12-01-2015, 10:20 AM
การยกระดับมาตรฐานการผลิตยางแผ่นรมควันอัดก้อนด้วยระบบมาตรฐาน GMP
ปรีดิ์เปรม ทัศนกุล, จักรี เลื่อนราม, ณพรัตน์ วิชิตชลชัย, พิศิษฐ์ พิมพ์รัตน์, กิตติคุณ บุญวานิช, วราวุธ ชูธรรมธัช และสมจิตต์ ศิขรินมาศ
ศูนย์วิจัยยางสงขลา, สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร, ศูนย์วิจัยยางฉะเชิงเทรา และสำนักงานตลาดกลางยางพาราสงขลา
ปรีดิ์เปรม ทัศนกุล, จักรี เลื่อนราม, ณพรัตน์ วิชิตชลชัย, พิศิษฐ์ พิมพ์รัตน์, กิตติคุณ บุญวานิช, วราวุธ ชูธรรมธัช และสมจิตต์ ศิขรินมาศ
ศูนย์วิจัยยางสงขลา, สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร, ศูนย์วิจัยยางฉะเชิงเทรา และสำนักงานตลาดกลางยางพาราสงขลา
ยางแผ่นรมควันเป็นยางที่ประเทศไทยมีปริมาณการผลิตและส่งออกเป็นอันดับ 2 ของผลผลิตยางธรรมชาติ จากปริมาณการส่งออกยางแผ่นรมควัน 747,284 ตัน ในปี 2554 สามารถทำรายได้เข้าประเทศถึง 115,400 ล้านบาท (สถาบันวิจัยยาง, 2555) นับว่าเป็นสินค้าที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของชาติเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นสินค้าที่ส่งออกมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก แต่เนื่องจากสถานการณ์ราคายางในประเทศที่ปรับตัวลดลงตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม 2554 ทำให้เกิดผลกระทบต่อรายได้ชาวสวนยาง จึงจำเป็นต้องหามาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาราคาได้รวดเร็วทันต่อเหตุการณ์ คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติในประเทศประชุมครั้งที่ 1/2555 เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2555 ได้พิจารณาเรื่องการรักษาเสถียรภาพราคาและมีมติเห็นชอบในหลักการโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง ด้วยวงเงินสินเชื่อ 15,000 ล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อชะลอการจำหน่ายยางออกสู่ตลาดในช่วงที่ราคายางผันผวน และเพื่อพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรในการรักษาเสถียรภาพราคายาง ด้วยระยะเวลาของโครงการ 1 ปี 3 เดือน ระหว่างเดือนมกราคม 2555 – มีนาคม 2556 สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร จึงได้เริ่มโครงการให้การรับรองคุณภาพการผลิตยางแผ่นรมควันอัดก้อนตามมาตรฐานระบบการจัดการคุณภาพที่ดี (Good Manufacturing Practice ; GMP) โดยเป็นการส่งเสริมให้โรงอัดก้อนยางสามารถผลิตยางแผ่นรมควันอัดก้อนมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของตลาดต่างประเทศ โดยใช้โรงอัดก้อนยางและโกดังเก็บยางขนาด 200 และ 500 ตัน ที่กรมวิชาการเกษตรดำเนินการสร้างจำนวน 146 แห่ง ตั้งแต่ปี 2545 แล้วเสร็จในปี 2547 ซึ่งแต่ละโรงจะเป็นแม่ข่ายประกอบด้วยโรงเครือข่ายที่พร้อมจะนำยางแผ่นรมควันมาอัดก้อน เพื่อมุ่งหวังให้สถาบันเกษตรกรเหล่านั้นรวมตัวกันและสามารถผลิตยางแผ่นรมควันอัดก้อนที่ได้มาตรฐานตามที่สถาบันวิจัยยางกำหนด อย่างไรก็ตามจากการสำรวจของสถาบันวิจัยยางในปี 2554 พบว่ามีเพียง 1 โรง เท่านั้นที่ผลิตยางอัดก้อน (ชัยวัฒน์, 2555) เนื่องจากขาดเงินทุนหมุนเวียน นอกจากนี้พบปัญหาสำคัญคือ คุณภาพยางแผ่นรมควันจากโรงเครือข่ายไม่สม่ำเสมอ กระบวนการผลิตที่ยังไม่ได้มาตรฐาน ผู้ซื้อไม่มีความมั่นใจคุณภาพสินค้าทำให้ไม่สามารถผลิตและส่งออกยางยังต่างประเทศได้เอง
โครงการรับรองคุณภาพการผลิตยางแผ่นรมควันอัดก้อนตามมาตรฐานระบบการจัดการคุณภาพที่ดีและเหมาะสม ใช้หลักการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติตามมาตรการ GMP ของสถาบันวิจัยยางที่ได้จัดทำเป็นคู่มือปฏิบัติไว้ โดยมุ่งเน้นการผลิตเชิงคุณภาพตามหลักสากลซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้จัดทำขึ้นเป็นครั้งแรกได้มีการนำหลักเกณฑ์ที่ดีสำหรับโรงอัดก้อนยางและโกดังเก็บยาง (สถาบันวิจัยยาง, 2547) หลักเกณฑ์ที่ดีสำหรับการผลิตยางแผ่นรมควันอัดก้อน (สถาบันวิจัยยาง, 2547) ซึ่งได้จัดทำไว้แล้วมาพัฒนาปรับปรุงใหม่ให้สมบูรณ์ สถาบันเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับการฝึกอบรมกฏระเบียบการปฏิบัติงาน การควบคุมคุณภาพและวิธีการปฏิบัติที่ดี มีการตรวจประเมินโดยเจ้าหน้าที่ของสถาบันวิจัยยางและจะต้องได้คะแนนอยู่ในเกณฑ์ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ซึ่งโรงงานผลิตยางแผ่นรมควันอัดก้อนที่ผ่านการประเมินและได้รับการรับรอง GMP ของสถาบันวิจัยยาง จะได้รับความเชื่อมั่นจากผู้ใช้ยางทั้งภายในและต่างประเทศ สามารถส่งผลผลิตไปจำหน่ายได้ทั่วโลก เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ยางพาราส่งออกของไทย และประการสำคัญคือ เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้สถาบันเกษตรกรให้สามารถยืนหยัดประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรมยางได้ด้วยตัวเองเป็นรากฐานความมั่นคงต่อไป