สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8

กระท่อม ตอนที่ 2 : พันธุ์

กระท่อมมีความหลากหลายของพันธุ์ ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ประกอบกับมีดอกเป็นดอกสมบูรณ์เพศ จึงมีโอกาสในการผสมข้ามระหว่างต้นที่จะทำให้เกิดความหลากหลายของลักษณะประจำพันธุ์ขึ้นมาได้

การจำแนกพันธุ์กระท่อมในท้องถิ่นและทางการค้าที่นิยมกันจะปรากฏการเรียกชื่อต่าง ๆ ตามลักษณะใบที่แตกต่างกัน เช่น พันธุ์ก้านแดง ที่มีก้านใบและเส้นใบเป็นสีแดง พันธุ์ก้านเขียว ที่มีก้านใบและเส้นใบเป็นสีเขียว และพันธุ์หางกั้ง ที่มีขอบใบเป็นฟันเลื่อย

จากการสำรวจ พบว่า นอกจากจะมีความแตกต่างของสีเส้นใบ และขอบใบแล้ว จะพบความแตกต่างของรูปร่างใบ คือลักษณะใบเรียวยาว และใบป้อมคล้ายใบโพธิ์ ที่มีขนาดความกว้างใบและความยาวใบต่างกันประมาณ 4 เซนติเมตร คือ
– กลุ่มใบเรียว มีความกว้างใบ 9.5 เซนติเมตร ความยาวใบ 24.0 เซนติเมตร
– กลุ่มใบป้อม มีความกว้าง 13.5 เซนติเมตร และความยาวใบ 20.2 เซนติเมตร

จากการสุ่มตัวอย่างใบกระท่อมจำนวน 303 ตัวอย่าง อายุต้นตั้งแต่ 1 ปี ถึง 20 ปี พบว่า
– กระท่อมก้านแดง จะมีลักษณะเด่น คือใบกว้าง
– ก้านเขียว มีลักษณะเด่น คือใบเรียวเล็กกว่า และ
– หางกั้ง มีลักษณะเด่น คือใบใหญ่กว่าทั้งความกว้างและความยาว

โดยในกระท่อมก้านแดง ก้านเขียว หางกั้ง
– มีความยาวใบ 20.7, 20.3 และ 21.4 เซนติเมตร ตามลำดับ
– ความกว้างใบ 10.3, 8.9 และ 11.1 เซนติเมตร ตามลำดับ
– สัดส่วนระหว่างความยาวต่อความกว้าง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความป้อมของใบ 2.0, 2.3 และ 1.9 เซนติเมตร ตามลำดับ
(ค่าน้อย=ใบป้อม ค่ามาก= ใบเรียว)

อย่างไรก็ตาม ยังพบว่าในกระท่อมต้นเดียวกัน จะมีใบหลายลักษณะ เช่น มีลักษณะใบเป็นหางกั้ง และไม่เป็นหางกั้ง ในต้นที่มีก้านแดง และก้านเขียว สีของก้านและเส้นใบอ่อนเป็นสีแดง และเปลี่ยนเป็นสีเขียวเมื่อใบแก่ เป็นต้น ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของ ศุภวัฒน์ กล่อมวิเศษ ตัวแทนภาคประชาชนร่วมขับเคลื่อนโครงการวิจัยการพัฒนารูปแบบการควบคุมพืชกระท่อมโดยชุมชนมีส่วนร่วม: กรณีศึกษา พื้นที่ตำบลน้ำพุ อำเภอบ้านนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี และผู้แทนวิสาหกิจชุมชนพืชสมุนไพรตำบลน้ำพุ ที่ พบว่า บางต้นจะมี 3 ลักษณะใบอยู่ในต้นเดียวกัน คือ มีก้านสีแดง ก้านเขียว และหางกั้งอยู่ในต้นเดียวกัน และพบว่ามีต้นที่ใบคู่แรกจากปลียอดจะมีก้านสีแดง คู่ถัดไปจะมีก้านใบสีเขียว และในคู่ถัดไปสีเขียวจะค่อยลดลงเป็นสีออกขาว เป็นต้น

อนึ่ง จากความหลากหลายของลักษณะใบ บ่งชี้ว่าอาจมีปัจจัยอื่น ๆ ที่มีอิทธิพลต่อการแสดงออกของลักษณะใบที่นอกเหนือจากลักษณะประจำพันธุ์ ดังนั้นจึงน่าจะทำการจำแนกสายพันธุ์กระท่อมด้วยเครื่องหมายดีเอ็นเอ (DNA) เพื่อให้เกิดความแม่นยำของความแตกต่างระหว่างสายพันธุ์ต่อไป

ขอบคุณ ข้อมูลจาก สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 8 และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง กรมวิชาการเกษตร