กระท่อม ตอนที่ 10 : การขอรับรองมาตรฐานพืชกระท่อม
กระท่อมสามารถขอการรับรองได้ทั้งมาตรฐาน GAP และ ORGANIC THAILAND โดยขอรับรองได้ตามมาตรฐานพืชอาหาร หรือตามมาตรฐานพืชสมุนไพร
คุณสมบัติของเกษตรกร :
1. เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์หรือมีสิทธิใช้ประโยชน์ในพื้นที่การผลิต หรือได้รับสิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดินจากหน่วยงานราชการ
2. เป็นผู้ที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนราษฎร์กรมการปกครองกระทรวงมหาดไทย
3. เป็นผู้สมัครใจขอรับการรับรอง และยินดีที่จะปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการรับรองแหล่งผลิต GAP พืช ที่กรมวิชาการเกษตรกำหนด
4. ไม่เป็นผู้ถูกเพิกถอนใบรับรองจากกรมวิชาการเกษตร หรือหน่วยรับรองใดๆ ที่มีมาตรฐานเทียบเท่าของกรมวิชาการเกษตร เว้นแต่พ้นระยะเวลา 1 ปี นับจากวันที่ถูกเพิกถอนใบรับรอง
คุณสมบัติของนิติบุคคล :
1. เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์หรือมีสิทธิใช้ประโยชน์ในพื้นที่การผลิต หรือได้รับสิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดินจากหน่วยงานราชการ
2. เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไทย
3. เป็นนิติบุคคลที่สมัครใจขอรับการรับรอง และยินดีที่จะปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการรับรองแหล่งผลิต GAP พืช ที่กรมวิชาการเกษตรกำหนด
4. ไม่เป็นผู้ถูกเพิกถอนใบรับรองจากกรมวิชาการเกษตร หรือหน่วยรับรองใดๆ ที่มีมาตรฐานเทียบเท่าของกรมวิชาการเกษตร เว้นแต่พ้นระยะเวลา 1 ปี นับจากวันที่ถูกเพิกถอนใบรับรอง
คุณสมบัติของกลุ่มเกษตรกร :
1. สมาชิกของกลุ่มเกษตรกรเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์หรือมีสิทธิใช้ประโยชน์ในพื้นที่การผลิต หรือได้รับสิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดินจากหน่วยงานราชการ
2. เป็นกลุ่มเกษตรกรที่มีสมาชิกตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป และยื่นขอรับรองพืชชนิดเดียวกัน
3. กลุ่มอาจดำเนินการโดยสมาชิกที่รวมกลุ่มกันเพื่อทำการเพาะปลูกหรือดำเนินการโดยนิติบุคคล (Juristic Person) หรือองค์กรอิสระ ซึ่งรับผิดชอบกลุ่มเกษตรกร/เกษตรกรโดยเป็นผู้รับซื้อ จัดจำหน่าย หรือส่งออกผลิตผลทางการเกษตร ของกลุ่มเกษตรกร/เกษตรกรที่ทำการผลิตให้
4. เป็นกลุ่มที่สมัครใจขอรับการรับรอง และยินดีที่จะปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการรับรองแหล่งผลิต GAP พืช ที่กรมวิชาการเกษตรกำหนด
5. ไม่เป็นกลุ่มเกษตรกรหรือองค์กรที่ถูกเพิกถอนใบรับรองจากกรมวิชาการเกษตรหรือหน่วยรับรองใดๆ ที่มีมาตรฐานเทียบเท่าของกรมวิชาการเกษตร เว้นแต่พ้นระยะเวลา 1 ปี นับจากวันที่ถูกเพิกถอนใบรับรอง
การยื่นขอรับรองแหล่งผลิต GAP พืช :
เกษตรกร นิติบุคคล หรือกลุ่มเกษตรกรที่มีความพร้อมในการรับการตรวจประเมินการปฏิบัติทาง การเกษตรที่ดีสำหรับพืช และมีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข การรับรองแหล่งผลิต GAP พืช ยื่นคำขอต่อเจ้าหน้าที่สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร (สวพ.) หรือ เจ้าหน้าที่หน่วยงานศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจังหวัด (ศวพ.) หรือติดต่อสำนักงานเกษตรอำเภอ
เอกสารประกอบการยื่นขอการรับรองแหล่งผลิต GAP พืช ประกอบด้วย :
1. แบบคำขอใบรับรองแหล่งผลิต GAP พืช
2. สำเนาบัตรประชาชน และทะเบียนบ้านของเกษตรกร
3. หลักฐานการจดทะเบียนนิติบุคคล (กรณีนิติบุคคล)
4. กรณีมอบอำนาจ แนบหนังสือมอบอำนาจ พร้อมสำเนาบัตรประชาชนของผู้มอบอำนาจ
5. แนบสำเนาเอกสารสิทธิ์การใช้ประโยชน์ที่ดิน
กรณีชื่อผู้ขอการรับรอง ไม่ใช่เจ้าของเอกสารสิทธิ์ที่ดิน : ให้แนบหนังสือยินยอมให้ใช้ประโยชน์ที่ดิน พร้อมแนบสำเนาบัตรประชาชนเจ้าของเอกสารสิทธิ์ที่ดิน
กรณีที่ดินนั้นเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์/กรณีที่มีหน่วยงานรัฐดูแล : ให้แนบหนังสือรับรองการใช้ประโยชน์ที่ดิน ลงนามโดยหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ เช่น เอกสารรับรองจากจังหวัด อำเภอ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น พร้อมแนบสำเนาบัตรประจำตัวข้าราชการของผู้ลงนาม
หลักการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชอาหาร มกษ.9001-2564 :
1. น้ำ น้ำที่ใช้ในการผลิตมาจากเเหล่งที่ไม่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนในอาหาร และไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และมีวิธีการจัดการเพื่อให้ได้ผลิตผลที่ปลอดภัยและมีคุณภาพ
2. พื้นที่ปลูก เลือกพื้นที่ปลูกที่ไม่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนในอาหารและไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและมีวิธีจัดการพื้นที่ปลูกให้เหมาะสม สะดวกต่อการปฏิบัติงานเพื่อให้ได้ผลิตผลที่ปลอดภัยและมีคุณภาพ
3. วัตถุอันตรายทางการเกษตร การใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตร ต้องมีวิธีการใช้ที่ถูกต้องเพื่อให้มั่นใจว่าผลิตผลที่ได้มีความปลอดภัย และไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงานรวมถึงสิ่งแวดล้อม
4. การจัดการกระบวนการผลิตก่อนการเก็บเกี่ยว มีการจัดการที่ดีในพื้นที่ปลูก รวมถึงปัจจัยการผลิต เครื่องมือและอุปกรณ์ และการกำจัดของเสียเพื่อให้การปฏิบัติงานภายในเเปลงปลูกมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ได้ผลิตผลที่ปลอดภัยและมีคุณภาพเหมาะสมกับการบริโภค ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ ความปลอดภัย และสวัสดิภาพผู้ปฏิบัติงาน
5. การเก็บเกี่ยวและการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว มีวิธีการเก็บเกี่ยวและการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม เพื่อให้ได้ผลิตผลที่ปลอดภัยและมีคุณภาพเหมาะสมกับการบริโภค และไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
6. การพักผลิตผล การขนย้าย และการเก็บรักษา มีการจัดการ การพักผลิตผล การขนย้าย และการเก็บรักษาที่เหมาะสม เพื่อให้ได้ผลิตผลที่ปลอดภัยและมีคุณภาพเหมาะสมกับการบริโภค
7. บุคลากร ผู้ปฏิบัติงานมีความรู้ความเข้าใจด้านการผลิตและสุขลักษณะที่ดี เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อผลิตผลและผู้ปฏิบัติงาน รวมถึงมีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อสวัสดิภาพของผู้ปฏิบัติงาน
8. เอกสาร บันทึกข้อมูล และการตามสอบ มีการบันทึกและการเก็บรักษาบันทึกข้อมูลต่างๆที่สำคัญ ในทุกขั้นตอนการผลิต เพื่อใช้เป็นแนวทางการปรับปรุงและพัฒนาการผลิต รวมถึงมีเอกสารหลักฐานที่ใช้ในการตามสอบได้
หลักการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชสมุนไพร มกษ.3502-2561 :
1. น้ำ น้ำที่ใช้ในเเปลงปลูก ต้องมาจากเเหล่งน้ำที่ไม่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ก่อให้เกิดการปนเปื้อนในผลิตผล น้ำที่ใช้ในการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว ต้องสะอาด มีคุณภาพมาตรฐาน
2. พื้นที่ปลูก ไม่อยู่ในสภาพแวดล้อมซึ่งก่อให้เกิดการปนเปื้อนในผลิตผล และพื้นที่ที่ใช้ในการเพาะปลูกต้องเป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
3. วัตถุอันตรายทางการเกษตร หากมีการใช้ ให้ใช้ตามคำแนะนำ หรืออ้างอิงคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร ผู้ปฏิบัติงาน ต้องมีความรู้ในการใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตรที่ถูกต้องและมีอุปกรณ์ในการป้องกันอันตรายจากสารพิษ
4. การจัดการคุณภาพในกระบวนการผลิตก่อนการเก็บเกี่ยว เมล็ดพันธ์ุ หรือส่วนขยายพันธุ์ตรงตามพันธุ์/ชนิด ใช้วิธีการปลูกและการดูเเลรักษาที่เหมาะสม ตามชนิดของพืชสมุนไพรโดยคำนึงถึงการผลิตสารสำคัญ มีวิธีการให้น้ำที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม และความต้องการของพืชสมุนไพร โดยคำนึงถึงการผลิตสารที่สำคัญ
5. การเก็บเกี่ยวและการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว เก็บเกี่ยวพืชสมุนไพรเเต่ละชนิดในระยะเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงปริมาณสารสำคัญ เก็บเกี่ยวด้วยวิธีการที่เหมาะสมและถูกสุขลักษณะขึ้นอยู่กับชนิดของพืชสมุนไพร มีการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว และ/หรือลดความชื้นที่เหมาะสมและถูกสุขลักษณะ
6. การเก็บรักษา และการขนย้าย สถานที่เก็บพืชสมุนไพรต้องถูกสุขลักษณะ สามารถป้องกันความชื้นจากภายนอกและการปนเปื้อนจากวัตถุอันตรายและสัตว์พาหะนำโรคได้ ภาชนะบรรจุต้องสะอาด ปราศจากสิ่งที่เป็นอันตรายและกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ รวมทั้งสามารถป้องกันแสงหรือพรางเเสงได้ มีมาตรการป้องกัน ไม่ให้พืชสมุนไพร มีความชื้นเพิ่มขึ้นระหว่างการขนย้าย
7. สุขลักษณะส่วนบุคคล ผู้ปฏิบัติงานมีความรู้ความเข้าใจ หรือได้รับการฝึกอบรมด้านสุขลักษณะส่วนบุคคล มีสิ่งอำนวยความสะดวกด้านสุขลักษณะส่วนบุคคลที่เพียงพอและอยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน
8. บันทึกข้อมูลและการตามสอบ เอกสารและการบันทึกข้อมูล ได้แก่ การใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตร การปฏิบัติก่อนหรือหลังการเก็บ การฝึกอบรมสุขลักษณะส่วนบุคคลและผลการตรวจสุขภาพ เก็บรักษาบันทึกข้อมูล การปฏิบัติงานและเอกสารสำคัญที่เกี่ยวข้องไว้อย่างน้อย 2 ปี
การรับรองมาตรฐานการผลิตพืชอินทรีย์ :
กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้การรับรองการผลิตพืชอินทรีย์ ตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งจำแนกการรับรองออกเป็น 6 ประเภท คือ การรับรองแหล่งผลิตพืช การคัดบรรจุ การรวบรวม การแปรรูป การจัดจำหน่าย และการนำเข้า โดยให้การรับรองใน 2 รูปแบบ คือ การรับรองแก่ผู้ผลิตรายเดี่ยว และแบบกลุ่ม เช่น กลุ่มเกษตรกรหรือสหกรณ์ เป็นต้น การเข้าสู่ระบบเกษตรอินทรีย์ต้องมีช่วงเวลาปฏิบัติตามมาตรฐานอินทรีย์ก่อน โดยเริ่มนับตั้งแต่ผู้ผลิตได้นำมาตรฐานนี้ไปปฏิบัติแล้ว และสมัครขอการรับรองต่อหน่วยรับรอง เพื่อเข้าสู่ระยะปรับเปลี่ยน โดยพืชล้มลุก มีระยะปรับเปลี่ยนอย่างน้อย 12 เดือน พืชยืนต้นมีระยะปรับเปลี่ยนอย่างน้อย 18 เดือน ซึ่งระยะปรับเปลี่ยนสามารถลดลงได้ แต่ต้องมีหลักฐานแสดงให้หน่วยรับรองเห็นว่าไม่มีการใช้สารเคมีในพื้นที่ที่ขอการรับรองนานเกินกว่า 12 เดือนสำหรับพืชล้มลุก และ 18 เดือนสำหรับพืชยืนต้น หรือพื้นที่รกร้างว่างเปล่า
เอกสารขอการรับรองการผลิตพืชอินทรีย์ :
1. แบบคำขอรับรองการผลิตพืชอินทรีย์
2. แสดงบัตรประจำตัวประชาชน
3. สำเนาทะเบียนบ้าน 1 ฉบับ
4. สำเนาเอกสารสิทธิ์การใช้ที่ดิน
ข้อกำหนดการตรวจรับรองแหล่งผลิตพืชอินทรีย์ :
1. พื้นที่ปลูก พื้นที่ปลูกตั้งอยู่ห่างจากแหล่งมลพิษ ไม่มีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนสารเคมี/โลหะหนัก ไม่มีความเสี่ยงต่อน้ำท่วมซ้ำซาก แหล่งน้ำที่ใช้ไม่มีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนจุลินทรีย์ก่อโรค และมีมาตรการป้องกันการปนเปื้อน
2. การวางแผนการจัดการ จัดทำแนวกันชน คันดิน หรือร่องระบายน้ำ เพื่อป้องกันการปนเปื้อนทั้งทางดิน น้ำ อากาศ และเครื่องมือทางการเกษตร มีการวางแผนระบบการผลิต ปลูกพืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และฤดูกาลผลิต จัดการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดและยั่งยืน ป้องกันและหลีกเลี่ยงการปฏิบัติที่ทำให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ไม่เผาขยะ เศษซากพืชหรือวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร และไม่ใช้สารสังเคราะห์ในกระบวนการผลิตพืช
3. เมล็ดพันธุ์และส่วนที่ใช้ขยายพันธุ์ เมล็ดพันธุ์หรือส่วนที่ใช้ขยายพันธุ์มาจากระบบการผลิตพืชอินทรีย์ และไม่ใช้พันธุ์พืชที่ได้จากเทคนิคการดัดแปรพันธุกรรม หรือผ่านการฉายรังสี หากเมล็ดพันธุ์หรือส่วนที่ใช้ขยายพันธุ์มาจากแหล่งทั่วไป ต้องมีวิธีการกำจัดสารเคมีออกอย่างเหมาะสมก่อนนำมาเพาะปลูก หรือเลือกใช้ที่ไม่ผ่านการใช้สารเคมี
4. การจัดการและการปรับปรุงบำรุงดิน ปรับปรุงบำรุงดินให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของพืช โดยการปลูกพืชหมุนเวียน หรือใส่ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก หรือใช้วัสดุปรับปรุงบำรุงดินที่มาตรฐานกำหนดหรือได้รับการยอมรับจากหน่วยรับรอง มีมาตรการป้องกันและการปฏิบัติเพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน มีการวิเคราะห์ธาตุอาหารในดิน เพื่อเป็นข้อมูลในการปรับปรุงดิน และมีการพัฒนาระบบการผลิตไปสู่แนวทางเกษตรผสมผสานที่มีความหลากหลายทั้งพืชและสัตว์ เพื่อนำวัสดุเหลือใช้มาหมุนเวียนใช้ประโยชน์ในการผลิต
5. การจัดการศัตรูพืช ควบคุมศัตรูพืชก่อนปลูกและในระยะที่พืชเจริญเติบโต ด้วยวิธีเขตกรรม วิธีกล ชีววิธี และพืชสมุนไพรแบบผสมผสาน หรือใช้สารที่มาตรฐานกำหนดหรือได้รับการยอมรับจากหน่วยรับรอง มีสถานที่เก็บและเก็บรักษาวัสดุอุปกรณ์อย่างเรียบร้อย
6. การเก็บเกี่ยวและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว ใช้อุปกรณ์ เครื่องมือ และภาชนะที่สะอาด ปราศจากการปนเปื้อนสารพิษ วัตถุอันตราย และพาหะนำโรค ผู้ปฏิบัติงานมีความรู้ความเข้าใจในการเก็บเกี่ยว และปฏิบัติได้อย่างถูกต้องตามหลักเกษตรอินทรีย์ ไม่ใช้เครื่องมือและวัสดุอุปกรณ์หลังการเก็บเกี่ยวผลิตผลพืชอินทรีย์ร่วมกับผลิตผลพืชทั่วไป สถานที่ปฏิบัติงานหลังการเก็บเกี่ยวถูกสุขลักษณะ น้ำที่ใช้ในกระบวนการหลังการเก็บเกี่ยวมาจากแหล่งที่ไม่เสี่ยงต่อการปนเปื้อน และมีการจัดการของเสียอย่างเหมาะสม
7. การบรรจุหีบห่อ การเก็บรักษาและการขนส่ง สถานที่บรรจุ หีบห่อ อุปกรณ์และภาชนะที่ใช้บรรจุหีบห่อ เก็บรักษาและขนส่งผลิตผลพืชอินทรีย์ไม่เสี่ยงต่อการปนเปื้อนที่ทำให้สูญเสียความเป็นอินทรีย์ และมีการชี้บ่งที่แสดงถึงการแยกผลิตผลพืชอินทรีย์ออกจากผลิตผลพืชทั่วไปอย่างชัดเจน
8. การแสดงฉลากและการกล่าวอ้าง การแสดงฉลากมีรายละเอียดตามที่มาตรฐานกำหนด ชัดเจน ไม่เป็นเท็จและหลอกลวง เครื่องหมายรับรองต้องมีขนาดที่เหมาะสม มองเห็นชัดเจน มีลักษณะ รูปทรง สัดส่วน และสีตรงตามหลักเกณฑ์ที่กรมวิชาการเกษตรกำหนด มีการกล่าวอ้างว่าเป็นผลิตผลจากการผลิตแบบอินทรีย์เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของหน่วยรับรอง
9. การบันทึกข้อมูลการผลิตและการทวนสอบ จัดทำแผนการผลิต จดบันทึกการปฏิบัติงานและข้อมูลการผลิตภายในฟาร์มอย่างต่อเนื่องและเป็นปัจจุบัน มีบันทึกหลักฐานและเอกสารที่สามารถตามสอบย้อนกลับสู่แหล่งผลิตพืชอินทรีย์ได้ จัดเก็บบันทึกและเอกสารการผลิตไว้ตรวจสอบอย่างน้อย 1 รอบการรับรอง