12-08-2015, 11:22 AM
ศึกษาผลกระทบจากการใช้วัตถุมีพิษการเกษตร cypermethrin ในแปลงปลูกคะน้าต่อสัตว์น้ำ พืชน้ำ ดิน น้ำ และตะกอน
ภิญญา จุลินทร, วรวิทย์ สุจิรธรรม และสิริพร เหลืองสุชนกุล
กลุ่มวิจัยวัตถุมีพิษการเกษตร สำนักวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร
ภิญญา จุลินทร, วรวิทย์ สุจิรธรรม และสิริพร เหลืองสุชนกุล
กลุ่มวิจัยวัตถุมีพิษการเกษตร สำนักวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร
การศึกษาเพื่อประเมินความเสี่ยงภัยจากการใช้ cypermethrin ในแหล่งปลูกคะน้า ทำการศึกษาที่ตำบลบางตาเณร อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ในฤดูปลูกตั้งแต่เดือนมกราคม - มีนาคม 2553 ฉีดพ่น cypermethrin สูตร 35% EC อัตรา 17 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ทุกๆ สัปดาห์ รวม 4 ครั้ง ซึ่งเป็นอัตราการฉีดพ่นสูงสุดตามที่แนะนำบนฉลากเป็นการศึกษาหาข้อมูลในกรณีที่มีการใช้วัตถุมีพิษชนิดนี้อย่างเต็มที่ (worst case scenario) หลังการฉีดพ่นสารพิษในระยะเก็บผลผลิตไปจำหน่าย ตรวจวิเคราะห์ปริมาณ cypermethrin ในสัตว์น้ำ (ปลาสวายและปลาตะเพียน) พืชน้ำ (ผักกะเฉด) ดิน น้ำ และตะกอน นำผลที่ได้จากการศึกษามาประมวลกับข้อมูลทงพิษวิทยาของ cypermethrin เพื่อประเมินผลกระทบจากการฉีดพ่น cypermethrin ต่อสภาพแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตในแหล่งปลูกคะน้า ผลการศึกษาพบว่า หลังการฉีดพ่น cypermethrin ในแหล่งปลูกคะน้า ตรวจสอบสารพิษในน้ำตั้งแต่วันที่ฉีดพ่นถึง 30 วัน หลังการฉีดพ่นมีปริมาณตั้งแต่ 1.04 - <0.01 ไมโครกรัมต่อลิตร พบสารพิษในดินปริมาณค่อนข้างต่ำ ไม่พบสารพิษในตะกอน ไม่มีปลาตาย แต่ตรวจพบสารพิษในเนื้อปลา 24 ตัวอย่าง คิดเป็น 32.8 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนตัวอย่างทั้งหมด ส่วนใหญ่ปริมาณสารพิษที่พบต่ำ โดยมีปริมาณสารพิษเฉลี่ย 3.03 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และปริมาณสูงสุดที่พบเท่ากับ 0.12 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม พบสารพิษในผักกะเฉดค่อนข้างต่ำเช่นเดียวกัน ยกเว้นหลังการฉีดพ่นสารพิษครั้งที่ 4 หนึ่งวันพบสารพิษ 0.63 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม เมื่อเปรียบเทียบปริมาณสารพิษที่พบกับค่ากำหนด MRL ในผักกินใบชนิดต่างๆ เช่น ผักกาดหอม และผักโขม ที่กำหนดไว้ 2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ผักคะน้า 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม มะเขือเทศและพริก 0.5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม มะเขือยาวและแตงกวา 0.2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม พบว่าปริมาณสารพิษในผักกะเฉดหลังการฉีดพ่น cypermethrin หนึ่งวัน อาจเสี่ยงต่อการบริโภค อย่างไรก็ตามสารพิษสามารถสลายตัวได้หมดภายใน 10 วัน