ประวัติความเป็นมา
สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 8 |
ตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาการแบ่งท้องที่ของกรมวิชาการเกษตร
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ออกเป็นเขต พ.ศ.2535 ได้ประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา
เล่มที่ 109 ตอนที่ 104 วันที่ 30 กันยายน 2535
พร้อมกับการยุบเลิกสถาบันวิจัยการทำฟาร์ม ซึ่งก่อตั้งขึ้นระหว่างปี พ.ศ.
2525-2535 ตามเงื่อนไขของธนาคารโลกในการปรับโครงสร้างและพัฒนาบุคลากร
กรมวิชาการเกษตร โดยในเบื้องต้น สวพ.8
มีภารกิจหลักในการทดสอบและปรับใช้เทคโนโลยี ให้เหมาะสมกับเงื่อนไข
และประเด็นปัญหาของเกษตรกรในแต่ละท้องถิ่นในเขตพื้นที่รับผิดชอบ
ก่อนจะส่งผ่านเทคโนโลยีไปยังกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง
ปี พ.ศ.2546 มีการปรับโครงสร้างสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรอีกครั้ง โดยให้ศูนย์วิจัย / สถานีทดลอง ซึ่งเดิมเคยเป็นหน่วยงานสังกัด/สถาบันวิจัย มาเป็นหน่วยงานขึ้นตรงกับสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร นอกจากนี้ภายใต้โครงการความปลอดภัยอาหารด้านพืช ซึ่งถือเป็นวาระแห่งชาติตามนโยบายของรัฐบาล ทำให้สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร มีภารกิจด้านการให้บริการทางวิชาการเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก พืชเศรษฐกิจที่สำคัญ พื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง สามารถแบ่งเขตการปลูกพืชออกเป็น 4 เขตใหญ่ๆ ดังนี้ 1. เขตพื้นที่ปลูกยางพารา จะกระจายอยู่ในทุกจังหวัดของภาคใต้ตอนล่าง แต่พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตจังหวัดสงขลา จังหวัดตรัง และจังหวัดพัทลุง 2. เขตพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน พื้นที่ส่วนใหญ่จะอยู่ในจังหวัดสตูล และจังหวัดตรัง 3. เขตพื้นที่ปลูกข้าว พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดพัทลุง จังหวัดสงขลา และจังหวัดตรัง 4. เขตพื้นที่ปลูกไม้ผลและไม้ยืนต้น ส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่จังหวัดยะลา จังหวัดปัตตานี และจังหวันราธิวาส ไม้ผลและไม้ยืนต้นที่เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ทุเรียน ลองกอง และมังคุด สภาพนิวเวศน์เกษตรในเขตภาคใต้ตอนล่าง ภาคใต้ตอนล่างประกอบด้วย 7 จังหวัด คือ ตรัง สตูล พัทลุ สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส มีพื้นที่รวมทั้งสิ้นประมาณ 18.2 ล้านไร่ ลักษณะภูมิประเทศประกอบด้วย เทือกเขาเป็นสันอยู่ตอนกลางของภาค ซึ่งทางตอนบนมีเทือกเขานครศรีธรรมราช ทอดยาวจากจังหวัดนครศรีธรรมราช ผ่านจังหวัดตรัง พัทลุง ไปถึงจังหวัดสตูล ด้านล่างของภาคของภาคจะมีเทือกเขาสันกาลาคีรีทอดยาวในแนวตะวันออกสู่ตะวันตกกั้นพรมแดนไทยกับมาเลเชีย และสภาพพื้นที่จะลาดลงสู่ทะเลาทั้ง 2 ด้าน ทางด้านตะวันออกลงสู่ทะเลฝั่งอ่าวไทย ส่วนทางด้านตะวันตกจะลาดลงสู่ฝั่งทะเลอันดามัน ลักษณะที่รางทางฝั่งอ่าวไทย จะเป็นที่ราบกว้างฝั่งอันดามัน ภูมิอากาศเป็นร้อนชื้น ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมทั้ง 2 ด้าน คือ ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ฤดูฝนเริ่มตั้งแต่พฤษภาคมไปจนถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ และช่วงฤดูร้อนตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน ประมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่อปีอยู่ระหว่าง 1,500 – 2,500 มิลลิเมตรต่อปี สภาพดินในเขตภาคใต้ตอนล่างสามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มดินที่เหมาะสมต่อการปลูกข้าว ลักษณะดินค่อนข้างเหนียวถึงเหนียวจัด อนุภาคดินละเอียดการระบายน้ำไม่ค่อยดี ส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณที่ราบลุ่มทะเลสงขลา ซึ่งเป็นพื้นที่ผลิตข้าวมากที่สุดในภูมิภาคนี้ อีกบริเวณคือ ที่ราบลุ่มในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส และบริเวณตอนกลางของจังหวัดตรัง 2. กลุ่มดินที่เหมาะสมในการปลูกไม้ผลไม้ยืนต้น ดินจะมีความหยาบมากขึ้น หน้าดินลึกมากกว่า 70 เซนติเมตร ดินข้างล่างเป็นลูกรัง มีการระบายน้ำดี บริเวณที่มีดินลักษณะนี้คือ ทางด้านทิศตะวันตกของจังหวัดพัทลุง สงขลา และทางด้านทิศตะวันออกของจังหวัดตรังและสตูล นอกจากนี้ก็จะพบบริเวณเทือกเขาสันกาลาคีรี แถบจังหวัดยะลา นราธิวาส ซึ่งเป็นแหล่งผลิตไม้ผลที่สำคัญ 3. กลุ่มดินที่ไม่เหมาะสำหรับทำการเกษตร ได้แก่พื้นที่มีความลาดชัดมาก ดินเลน ดินทราย ดินเปรี้ยว ดินพรุ บริเวณพื้นที่พรุ ที่สำคัญในภาคใต้ตอนล่างได้แก่ พรุสิรินทร พรุบาเจาะ ในจังหวัดนราธิวาส พรุควนเคร็ง ทางตอนเหนือของจังหวัดพัทลุง และพรุแฆแฆ จังหวัดปัตตานี แหล่งน้ำที่สำคัญมีทั้ง แห่งน้ำธรรมชาติ ได้แก่ แม่น้ำตรัง แม่น้ำประเหลียน แม่น้ำปัตตานี แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำบางนรา แม่น้ำโก-ลก และแหล่งน้ำชลประทาน ซึ่งมีโครงการขนาดใหญ่ ขนาดกลางและขนาดเล็ก มากกว่า 600 โครงการ เป็นพื้นที่ได้รับประโยชน์ 1.9 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 22 ของพื้นทีทั้งหมด สำหรับพื้นที่ป่าไม้ มีประมาณ 4.48 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 26 ของพื้นที่ทั้งหมด โดยจังหวัดสตูลและจังหวัดนราธิวาส มีพื้นที่ป่าไม้มากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 47 และ 41 ของพื้นที่จังหวัดตามลำดับ การใช้ที่ดินในการทำการเกษตรนั้น ส่วนใหญ่จะทำการปลูกไม้ผลไม่ยืนต้นมากกว่าพืชอื่นๆ เนื่องจากสภาพพื้นที่ที่มีความลาดชัน และพื้นที่ราบสลับกันแต่มีลักษณะเนินเขามากกว่าที่ราบ จึงมีสภาพเหมาะสมกับ การปลูกไม้ผลไม้ยืนต้น และมีการปลูกยางพารามากที่สุดคือ 6.54 ล้านไร่ รองลงมาคือการปลูกข้าว มีพื้นที่ทั้งสิ้น 1.4 ล้านไร่ (ปี 2546) และพื้นที่ปลูกไม้ผล ปาล์มน้ำมัน มะพร้าว รวมกันประมาณ 7.7 แสนไร่ จังหวัดที่มีการปลูกพืชเศรษฐกิจมากที่สุด มีดังนี้ ยางพารา จังหวัดสงขลา มีพื้นที่ปลูกมากที่สุดประมาณ 1.8 ล้านไร่ จากข้อมูลทางสถิติ ปี 46/47 ข้าว มีพื้นที่ปลูกมากที่สุดในจังหวัดพัทลุง ประมาณ 447,561 ไร่ จากข้อมูลทางสถิตปี 2548 มีพื้นที่ปลูกไม้ผล เช่น ลองกอง จังหวัดนราธิวาสมีพื้นที่ปลูกมากที่สุด ประมาณ 79,960 ไร่ ทุเรียน จังหวัดยะลาปลูกมากที่สุดถึง 41,193 ไร่ เงาะและมังคุด ปลูกมากที่สุดในจังหวัดนราธิวาส พื้นที่ 37,677 ไร่ และ 27,240 ไร่ตามลำดับ เป็นที่สังเกตว่าไม้ผลจะปลูกมากในเขตจังหวัด ที่มีสภาพภูมิประเทศเป็นเนินเขา โดยเฉพาะทางตอนใต้ของภูมิภาค สำหรับปาล์มน้ำมัน จังหวัดสตูล มีพื้นที่ปลูกมากที่สุด ประมาณ 84,005 ไร่ รองลงมาคือจังหวัดตรัง มะพร้าวเป็นพืชเศรษฐกิจที่นิยมปลูกกันมากในจังหวัดปัตตานี และนราธิวาส มีพื้นที่ปลูกรวมกัน 2 จังหวัดประมาณ 137,911 ไร่ สภาพทางด้านเศรษฐกิจและสังคมในเขตภาคใต้ตอนล่าง นั้น มีประชากรรวมกัน 4,540,455 ล้านคน โดยแบ่งเป็นชาย และหญิงเกือบร้อยละ 50 เท่ากัน สมาชิกในครัวเรือนประมาณ 4 คนต่อครอบครัว จังหวัดสงขลามีประชากรมากที่สุดประมาณ 1.33 ล้านคน จังหวัดที่มีประชากรน้อยที่สุด คือ จังหวัดสตูล 283,127 คน รายได้เฉลี่ยประชากร 45,539 บาทต่อปี จังหวัดที่มีรายได้มากที่สุด คือ จังหวัดสงขลา 65,706 บาทต่อไป รองลงมา คือ จังหวัดสตูล 51,436 บาทต่อปี และต่ำสุด คือ จังหวัดนราธิวาส 32,998 บาทต่อปี ประชากรในเขตภาคใต้ตอนล่าง นับถือศาสนาพุทธ อิสลาม เป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะใน 3 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง มีประชากรที่นับถือศาสนาอิสลามเป็นส่วนมาก ปัญหาด้านกายภาพ ในเขตภาคใต้ตอนล่างที่สำคัญ คือ ปัญหาภัยธรรมชาติ เนื่องจากภาคใต้ตอนล่าง มีฝั่งทะเลทั้ง 2 ด้าน ทำให้ได้รับลมมรสุมตลอดปี มีฝนตกชุก ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมในฤดูฝน ในพื้นที่ราบลุ่ม และในพื้นที่ลาดชัน มีปัญหาการชะล้างของหน้าดินค่อนข้างสูง นอกจากนี้ก็มีปัญหา สภาพดินมีปัญหาความอุดมสมบูรณ์ค่อนข้างต่ำ ในบ้างพื้นที่เช่น พื้นที่ดินพรุ ดินเปรี้ยว พื้นที่เหล่านี้เมื่อพัฒนามาเป็นพื้นที่เพาะปลูกพื้นเศรษฐกิจ ทำให้ต้องมีการลงทุน ด้านการจัดการดินและพื้นที่ค่อนข้างสูง และการใช้ที่ดินไม่เหมาะสมในการผลิตพืช เช่น การปลูกยางในสภาพพื้นที่นา ที่ลุ่ม พื้นที่เหมาะสมปลูกไม้ผล แต่ทำการปลูกยางพารา ปาล์มน้ำมัน เป็นต้น ปัญหาด้านการผลิตพืชเศรษฐกิจทางภาคใต้ตอนล่างนั้น การผลิตยางพารา ได้แก่ ผลผลิตต่ำ เนื่องจากเกษตรกรขาดการดูแลรักษาที่เหมาะสม ต้นทุนสูงขึ้น โดยเฉพาะปุ๋ยเคมี เกษตรกรจึงไม่มีการใส่ปุ๋ย หรือมีการใส่บ้างแต่น้อยลง ปัญหาด้านแรงงานกรีด และราคาที่ไม่สม่ำเสมอ ด้านการผลิตไม้ผล เกษตรกรจะประสบปัญหาเรื่อง โรคแมลงและผลผลิตตกต่ำซึ่งเป็นปัญหาหลัก นอกจากนี้ก็มีปัญหาด้านการขาดความรู้ เทคโนโลยีการดูแลรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม สำหรับด้านผลิตข้าวเกษตรกรจะประสบปัญหาเรื่องภัยธรรมชาติ น้ำท่วมเกือบทุกปี เกษตรกรขาดการดูแลรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม ต้นทุนการผลิตสูง โดยเฉพาะปุ๋ยเคมีที่มีราคาสูงขึ้น และปัญหาการระบาดของแมลงและศัตรูข้าว โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างนี้ประสบกับปัญหาที่สำคัญคือ การทำลายของศัตรูข้าวที่สำคัญคือ “หนูนา” ทำให้ได้ผลผลิตต่ำ ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจและสังคมก็เป็นปัญหาที่สำคัญในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะปัญหารายได้ของเกษตรกรการเกษตร ที่ค่อนข้างต่ำไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ทำให้เกษตรกรละทิ้งพื้นที่ไปทำอาชีพอื่น หรือแบ่งเวลาไปทำอาชีพเสริม ทำให้การทำเกษตรได้ไม่เต็มที่ ปัญหาทางสังคมในเขต 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ตอนล่าง ก็เป็นเหตุให้การพัฒนาในทุกๆด้าน ไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร ประชากรในเขตภาคใต้ตอนล่างส่วนใหญ่ก็ยังคงทำอาชีพทางการเกษตร ดังนั้น การเกษตรสามารถมีทางเลือกในการผลิตพืชที่เหมาะสมยิ่งขึ้น ก็จะเป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มรายได้ เพิ่มความมั่นคง ยั่งยืน และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ให้แก่เกษตรกรในเขตภาคใต้ตอนล่างต่อไป |