12-08-2015, 01:24 PM
การสะสมสารพิษตกค้างในสิ่งแวดล้อมบริเวณพื้นที่เกษตรกรรม : แม่น้ำป่าสัก
มลิสา เวชยายนนท์, สิริพร เหลืองสุชนกุล และประกิจ จันทร์ติ๊บ
กลุ่มวิจัยวัตถุมีพิษการเกษตร สำนักวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร
มลิสา เวชยายนนท์, สิริพร เหลืองสุชนกุล และประกิจ จันทร์ติ๊บ
กลุ่มวิจัยวัตถุมีพิษการเกษตร สำนักวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร
ศึกษาการสะสมสารพิษตกค้างในสิ่งแวดล้อมบริเวณพื้นที่เกษตรกรรมของลุ่มแม่น้ำป่าสักและคลองแยก ใช้ระบบกำหนดตำแหน่งพื้นโลกด้วยดาวเทียม (Global Positioning System: GPS) ในการกำหนดจุดเก็บรวม 26 จุด สุ่มเก็บตัวอย่างน้ำ ตะกอน พืชน้ำ และสัตว์น้ำ ในช่วงเดือนธันวาคม 2552 เดือนกุมภาพันธ์ เมษายน และมิถุนายน 2553 รวม 4 ครั้ง รวมทั้งหมด 242 ตัวอย่าง เป็นตัวอย่างน้ำ ตะกอน พืชน้ำ และสัตว์น้ำ จำนวน 99, 99, 29 และ 15 ตัวอย่าง ตามลำดับ พบสารพิษตกค้างในตัวอย่างน้ำ 81 ตัวอย่าง คิดเป็น 81 เปอร์เซ็นต์ สารพิษที่ตรวจพบ ได้แก่ สารกำจัดแมลงกลุ่มออร์กาโนคลอลีน กลุ่มออร์กาโนฟอสฟอรัส กลุ่มคาร์บาเมท และสารกำจัดวัชพืชกลุ่มไทรอาซีนปริมาณ <0.01-0.04, 0.02-0.44 และ 0.01-29.55 ไมโครกรัมต่อลิตร ตามลำดับ ตะกอน 99 ตัวอย่าง ตรวจพบสารพิษ 22 ตัวอย่าง คิดเป็น 22 เปอร์เซ็นต์ เป็นสารกำจัดแมลงกลุ่มออร์กาโนคลอรีน กลุ่มออร์กาโนฟอสฟอรัส และสารกำจัดวัชพืชกลุ่มไทรอาซีน ปริมาณ <0.01-0.04, <0.01 และ <0.01-0.70 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตามลำดับ ตัวอย่างพืชน้ำ 29 ตัวอย่าง ตรวจพบสารพิษ 5 ตัวอย่าง คิดเป็น 17 เปอร์เซ็นต์ เป็นสารกำจัดแมลงกลุ่มออร์กาโนคลอรีน กลุ่มคาร์บาเมท และสารกำจัดวัชพืชกลุ่มไทรอาซีน ปริมาณ <0.01-0.02, 0.06 และ 0.03 มิลิกรัมต่อกิโลกรัม ตามลำดับ ตัวอย่างสัตว์น้ำ 15 ตัวอย่าง ตรวจพบสารพิษ 12 ตัวอย่าง คิดเป็น 80 เปอร์เซ็นต์ เป็นสารกำจัดแมลงกลุ่มออร์กาโนคลอรีน กลุ่มออร์กาโนฟอสฟอรัส กลุ่มไพรีทอยด์ และสารกำจัดวัชพืชกลุ่มไทรอาซีนปริมาณ <0.01-0.11, 0.02-0.03, 0.01-0.09 และ 0.09 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตามลำดับ