12-21-2015, 03:06 PM
การประเมินระบบประมูลยางอิเล็กทรอนิกส์ของตลาดกลางยางพารา
สมมาต แสงประดับ, สมจิตต์ ศิขรินมาศ, รณชัย ดาวดวง, เพทาย กาญจนเกษร และอธิวีย์ แดงกนิษฐ์
สำนักงานตลาดกลางยางพาราสุราษฎร์ธานี, สำนักงานตลาดกลางยางพาราสงขลา, สำนักงานตลาดกลางยางพาราบุรีรัมย์ และสำนักงานตลาดกลางยางพารานครศรีธรรมราช สถาบันวิจัยยาง
สมมาต แสงประดับ, สมจิตต์ ศิขรินมาศ, รณชัย ดาวดวง, เพทาย กาญจนเกษร และอธิวีย์ แดงกนิษฐ์
สำนักงานตลาดกลางยางพาราสุราษฎร์ธานี, สำนักงานตลาดกลางยางพาราสงขลา, สำนักงานตลาดกลางยางพาราบุรีรัมย์ และสำนักงานตลาดกลางยางพารานครศรีธรรมราช สถาบันวิจัยยาง
การประเมินผลระบบประมูลยางอิเล็กทรอนิกส์ของตลาดกลางยางพารามีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระบบการประมูลยางอิเล็กทรอนิคส์รูปแบบต่างๆ ประเมินผลศักยภาพของตลาดกลางในด้านพื้นที่ให้บริการ อุปกรณ์ เจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการและเทคโนโลยีของระบบประมูลอิเล็กทรอนิคส์ของตลาดกลางยางพารา ข้อจำกัด และความต้องการของผู้ที่เกี่ยวข้อง รวบรวมข้อมูลโดยใช้จากแบบสอบถามสัมภาษณ์ผู้ประมูลในตลาดกลางยางพาราในภาคใต้ ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและเจ้าหน้าที่ ทั้งหมด 38 ราย และข้อมูลทุติยภูมิจากสถิติผลการประมูลจากตลาดกลางในภาคดังกล่าวการศึกษาใช้วิเคราะห์เชิงปริมาณ หาค่าเฉลี่ย ร้อยละ อัตราการกระจุกตัวของปริมาณยาง การส่งผ่านราคาระหว่างตลาด โดยแบบจำลองของ Engel and Granger และการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพบรรยายสภาพทั่วไปของระบบตลาดกลางเปรียบเทียบระบบประมูลตลาดกลางในต่างประเทศกับตลาดกลางยางพาราของไทย
ผลการศึกษาพบว่า ระบบประมูลอิเล็กทรอนิคส์ที่ใช้ประมูลยางในตลาดกลางอินเดียเหมาะสมกับการซื้อ-ขายปริมาณยางน้อย โดยมีการแยกสถานที่ประมูลออกจากสถานที่ส่งมอบสินค้า ส่วนระบบประมูลทางไกลตลาดไม้ดอกของเนเธอร์แลนด์กับตลาดกลางค้าส่งญี่ปุ่นสามารถประมูลสินค้าจำนวนมากได้แต่ต้องนำสินค้าเข้าตลาดกลาง เปรียบเทียบกับการประมูลตลาดกลางอิเล็กทรอนิคส์ของตลาดกลางยางพาราของไทยที่มีการประมูลใน 3 ตลาดกลางในภาคใต้สามารถประมูลสินค้ายางได้จำนวนมาก และสะดวกต่อผู้ซื้อยางทุกภูมิภาคที่เข้าใช้บริการตลาดกลางยางพารา ผลการศึกษาโครงสร้างอัตราการกระจุกตัวของตลาดกลางพบว่า โครงสร้างตลาดเป็นลักษณะผู้ซื้อน้อยรายแต่ระบบประมูลทำให้ระบบราคามีการแข่งขัน เมื่อพิจารณาการส่งผ่านราคายางของ 3 ตลาดในภาคใต้ราคามีความเชื่อมโยงและมีอิทธิพลต่อตลาดกลางที่อยู่ใกล้กันมากกว่าตลาดที่ตั้งห่างไกลออกไป
สภาพทั่วไปของผู้ประมูลในภาคใต้เป็นผู้ส่งออกยางมากกว่าตัวแทนประมูลและเป็นธุรกิจยางแผ่นรมควันซึ่งมีการเข้าใช้บริการมากเดือนละ 16 - 21 ครั้ง ข้อจำกัดในการเข้าสู่ตลาดคือ เงินหมุนเวียนและการจัดการส่งสินค้าแต่ส่วนใหญ่ไม่มีข้อจำกัด ทำให้ผู้ประมูลไม่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนราคาตามเงื่อนไขต่างๆ ส่วนผู้เข้าประมูลในภาคตะวันออกเฉียงเหนือใช้ตัวแทนเข้าประมูลมีข้อจำกัดในการเข้าประมูลในตลาดกลางคือ ด้านระยะทางกับเงินทุน ทำให้ผู้ประมูลต้องปรับเปลี่ยนราคาตามเงื่อนไขต่างๆ โครงสร้างตลาดของผู้ซื้อระดับโรงงานเป็นตลาดผู้ซื้อน้อยรายจึงนำกลยุทธ์ 3P เว้นแต่ด้านราคามาใช้
การประเมินค่าเฉลี่ยศักยภาพของระบบประมูลอิเล็กทรอนิคส์พบว่า ศักยภาพในด้านการใช้ระบบประมูลอิเล็กทรอนิคส์ของตลาดกลางของผู้ประมูลในภาคใต้มีศักยภาพด้านพื้นที่สูงกว่าผู้ประมูลภาคตะวันออก ส่วนศักยภาพด้านเจ้าหน้าที่ อุปกรณ์ ระบบเทคโนโลยีและศักยภาพด้านนโยบายของผู้ประมูลภาคตะวันออกสูงกว่าภาคใต้ ผลการประเมินในรายตัวชี้วัดในภาพรวมทั้ง 2 ภาคที่มีการใช้ระบบประมูลอิเล็กทรอนิคส์แล้วมีค่าอยู่ในระดับสูงทุกตัวชี้วัด