใช้ผาล 3 หรือ ผาล 7 เพื่อผลิกหน้าดินและกลบวัชพืช โดยความลึกของการไถประมาณ 30 ซม. ไถแล้วตากดินทิ้งไว้ 7-10 วัน

สัปดาห์ที่ 3-4

การไถแปรและพรวน

การไถแปรและพรวน  เป็นการไถขวางแนวการไถดะ โดยใช้ผาล 7 เพื่อย่อยดินให้แตกและคลุกเคล้าเศษซากพืชและอินทรียวัตถุได้อย่างสม่ำเสมอ หากไม่ละเอียดเพียงพอ ควรทำการพรวนอีก 1 ครั้ง และปรับพื้นที่ให้สม่ำเสมอหรือมีความลาดเอียงเล็กน้อยเพื่อป้องกันน้ำท่วมขัง

ถ้าความเป็นกรด-ด่างของดิน น้อยกว่า 6 ควรปรับสภาพดินโดยการหวานปูนขาวหรือปูนโดโลไมต์ตามค่าความต้องการปูนของดิน 

สัปดาห์ที่ 5

การปลูก

การจัดแถวปลูก ควรวางแถวปลูกให้ขวางทิศทางลม เพื่อให้การกระจายละอองเกสรจากแถวตัวผู้ผสมกับสายพันธุ์แม่ได้ดี

อัตราแถวปลูกสายพันธุ์แม่ต่อสายพันธุ์พ่อ เท่ากับ 4 :1 ซึ่งจะมีพื้นที่ของสายพันธุ์แม่เท่ากับ 80% ของพื้นที่ผลิตทั้งหมด 

ข้อแนะนำ ควรปลูกแถวของสายพันธุ์พ่อรอบนอกของแปลงผลิตให้มีจำนวนมากขึ้น เพื่อป้องกันการปนเปื้อนจากละอองเกสรของข้าวโพดสายพันธุ์อื่น 

และเป็นการเพิ่มปริมาณละอองเกสรสายพันธุ์พ่อให้มากขึ้น

 

ขั้นตอนการปลูก ควรคลุกเมล็ดพันธุ์ก่อนปลูก ด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช ได้แก่ สารเมทาแลกซิล เพื่อป้องกันโรคราน้ำค้าง โรคโคนเน่า และรากเน่า 

วิธีการปลูก ให้หยอดเมล็ด 2 เมล็ด/หลุม โดยใช้ระยะปลูกระหว่างแถว 75 ซม. และระหว่างต้น 25 ซม.  และได้จำนวน 8,533 หลุม/ไร่

 

โดยการปลูกสายพันธุ์แม่ก่อนสายพันธุ์พ่อ ห่างกัน 3 วัน เพื่อให้ดอกตัวเมียของต้นแม่ และดอกตัวผู้ของต้นพ่อบานพร้อมกันพอดี

สัปดาห์ที่ 6-10
(1-30 วัน)

ระยะการเจริญเติบโต

การให้น้ำ: อายุ 1-30 วัน รดน้ำอย่างสม่ำเสมอ 1-2 วัน/ครั้ง

การใส่ปุ๋ย: ในสัปดาห์ที่ 8 (อายุ 14 วัน) ใส่ปุ๋ย 15-15-15 อัตรา 50 กก./ไร่

สัปดาห์ที่ 10-16 (31-74 วัน)

ระยะก่อนออกดอกถึงระยะติดฝัก

การให้น้ำ: อายุ 31-74 วัน รดน้ำ 3-5 วัน/ครั้ง

การใส่ปุ๋ย: 
– ในสัปดาห์ที่ 10 (อายุ 25-30 วัน) ใส่ปุ๋ย 15-15-15 อัตรา 30 กก./ไร่

– ในสัปดาห์ที่ 12 (อายุ 40-45 วัน) ใส่ปุ๋ย 15-15-15 อัตรา 30 กก./ไร่

ต้องกำจัดช่อดอกตัวผู้ทุกช่อดอกในแถวของสายพันธุ์แม่ก่อนที่ช่อดอกจะโผล่พ้นใบธง หรือเมื่อข้าวโพดมีอายุตั้งแต่ 45 วันขึ้นไป

สัปดาห์ที่ 17-20 (75-100 วัน)

ระยะก่อนเก็บเกี่ยวถึงระยะเก็บเกี่ยว

การให้น้ำ: อายุ 75-100 วัน งดให้น้ำ

สัปดาห์ที่ 21

การเก็บเกี่ยวผลผลิต

เก็บเกี่ยวผลผลิตเมื่อข้าวโพดอายุ 90-100 วันหลังปลูก โดยเก็บเกี่ยวฝัก จากแถวของสายพันธุ์แม่ 

วิธีสังเกต คือ สีของเปลือกฝัก จะเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีเหลืองฟางข้าว ถ้าแกะเมล็ดจะเห็นขั้วเมล็ดมีจุดสีน้ำตาลเข้มถึงดำ แสดงว่า เมล็ดพันธุ์พร้อมเก็บเกี่ยว

หรือนำไปวัดความชื้นของเมล็ดพันธุ์ โดยความชื้นที่เหมาะสมในการเก็บเกี่ยวต้องไม่เกิน 28 % ซึ่งเป็นระยะที่เมล็ดพันธุ์มีคุณภาพสูงสุด  เมล็ดสามารถทนทานต่อการขนย้ายและการกระทบกระเทือน โดยไม่แตกหักได้ง่าย 

ภายหลังการเก็บเกี่ยวควรรีบนำไปลดความชื้นให้เร็วที่สุด ไม่ควรสุมกองทิ้งไว้นาน ๆ จะทำให้มีโอกาสเกิดเชื้อราในเมล็ดพันธุ์ได้  

การปล่อยทิ้งให้ฝักแห้งอยู่ในแปลงผลิตนานเกินไป  ทำให้ความงอกและความแข็งแรงของเมล็ดลดลง

สัปดาห์ที่ 22

การปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์

ภายหลังการเก็บเกี่ยวควรรีบนำไปลดความชื้นให้เร็วที่สุด ไม่ควรสุมกองทิ้งไว้นาน ๆ จะทำให้มีโอกาสเกิดเชื้อราในเมล็ดพันธุ์ได้  การปล่อยทิ้งให้ฝักแห้งอยู่ในแปลงผลิตนานเกินไป  ทำให้ความงอกและความแข็งแรงของเมล็ดลดลง

การปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ โดยนำฝักมาปอกเปลือก และคัดแยกฝักที่ไม่ต้องการออก เช่น ฝักที่มีเมล็ดงอก ฝักเสีย ฝักที่มีโรคและแมลงเข้าทำลาย ฝักผิดปกติ และฝักที่ยังไม่แก่เต็มที่ ส่วนฝักที่มีลักษณะปกติตรงตามพันธุ์ นำไปสู่กระบวนการปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ โดยการฝึ่งแดดให้ฝักมีความชื้นลดลงเหลือ 13-16% แล้วนำไปกะเทาะเมล็ดด้วยมือ ทำความสะอาดและคัดแยกเมล็ด โดยการใช้พัดลมเป่าและใช้ตะแกรงร่อนสิ่งเจือปนต่างๆ เช่น ไหมข้าวโพด เมล็ดพันธุ์พืชชนิดอื่น และสิ่งเจือปนอื่นๆ แล้วคัดเมล็ดบริสุทธิ์ ไปลดความชื้นอีกครั้ง โดยการผึ่งแดด ให้ความชื้นลดลงเหลือ 11-12% 

สัปดาห์ที่ 23

การเก็บรักษาและตรวจสอบคุณภาพเมล็ดพันธุ์

วิธีการเก็บรักษา ควรเก็บในสภาพโรงเรือนที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก และมีวัสดุรองพื้นสำหรับวางเมล็ดพันธุ์ เช่น พาเลท หรือแคร่ไม้ 

การป้องกันแมลงศัตรูเข้าทำลายเมล็ดพันธุ์ ควรใช้วิธีการรมสารเคมี เช่น สารอลูมิเนียมฟอสไฟด์

โดยเมล็ดพันธุ์ที่ได้มาตรฐาน ต้องมีความบริสุทธิ์ อย่างน้อย 96%  มีเมล็ดพันธุ์พืชชนิดอื่นๆ ได้ไม่เกิน 0.2%  และวัสดุเจือปนไม่เกิน 2% มีเปอร์เซ็นต์ความงอกอย่างน้อย 60% และมีเปอร์ความชื้นไม่เกิน 12%

สามารถตรวจสอบความงอกอย่างง่ายด้วยการเพาะทรายเป็นระยะเวลา 7 วัน มีความงอกอย่างน้อย 60%