สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8

กระท่อม ตอนที่ 3 : ตลาด

ตลาดในประเทศ
– ประเทศไทย ดั้งเดิมนิยมการบริโภคแบบนำไปต้มเป็นน้ำชา และเคี้ยวใบสดมากกว่าการบริโภคสินค้าแปรรูป ซึ่งราคาซื้อขายในอดีตสูงถึง 1,500 บาทต่อกิโลกรัม หลังจากที่ได้รับอนุญาตให้มีการปลูกและบริโภคอย่างถูกกฎหมายได้ ราคาใบสดในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ตอนล่างในปี 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 250-300 บาทต่อกิโลกรัม ในอนาคตเมื่อมีการปลูกกันมากขึ้น และมีการพัฒนาด้านการนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ อุตสาหกรรมอาหาร และมีการส่งออก คาดว่าราคาอาจจะลดลง ตามกลไกการตลาด นอกจากนั้นประเทศไทยมีการนำเข้ากระท่อมจากประเทศอินโดนีเซียในปี 2562 จำนวน 4 ตัน และเพิ่มขึ้นเป็น 30 ตัน ในปี 2563

ตลาดกระท่อมในต่างประเทศ
– กระท่อมในประเทศสหรัฐอเมริกา ถือเป็นตลาดผู้บริโภคสินค้าจากกระท่อมที่ใหญ่ที่สุดในโลก คิดเป็นมูลค่าตลาดทั้งสิ้นประมาณ 1.13 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ปัจจุบันคาดว่ามีชาวอเมริกันที่ใช้ผลิตภัณฑ์จากกระท่อมประมาณ 11 – 15 ล้านคน สินค้ากระท่อมที่สหรัฐฯ นำเข้าสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ ใบกระท่อมอบแห้ง และกระท่อมแปรรูปที่ส่วนใหญ่อยู่ในรูปผง

โดยในช่วงระหว่างเดือนมกราคม – กันยายน 2564 สหรัฐฯ นำเข้าสินค้ากระท่อมเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยเป็นปริมาณทั้งสิ้น 1,755.94 ตัน คิดเป็นอัตราการขยายตัวร้อยละ 1,065.89 แบ่งเป็นสินค้าใบกระท่อมอบแห้งเป็นปริมาณทั้งสิ้น 912.61 ตัน และสินค้ากระท่อมแปรรูปเป็นปริมาณทั้งสิ้น 843.33 ตัน โดยสหรัฐฯ นำเข้าสินค้ากระท่อมเกือบทั้งหมด คือร้อยละ 95 มาจากอินโดนีเซีย

สินค้ากระท่อมสามารถจำแนกออกตามประเภทของสีเส้นใบ (Vein) ซึ่งแตกต่างกันตามอายุการเก็บเกี่ยว และพันธุ์ ได้แก่ กระท่อมแดง (Red Vein Kratom) เป็นกระท่อมที่ผลิตจากใบแก่ ลักษณะเส้นใบจะมีสีแดงอุดมไปด้วยสารไมทราไจนีน ทำให้มีประสิทธิภาพในการออกฤทธิ์ดี ถือว่าเป็นประเภทกระท่อมที่มีคุณภาพดีที่สุด และได้รับความนิยมมากที่สุดในตลาด เชื่อว่าสามารถช่วยบรรเทาอาการนอนไม่หลับสามารถผ่อนคลายร่างกาย อารมณ์ และช่วยลดความเครียดได้ โดยมีประเภทแยกย่อยอีกหลายชนิด เช่น กระท่อมแดงไทย (Red Thai) กระท่อมแดงสุมาตรา (Red Sumatra) กระท่อมแดงปอนเตียนาค (Pontianak Red Horn) และชนิดอื่น ๆ

กระท่อมขาว (White Vein Kratom) เป็นกระท่อมที่ผลิตจากใบที่มีอายุอ่อน ลักษณะเส้นใบจะมีสีขาวได้รับความนิยมมากในตลาด เชื่อว่าสามารถช่วยเพิ่มกำลังและช่วยทำให้มีอารมณ์ดีคลายเครียด โดยมีประเภทแยกย่อยออกไปตามแหล่งเพาะปลูกอีก เช่น กระท่อมขาวไทย (White Thai Kratom) กระท่อมขาวสุมาตรา (White Sumatra Kratom) และกระท่อมขาวอินโด (White Vein Indo) เป็นต้น

กระท่อมเขียว (Green Vein Kratom) เป็นกระท่อมที่ผลิตจากใบที่ไม่อ่อนหรือแก่จนเกินไป ลักษณะเส้นใบจะมีสีเขียวมีฤทธิ์คล้ายกับกระท่อมขาวแต่อ่อนกว่า เชื่อว่าช่วยเพิ่มกำลังและทำให้มีความกล้ามากขึ้น อีกทั้งยังเชื่อว่าสามารถช่วยลดความเจ็บปวดและช่วยให้มีอารณ์ดีด้วย โดยมีประเภทแยกย่อยอีก เช่น กระท่อมเขียวมาเลเชียน (Malaysian Green) และ กระท่อมเขียวปอนเตียนาค (Pontianak Green Horn) ตามชื่อเมืองในประเทศอินโดนีเซีย เป็นต้น

กระท่อมแมงดา (Maeng Da Kratom) เป็นกระท่อมสายพันธุ์ที่เพาะปลูกได้ในประเทศไทย โดยเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้บริโภคมาก เนื่องจากเชื่อว่าสามารถบรรเทาอาการซึมเศร้าและอาการทางจิตช่วยให้อารมณ์คงที่ อีกทั้งยังช่วยเพิ่มกำลังด้วย

กระท่อมเบนทูแอนจี (Bentuangie Kratom) กระท่อมประเภทนี้จะผลิตจากใบกระท่อมแห้งและใบกระท่อมหมัก ซึ่งทำให้เกิดเป็นสีน้ำตาลเข้มมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว แม้ว่ากระท่อมประเภทนี้จะเพิ่งเข้าตลาดได้ไม่นาน แต่ก็ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคอย่างรวดเร็ว เชื่อว่าสามารถช่วยลดอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย ช่วยผ่อนคลาย ช่วยในการนอนหลับ และช่วยทำให้อารมณ์ดี อีกทั้งยังเชื่อว่าออกฤทธิ์นานกว่ากระท่อมประเภทอื่นด้วย

กระท่อมเหลือง (Yellow Vein Kratom) เป็นกระท่อมประเภทสีขาวที่ผ่านกรรมวิธีการผลิต พิเศษจนทำให้เกิดเป็นสีเหลือง แม้ว่าจะไม่เป็นที่นิยมในตลาดมากนักแต่เชื่อว่าสามารถช่วยเพิ่มกำลัง ช่วยลดอาการ วิตกกังวล และช่วยเพิ่มสมาธิได้ อีกทั้งยังเชื่อว่าสามารถออกฤทธิ์ได้นานกว่ากระท่อมขาวด้วย

ปัจจุบันประเภทสินค้ากระท่อมที่วางจำหน่ายในตลาดสหรัฐฯ สามารถจำแนกออกเป็น 5 กลุ่มหลัก ได้แก่
1. ประเภทใบแห้ง แบบไม่แปรรูปใด ๆ เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจว่าได้รับสินค้าที่เป็นใบกระท่อมแท้ ไม่มีใบพืชชนิดอื่นเจือปน ผู้บริโภคสามารถนำไปใช้บริโภคตามความต้องการของตนเองได้ เช่น นำไปผสม รับประทานกับอาหารทั่วไป และการนำไปชงเป็นชาดื่ม อย่างไรก็ตามสินค้าประเภทดังกล่าวไม่ค่อยเป็นที่นิยมในตลาดมากนักเนื่องจากการบริโภคค่อนข้างยุ่งยาก ราคาแพงกว่าแบบอื่น ราคาจำหน่ายปลีกในตลาดประมาณ 10 – 20 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ขึ้นอยู่กับประเภทกระท่อม

2. ประเภทผง เป็นประเภทที่ได้รับความนิยมสูงในกลุ่มผู้บริโภคเนื่องจากสามารถบริโภคได้ง่าย สะดวกตามปริมาณความต้องการของผู้บริโภค โดยสามารถนำไปปรับใช้ร่วมกับอาหารและเครื่องดื่มที่บริโภคตามปกติได้ เช่น โยเกิร์ต สมูตตี้ มิลค์เช็ค โปรตีนเชค ชา และกาแฟ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีราคาถูกกว่าประเภทใบแห้ง เนื่องจากสามารถปรับสัดส่วนใบกระท่อมแห้งได้ตามความต้องการของผู้บริโภค ราคาจำหน่ายปลีกในตลาดประมาณ 7 – 10 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

3. ประเภทแคปซูล เป็นประเภทที่ได้รับความนิยมสูงในกลุ่มผู้บริโภคเช่นเดียวกับแบบผง เนื่องจาก สามารถบริโภคได้ง่ายสะดวกรวดเร็ว แต่มีข้อเสียไม่สามารถควบคุมปริมาณการบริโภคได้ด้วยตนเองเหมือนแบบผง โดยปกติหนึ่งแคปซูลจะบรรจุกระท่อมผงปริมาณ 0.5 กรัม ราคาจำหน่ายปลีกในตลาดขนาด 250 แคปซูล ประมาณ 60 ดอลลาร์สหรัฐ

4. ประเภทสารสกัดเข้มข้น เป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้จากการต้มสกัดสารไมทราไจนีนจากใบกระท่อมแห้ง ทำให้ได้สารสกัดที่มีความเข้มข้น โดยส่วนมากจะเข้มข้นกว่าแบบผงประมาณสองเท่าขึ้นไป ทำให้มีราคาจำหน่ายในตลาดสูงกว่ากระท่อมแบบผง สามารถใช้งานได้ง่ายทั้งผสมร่วมกับอาหารและเครื่องดื่มหรือหยอดลงใต้ลิ้นโดยตรง ราคาจำหน่ายปลีกในตลาดขึ้นกับความเข้มข้นของสารไมทราไจนีน และปริมาณบรรจุ เช่น สารสกัดกระท่อมเข้มข้น 45% ไมทราไจนีน แบบออกฤทธิ์ครอบคลุม ขนาดบรรจุ 10 มิลลิกรัมราคา ขวดละ 49 ดอลลาร์สหรัฐ เป็นต้น

5. ประเภทผลิตภัณฑ์แปรรูปประเภทอื่น ๆ นอกจากประเภทสินค้าที่กล่าวมาแล้วปัจจุบันยังมีการ พัฒนาผลิตภัณฑ์กระท่อมที่สะดวกและง่ายสำหรับการบริโภคอีกหลายชนิด เช่น กระท่อมบรรจุถุงชาพร้อมชง เครื่องดื่มผสมกระท่อมพร้อมดื่ม กระท่อมเข้มข้นสกัดพร้อมดื่ม ขนมและลูกอมมีส่วนผสมของสารสกัดกระท่อม เป็นต้น

กระท่อมในประเทศอินโดนีเซีย เป็นประเทศที่ส่งออกกระท่อมเป็นอันดับต้นของโลก โดยผลผลิตส่วนใหญ่ส่งออกไปประเทศสหรัฐอเมริกา รองลงมา คือ ใต้หวัน เวียดนาม อินเดีย จีน ญี่ปุ่น ซาอุดิอาระเบีย และอื่น ๆ มีปริมาณ และมูลค่าการส่งออก ดังนี้ ( กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์, 2564)
– ปี 2560 ปริมาณ 3,143 ตัน มูลค่าการส่งออก 3,766,845 ดอลล่าร์สหรัฐ
– ปี 2561 ปริมาณ 3,473 ตัน มูลค่าการส่งออก 5,252,957 ดอลล่าร์สหรัฐ
– ปี 2562 ปริมาณ 4,403 ตัน มูลค่าการส่งออก 8,366,435 ดอลล่าร์สหรัฐ
– ปี 2563 ปริมาณ 5,164 ตัน มูลค่าการส่งออก 10,125,424 ดอลล่าร์สหรัฐ

ราคากระท่อมที่ค้าขายในประเทศ มีราคา ดังนี้
– ใบสด 14-19 บาทต่อกิโลกรัม
– เศษใบแห้ง 57-59 บาทต่อกิโลกรัมใบหมัก 61-64 บาทต่อกิโลกรัม
– แบบผง 95-106 บาทต่อกิโลกรัม

ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดพืช จากแหล่งที่กำหนดเป็นสิ่งต้องห้าม ข้อยกเว้น และเงื่อนไขตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2565

สรุป คือ ให้พืชดังต่อไปนี้จากทุกแหล่งเป็นสิ่งต้องห้ามส่วนหนึ่งส่วนใดของพืชกระท่อม Mitragyna speciosa (Korth.) Havil. ส่วนหนึ่งส่วนใดของพืชในสกุลแคนนาบิส (Cannabis L.) แต่มีข้อยกเว้นหรือเงื่อนไข คือ อาหารสำเร็จรูป พืชกระท่อมที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ หรืออาหารสำหรับมนุษย์ หรือใช้เพื่อการอุตสาหกรรม ต้องมีใบรับรองปลอดศัตรูพืชจากประเทศผู้ส่งออกกำกับมาด้วย พืชในสกุลแคนนาบิสที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ หรืออาหารสำหรับมนุษย์ หรือใช้เพื่อการอุตสาหกรรม ต้องมีใบรับรองปลอดศัตรูพืชจากประเทศผู้ส่งออกกำกับมาด้วยประกาศ

ณ วันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 25655 นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปฏิบัติราชการแทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ขอบคุณ ข้อมูลจาก สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 8 และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง กรมวิชาการเกษตร