คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร
การยกระดับมาตรฐานการผลิตยางแผ่นรมควันอัดก้อนด้วยระบบมาตรฐาน GMP - printable_version

+- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research)
+-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1)
+--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2555 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=5)
+--- เรื่อง: การยกระดับมาตรฐานการผลิตยางแผ่นรมควันอัดก้อนด้วยระบบมาตรฐาน GMP (/showthread.php?tid=541)



การยกระดับมาตรฐานการผลิตยางแผ่นรมควันอัดก้อนด้วยระบบมาตรฐาน GMP - doa - 12-01-2015

การยกระดับมาตรฐานการผลิตยางแผ่นรมควันอัดก้อนด้วยระบบมาตรฐาน GMP
ปรีดิ์เปรม ทัศนกุล, จักรี เลื่อนราม, ณพรัตน์ วิชิตชลชัย, พิศิษฐ์ พิมพ์รัตน์, กิตติคุณ บุญวานิช, วราวุธ ชูธรรมธัช และสมจิตต์ ศิขรินมาศ
ศูนย์วิจัยยางสงขลา, สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร, ศูนย์วิจัยยางฉะเชิงเทรา และสำนักงานตลาดกลางยางพาราสงขลา

          ยางแผ่นรมควันเป็นยางที่ประเทศไทยมีปริมาณการผลิตและส่งออกเป็นอันดับ 2 ของผลผลิตยางธรรมชาติ จากปริมาณการส่งออกยางแผ่นรมควัน 747,284 ตัน ในปี 2554 สามารถทำรายได้เข้าประเทศถึง 115,400 ล้านบาท (สถาบันวิจัยยาง, 2555) นับว่าเป็นสินค้าที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของชาติเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นสินค้าที่ส่งออกมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก แต่เนื่องจากสถานการณ์ราคายางในประเทศที่ปรับตัวลดลงตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม 2554 ทำให้เกิดผลกระทบต่อรายได้ชาวสวนยาง จึงจำเป็นต้องหามาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาราคาได้รวดเร็วทันต่อเหตุการณ์ คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติในประเทศประชุมครั้งที่ 1/2555 เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2555 ได้พิจารณาเรื่องการรักษาเสถียรภาพราคาและมีมติเห็นชอบในหลักการโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง ด้วยวงเงินสินเชื่อ 15,000 ล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อชะลอการจำหน่ายยางออกสู่ตลาดในช่วงที่ราคายางผันผวน และเพื่อพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรในการรักษาเสถียรภาพราคายาง ด้วยระยะเวลาของโครงการ 1 ปี 3 เดือน ระหว่างเดือนมกราคม 2555 – มีนาคม 2556 สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร จึงได้เริ่มโครงการให้การรับรองคุณภาพการผลิตยางแผ่นรมควันอัดก้อนตามมาตรฐานระบบการจัดการคุณภาพที่ดี (Good Manufacturing Practice ; GMP) โดยเป็นการส่งเสริมให้โรงอัดก้อนยางสามารถผลิตยางแผ่นรมควันอัดก้อนมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของตลาดต่างประเทศ โดยใช้โรงอัดก้อนยางและโกดังเก็บยางขนาด 200 และ 500 ตัน ที่กรมวิชาการเกษตรดำเนินการสร้างจำนวน 146 แห่ง ตั้งแต่ปี 2545 แล้วเสร็จในปี 2547 ซึ่งแต่ละโรงจะเป็นแม่ข่ายประกอบด้วยโรงเครือข่ายที่พร้อมจะนำยางแผ่นรมควันมาอัดก้อน เพื่อมุ่งหวังให้สถาบันเกษตรกรเหล่านั้นรวมตัวกันและสามารถผลิตยางแผ่นรมควันอัดก้อนที่ได้มาตรฐานตามที่สถาบันวิจัยยางกำหนด อย่างไรก็ตามจากการสำรวจของสถาบันวิจัยยางในปี 2554 พบว่ามีเพียง 1 โรง เท่านั้นที่ผลิตยางอัดก้อน (ชัยวัฒน์, 2555) เนื่องจากขาดเงินทุนหมุนเวียน นอกจากนี้พบปัญหาสำคัญคือ คุณภาพยางแผ่นรมควันจากโรงเครือข่ายไม่สม่ำเสมอ กระบวนการผลิตที่ยังไม่ได้มาตรฐาน ผู้ซื้อไม่มีความมั่นใจคุณภาพสินค้าทำให้ไม่สามารถผลิตและส่งออกยางยังต่างประเทศได้เอง

          โครงการรับรองคุณภาพการผลิตยางแผ่นรมควันอัดก้อนตามมาตรฐานระบบการจัดการคุณภาพที่ดีและเหมาะสม ใช้หลักการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติตามมาตรการ GMP ของสถาบันวิจัยยางที่ได้จัดทำเป็นคู่มือปฏิบัติไว้ โดยมุ่งเน้นการผลิตเชิงคุณภาพตามหลักสากลซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้จัดทำขึ้นเป็นครั้งแรกได้มีการนำหลักเกณฑ์ที่ดีสำหรับโรงอัดก้อนยางและโกดังเก็บยาง (สถาบันวิจัยยาง, 2547) หลักเกณฑ์ที่ดีสำหรับการผลิตยางแผ่นรมควันอัดก้อน (สถาบันวิจัยยาง, 2547) ซึ่งได้จัดทำไว้แล้วมาพัฒนาปรับปรุงใหม่ให้สมบูรณ์ สถาบันเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับการฝึกอบรมกฏระเบียบการปฏิบัติงาน การควบคุมคุณภาพและวิธีการปฏิบัติที่ดี มีการตรวจประเมินโดยเจ้าหน้าที่ของสถาบันวิจัยยางและจะต้องได้คะแนนอยู่ในเกณฑ์ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ซึ่งโรงงานผลิตยางแผ่นรมควันอัดก้อนที่ผ่านการประเมินและได้รับการรับรอง GMP ของสถาบันวิจัยยาง จะได้รับความเชื่อมั่นจากผู้ใช้ยางทั้งภายในและต่างประเทศ สามารถส่งผลผลิตไปจำหน่ายได้ทั่วโลก เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ยางพาราส่งออกของไทย และประการสำคัญคือ เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้สถาบันเกษตรกรให้สามารถยืนหยัดประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรมยางได้ด้วยตัวเองเป็นรากฐานความมั่นคงต่อไป