สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8

กระท่อม ตอนที่ 4 : สภาพพื้นที่ปลูก และ การเจริญเติบโต

กระท่อมสามารถขึ้นได้ในหลายสภาพพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีน้ำท่วมขังในช่วงสั้นๆ พื้นที่ลุ่ม และพื้นที่ดอน แต่ข้อกำหนดสำคัญในการเลือกพื้นที่ปลูกจะต้องเป็นพื้นที่ที่ไม่มีการสะสมของโลหะหนัก เช่น สารตะกั่ว แคดเมียม สารหนู ปรอท เป็นต้น ซึ่งมักเกิดจากขยะ น้ำเสียจากโรงงาน หรือเกิดจากวัตถุต้นกำเนิดดินที่มีสารเหล่านี้สะสมอยู่ตามธรรมชาติ

แหล่งน้ำ กระท่อมเป็นพืชที่นำใบมาใช้ประโยชน์ น้ำจึงเป็นปัจจัยที่สำคัญที่จะมีผลต่อการแตกตาใบ และการเจริญเติบโตของใบ การให้น้ำอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้กระท่อมให้ผลผลิตใบได้สูง และสามารถที่จะทำการเก็บเกี่ยวในรอบระยะเวลาที่เร็วขึ้น ข้อกำหนดสำคัญของแหล่งน้ำ คือจะต้องไม่มีการสะสมของโลหะหนัก

สภาพภูมิอากาศ เจริญเติบโตได้ดีในเขตอากาศร้อนชื้น เช่น ภาคใต้ของประเทศไทย ประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ส่วนภาคอื่น ๆ จะมีปัจจัยที่ไม่เอื้ออำนวยเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น ความแห้งแล้ง และ อากาศหนาว

ลักษณะดิน ดินที่กระท่อมเจริญเติบโตได้ดีจะเป็นดินที่มีส่วนผสมของดินร่วนที่มีหน้าดินลึก และกระท่อมสามารถขึ้นได้ดีในดินที่มีส่วนผสมของเนื้อดินทราย เช่น ร่วนปนทราย ร่วนเหนียว เหนียวปนทราย แต่จะเจริญเติบโตได้น้อยลงในพื้นที่ดินเหนียวจัดและขาดน้ำ

ผลการสำรวจสภาพพื้นที่ปลูกกระท่อม พบว่ากระท่อมขึ้นได้ในดินหลายชนิด เช่น ในพื้นที่ที่มีการปลูกกันมาหลายปีในช่วงก่อนการปลดกระท่อมออกจากยาเสพติดที่
– ตำบลน้ำพุ อำเภอบ้านนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี จากข้อมูลกรมพัฒนาที่ดิน พบว่าจะเป็นดินหลายชุดดิน เช่น ชุดคลองนกกระทุง ชุดสงขลา ชุดโคกเคียน ชุดลำแก่น เป็นต้น เนื้อดินบนเป็นดินร่วน ร่วนปนทราย มีความเป็นกรดจัดถึงกรดปานกลาง pH 4.5-6.0 เป็นพื้นที่ที่มีสภาพดินเหมาะสมในการปลูกไม้ผลไม้ยืนต้น
– ตำบลชัยบุรี อำเภอชัยบุรี จังหวัดสุราษฎร์ธานี จากข้อมูลกรมพัฒนาที่ดิน พบดินชุดปากคม ชุดรือเสาะ เนื้อดินเป็นดินร่วน ร่วนปนทราย ร่วนเหนียว ซึ่งเป็นดินที่เหมาะสมในการปลูกไม้ยืนต้นเช่นกัน
ตำบลทับปริก อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ จากข้อมูลกรมพัฒนาที่ดิน เป็นดินชุดท่าแซะ ชุดลำภูรา เนื้อดินบนเป็นดินร่วน ร่วนปนทราย ร่วนปนเหนียว หรือร่วนเหนียวปนทรายแป้ง มีสีน้ำตาล มีความเป็นกรดจัดถึงกรดปานกลาง pH 4.5-6.0 เป็นพื้นที่ที่มีสภาพดินเหมาะสมในการปลูกไม้ยืนต้น

การเจริญเติบโตของกระท่อมสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 8 สำรวจแปลงปลูกกระท่อมในจังหวัดตรัง พัทลุง สตูล ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสุราษฎร์ธานี จำนวน 303 แปลง ตั้งแต่อายุ 1 เดือน จนถึง 200 ปี ปรากฏดังนี้

ช่วงอายุ 1-11 เดือน
– ความยาวใบ เฉลี่ย 20.2 เซนติเมตร มีอัตราการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 0.5 เซนติเมตรต่อเดือน
– ความกว้างใบ เฉลี่ย 11.2 เซนติเมตร มีอัตราการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 0.3 เซนติเมตรต่อเดือน
– ขนาดรอบโคนต้น มีอัตราการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.8 เซนติเมตรต่อเดือน
– ความกว้างทรงพุ่ม มีอัตราการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 12.8 เซนติเมตรต่อเดือน
– ความสูงทรงพุ่ม มีอัตราการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 18.0 เซนติเมตรต่อเดือน
– ความสูงของต้น มีอัตราการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 31.0 เซนติเมตรต่อเดือน

ช่วงอายุ 1-35 ปี
– ความยาวใบ เฉลี่ย 19.4 เซนติเมตร ใบมีอัตราการเจริญเติบโตลดลงเฉลี่ย 0.4 เซนติเมตรต่อปี
– ความกว้างใบ เฉลี่ย 10.6 เซนติเมตร ใบมีอัตราการเจริญเติบโตลดลงเฉลี่ย 0.2 เซนติเมตรต่อปี
– ขนาดรอบโคนต้น มีอัตราการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5.2 เซนติเมตรต่อปี
– ความกว้างทรงพุ่ม มีอัตราการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 19.4 เซนติเมตรต่อปี
– ความสูงทรงพุ่ม มีอัตราการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 11.8 เซนติเมตรต่อปี
– ความสูงของต้น มีอัตราการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 74.5 เซนติเมตรต่อปี

ข้อมูลจากการสำรวจการเจริญเติบโตของกระท่อมในพื้นที่ต่าง ๆ แล้วนำมาวิเคราะห์สหสัมพันธ์ (correlation) ปรากฏดังนี้
1. อายุ ขนาดรอบโคนต้น ความกว้างทรงพุ่ม ความสูงทรงพุ่ม และความสูงของต้น ทุกปัจจัยมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันทางบวกในระดับสูง กล่าวคือ เมื่อด้านใดด้านหนึ่งเจริญเติบโตดีก็จะส่งผลให้ด้านอื่น ๆ เจริญเติบโตดีไปด้วย
2. ความยาวของใบ มีความสัมพันธ์ในทางตรงกันข้ามระดับปานกลางกับอายุ และความสูงต้น หมายความว่า เมื่อกระท่อมมีอายุมากขึ้น และลำต้นสูงขึ้น จะมีแนวโน้มที่จะให้ใบที่สั้นลง
3. ความกว้างของใบ มีความสัมพันธ์ในทางตรงกันข้ามในระดับปานกลางกับความสูงของทรงพุ่ม หมายความว่า เมื่อทรงพุ่มกระท่อมสูงมากขึ้น(วัดทรงพุ่มในแนวตั้ง) มีแนวโน้มที่จะให้ใบที่มีขนาดความกว้างลดลง

จากความสัมพันธ์ดังกล่าวนี้ สามารถนำมาใช้เป็นแนวทางในการจัดการกระท่อมให้มีใบที่มีขนาดใหญ่ได้ คือ การตัดแต่งให้มีลำต้นเตี้ย และตัดแต่งทรงพุ่มให้ไม่สูง ให้มีลักษณะแบนไปในแนวราบ เช่น โดยการโน้มกิ่ง เป็นต้น

ขอบคุณ ข้อมูลจาก สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 8 และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง กรมวิชาการเกษตร