11-23-2015, 10:43 AM
การพัฒนาเห็ดเศรษฐกิจสายพันธุ์ใหม่ Coprinus comatus (O.F.Müll.) Gray ที่เหมาะสมกับการเพาะในประเทศไทย
วราพร ไชยมา, อนุสรณ์ วัฒนกุล, กรกช จันทร และอลงกรณ์ กรณ์ทอง
สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ
วราพร ไชยมา, อนุสรณ์ วัฒนกุล, กรกช จันทร และอลงกรณ์ กรณ์ทอง
สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ
เห็ด Coprinus comatus (O.F.Mull) Gray หรือเห็ดถั่วฝรั่ง มีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นเห็ดเศรษฐกิจชนิดใหม่ได้ การทดลองนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาชนิดอาหาร อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเส้นใยเห็ด และเทคโนโลยีการผลิตเห็ดถั่วฝรั่งโดยทำการรวบรวมเชื้อพันธุ์เห็ดถั่วฝรั่งจากสหรัฐอเมริกา 1 สายพันธุ์ (Comatus 1) สาธารณรัฐประชาชนจีน 4 สายพันธุ์ (Comatus 2, Comatus 3, Comatus 4 และ Comatus 5) คัดเลือกเชื้อเห็ดที่เจริญเติบโตสูงสุด 3 อันดับ (Comatus1 Comatus3 และ Comatus5 ) จากการศึกษาการเจริญของเส้นใยบนอาหารวุ้น 6 ชนิด พบว่าเชื้อเห็ดทั้ง 3 สายพันธุ์ เจริญได้ดีที่สุดบนอาหาร PGPA และที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อนำมาผลิตเชื้อขยายในอาหาร 5 สูตร พบว่า เชื้อเห็ดเจริญได้ดีที่สุดบนอาหารสูตรที่ประกอบด้วยข้าวฟ่างต้ม : CaCo3 : น้ำตาล ใช้เวลาเฉลี่ย 15.25 วัน ศึกษาการเกิดดอกเห็ดด้วยการเพาะในระบบตะกร้าพลาสติก ใช้วัสดุหมักที่ผ่านการพลาสเจอซ์ไรซ์ 7 ชนิด คือ ฟางข้าว : รำข้าว : ยูเรีย : แอมโมเนียมซัลเฟต : ปูนขาว : ยิปซั่ม และทริปเปิ้ลซุปเปอร์ฟอตเฟต พบว่าเชื้อเห็ดทั้ง 3 สายพันธุ์ เจริญได้ดีไม่แตกต่างทางสถิติ จากนั้นกระตุ้นให้เกิดดอกโดยการคลุมผิวหน้าด้วยดินผสม บ่มเลี้ยงในตู้ควบคุมอุณหภูมิที่ 18-20 องศาเซลเซียส เห็ด Comatus 3 และ Comatus 5 ออกดอกรุ่นแรก ใช้เวลา 13.60 และ 14.20 วัน ตามลำดับ และ Comatus 3 ให้ผลผลิตสูงสุด 2,557.10 กรัมต่อตะกร้า สามารถเก็บผลผลิตได้ 3 รุ่น การขยายผลทดสอบเทคโนโลยีที่ได้ในสภาพโรงเรือนเกษตรกรแบบเพาะชั้นที่อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ในฤดูหนาว (16 – 30°C) โดยใช้วัสดุหมักประกอบด้วย ฟางข้าว : รำข้าว : มูลวัว : ปุ๋ยสูตร 0-46-0 : ปูนขาว : ปุ๋ยยูเรีย และดีเกลือ พบว่าสายพันธุ์ Comatus3 และ Comatus5 ให้ผลผลิตได้ครั้งที่ 1 ไม่แตกต่างทางสถิติ โดยให้ผลผลิตเฉลี่ย 3.04 และ 3.05 กก./ตร.ม. ตามลำดับ จากนั้นทำการประเมินลักษณะของดอกเห็ดแต่ละสายพันธุ์ พบว่า comatus 3 มีขนาดดอกใหญ่ที่สุด