ประวัติความเป็นมา

        ด้วยกรมวิชาการเกษตรพิจารณาเห็นว่า เพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตเมล็ดพันธุ์พืช (Seed Hub Center) และเพื่อให้มีหน่วยงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเกี่ยวกับเมล็ดพันธุ์ของกรมวิชาการเกษตรทั้งระบบ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 31 มาตรา 32 มาตรา 38 มาตรา 39 แห่งระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 จึงให้

1. ตั้งกองวิจัยพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืช เป็นการภายในโดยให้มีฐานะเทียบเท่ากอง ขึ้นกับอธิบดีกรมวิชาการเกษตร หรือรองอธิบดีกรมวิชาการเกษตรที่ได้รับมอบหมาย ตามคำสั่งกรมวิชาการเกษตรที่ 2425/2558 ลงวันที่ 11 พฤษภาคม 2558 โดยกองวิจัยพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืช มีอำนาจดังนี้

        1.1 ศึกษา วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเมล็ดพันธุ์
        1.2 วางแผนการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ชั้นพันธุ์ขยายและพันธุ์จำหน่ายให้เป็นไปตามนโยบายและยุทธศาสตร์  
        1.3 ให้บริการตรวจสอบเพื่อรับรองระบบการผลิตเมล็ดพันธุ์ คุณภาพเมล็ดพันธุ์ และสุขอนามัยพืชของเมล็ดพันธุ์พืช ให้แก่ภาครัฐ ภาคเอกชน เกษตรกร และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง
        1.4 ให้บริการวิชาการและเทคโนโลยีแก่เจ้าหน้าที่ เกษตรกร เอกชน และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง
        1.5 ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย

        เมล็ดพันธุ์ ตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 หมายความว่า “เมล็ด หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของพืชที่ใช้เพาะปลูก หรือใช้ทำพันธุ์ เช่น ตอ หน่อ เหง้า กิ่ง แขนง ตา ราก หัว ดอก หรือผล”

2. ให้แบ่งงานและกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบภายในกองวิจัยพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืช ดังนี้

        2.1 ฝ่ายบริหารทั่วไป มีหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับงานสารบรรณ งานงบประมาณ งานการเงิน บัญชีและพัสดุ งานบุคคล และงานธุรการทั่วไป
        2.2 กลุ่มบริหารโครงการและวางแผนการผลิต มีหน้าที่
              2.2.1 วิเคราะห์และจัดทำแผนงานวิจัยและแผนการผลิตเมล็ดพันธุ์ให้เป็นไปตามนโยบายและยุทธศาสตร์
              2.2.2 ติดตามและประเมินผลการดำเนินงาน
              2.2.3 จัดทำฐานข้อมูลองค์ความรู้เมล็ดพันธุ์
              2.2.4 ให้บริการเมล็ดพันธุ์แบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service)

        2.3 กลุ่มวิชาการ มีหน้าที่
              2.3.1 ศึกษา วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเมล็ดพันธุ์
              2.3.2 ให้คำปรึกษา ประสานงานและร่วมดำเนินงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

        2.4 กลุ่มพัฒนาระบบตรวจสอบและรับรองคุณภาพเมล็ดพันธุ์พืช มีหน้าที่
              2.4.1 ศึกษา วิจัยและพัฒนาระบบตรวจสอบและรับรองคุณภาพเมล็ดพันธุ์พืช และกำหนดมาตรฐานเมล็ดพันธุ์
              2.4.2 ให้บริการตรวจสอบเพื่อรับรองระบบการผลิตเมล็ดพันธุ์ คุณภาพเมล็ดพันธุ์ สุขอนามัย เมล็ดพันธุ์พืช ให้แก่ภาครัฐ เอกชน เกษตรกร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
              2.4.3 ให้คำปรึกษา ประสานงานและร่วมดำเนินงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

        2.5 ศูนย์วิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก
        2.6 ศูนย์วิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น
        2.7 ศูนย์วิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
        2.8 ศูนย์วิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชพัทลุง จังหวัดพัทลุง

        โดย ศูนย์วิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืช มีหน้าที่
        (1) ศึกษา วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านเมล็ดพันธุ์ตามแผนงานและโครงการของกองวิจัยพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืช
        (2) ประสานและผลิตเมล็ดพันธุ์ขยายและพันธุ์จำหน่ายในพื้นที่รับผิดชอบและกระจายเมล็ดพันธุ์ไปยังเครือข่าย
       (3) ให้บริการตรวจสอบเพื่อรับรองระบบการผลิตเมล็ดพันธุ์ คุณภาพเมล็ดพันธุ์ สุขอนามัยเมล็ดพันธุ์พืช ให้แก่ภาครัฐ เอกชน เกษตรกร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

        การแบ่งงานภายในเป็น

       (1) ฝ่ายบริหารทั่วไป มีหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับงานสารบรรณ งานงบประมาณ งานการเงิน บัญชีและพัสดุ งานบุคคล และงานธุรการทั่วไป
       (2) กลุ่มวิจัย มีหน้าที่ศึกษา วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเมล็ดพันธุ์ ตามแผนงานและโครงการของกองวิจัยพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืช
       (3) กลุ่มผลิตเมล็ดพันธุ์และตรวจสอบรับรองคุณภาพเมล็ดพันธุ์ มีหน้าที่
              3.1 ประสานและผลิตเมล็ดพันธุ์ขยายและพันธุ์จำหน่ายในพื้นที่รับผิดชอบและกระจายเมล็ดพันธุ์ไปยังเครือข่าย รวมทั้งติดตามและให้คำแนะนำด้านการผลิตเมล็ดพันธุ์ แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
               3.2 ให้บริการตรวจสอบเพื่อรับรองระบบการผลิตเมล็ดพันธุ์ คุณภาพเมล็ดพันธุ์ สุขอนามัยเมล็ดพันธุ์พืช ให้แก่ภาครัฐ เอกชน เกษตรกร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

        จากนั้นมีการปรับหน้าที่และการแบ่งงานภายในกองวิจัยพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืช ตามคำสั่งกรมวิชาการเกษตร 752/2559 ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2559

         1. ให้ปรับ ศูนย์วิจัยศูนย์วิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชพัทลุง จังหวัดพัทลุง เป็นศูนย์วิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชสงขลา จังหวัดสงขลา

         2. ตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี

        3. ตั้งศูนย์ขยายเมล็ดพันธุ์พืช กองวิจัยพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืช จำนวน 5 ศูนย์ ดังนี้
            3.1 ศูนย์ขยายเมล็ดพันธุ์พืชลำปาง จังหวัดลำปาง
            3.2 ศูนย์ขยายเมล็ดพันธุ์พืชเลย จังหวัดเลย
            3.3 ศูนย์ขยายเมล็ดพันธุ์พืชร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด
            3.4 ศูนย์ขยายเมล็ดพันธุ์พืชลพบุรี จังหวัดลพบุรี
            3.5 ศูนย์ขยายเมล็ดพันธุ์พืชสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี

        โดย ศูนย์ขยายเมล็ดพันธุ์พืช มีหน้าที่ ผลิตเมล็ดพันธุ์พืชชั้นพันธุ์จำหน่าย ถ่ายทอดเทคโนโลยี และสร้างเครือข่ายผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์จำหน่าย

แบ่งงานภายในเป็น 1 ฝ่าย และ 2 กลุ่ม ดังนี้

        (1) ฝ่ายบริหารทั่วไป ทีหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับงานสารบรรณ งานงบประมาณ งานการเงิน บัญชีและพัสดุ งานบุคคล และงานธุรการทั่วไป
        (2) กลุ่มผลิตเมล็ดพันธุ์ มีหน้าที่  
              1) วางแผน ดำเนินการ และควบคุมกำกับการผลิตเมล็ดพันธุ์ชั้นพันธุ์จำหน่าย  
              2) ถ่ายทอดเทคโนโลยีเมล็ดพันธุ์
              3) กลุ่มพัฒนาธุรกิจเมล็ดพันธุ์ มีหน้าที่ศึกษา พัฒนาระบบธุรกิจเมล็ดพันธุ์ ประสานและกระจายเมล็ดพันธุ์ ไปยังเครือข่ายผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์พืช รวมทั้งติดตามและให้คำแนะนำด้านการผลิตเมล็ดพันธุ์แก่หน่วยงานและองค์กรอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

        ต่อมามีการปรับปรุงหน้าที่ความรับผิดชอบ และการปฏิบัติงานของกองวิจัยพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืช ตามคำสั่งกรมวิชาการเกษตร ที่ 1208/2559 ลงวันที่ 3 สิงหาคม 2559 โดยมอบให้ ศูนย์วิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืช บริหารการผลิตเมล็ดพันธุ์พืชชั้นพันธุ์ขยาย และศูนย์ขยายเมล็ดพันธุ์พืช บริการการผลิตเมล็ดพันธุ์ชั้นพันธุ์จำหน่าย และให้ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร ทำหน้าที่ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืช และผู้อำนวยการศูนย์ขยายเมล็ดพันธุ์พืช อีกหน้าที่หนึ่ง

2558
ตั้งกองวิจัยพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืช (กวม.)
และศูนย์วิจัยพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืช (ศวม.) 4 ศูนย์
2559
ตั้งศูนย์ขยายเมล็ดพันธุ์พืช (ศขม.) เพิ่ม 5 ศูนย์
2559
ปรับปรุงหน้าที่ความรับผิดชอบ กวม. ศวม. และ ศขม.
2561
ปรับปรุงหน้าที่และโครงสร้าง ศวม. 5 ศูนย์
2565
ปรับปรุงหน้าที่ความรับผิดชอบ กวม.