สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8

กระท่อม ตอนที่ 1 : ประวัติ และสารสำคัญ

กระท่อม (Kratom) เป็นพืชประจำถิ่นที่พบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถูกบันทึกในการจัดหมวดหมู่พฤกษศาสตร์ครั้งแรกใน พ.ศ. 2413 โดยนักพฤกษศาสตร์ชาวฮอลันดา ชื่อ Pieter Willem Korthals โดยพบพืชชนิดนี้ ในบริเวณหมู่เกาะมาลายา และตั้งชื่อสกุลของพืชชนิดนี้ว่า Mitragyna เนื่องจากเขาคิดว่ารูปร่างของใบและเกสรตัวเมียในดอกของต้นกระท่อมนั้นมีลักษณะคล้ายกับหมวกของอาร์คบิช็อป (Bishop’s mitre) ชื่อวิทยาศาสตร์ Mitragyna speciosa (Korth.) Havil. ชื่อสกุล (genus) Mitragynaชื่อวงศ์ (Family) RUBIACEAE เป็นวงศ์เดียวกับกาแฟ กระท่อมเป็นไม้ยืนต้นที่มีอายุยืนยาว โดยพบต้นอายุประมาณ 200 ปี ที่จังหวัดกระบี่ เจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ลุ่ม และมีความสูงต้นได้ถึงประมาณ 40 เมตร

สารสำคัญและการใช้ประโยชน์กระท่อมมีสารเคมีในกลุ่มแอลคาลอยด์มากมายหลายชนิด แต่สารเคมีที่วงการแพทย์ให้ความสำคัญอย่างมาก คือ สารไมทราไจนิน (mitragynine) ผลการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาในสัตว์ทดลองและจากภูมิปัญญาท้องถิ่นในการใช้กระท่อมที่สืบทอดกันมา พบว่ามีสรรพคุณในการรักษาอาการปวด มีผลต่อสมองและพฤติกรรม ทำให้อยากกินอาหารและน้ำลดลง เป็นยาต้านซึมเศร้าที่ออกฤทธิ์ในสมองทำให้ผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้น สามารถทำงานหรือทำกิจวัตรประจำวันได้ดีขึ้น มีผลต่อคลื่นไฟฟ้าสมองและการนอนหลับ แต่ถ้าหากมีการรับประทานติดต่อกันเป็นเวลาหลายปี จะพบว่ามีอาการนอนไม่หลับหรือมีภาวะหลับยาก

นอกจากนั้นยังมีคุณสมบัติในการแก้อาการท้องเสีย ลดการหดตัวของลำไส้เล็กส่วนต้น ลดการเคลื่อนที่ของอาหารในลำไส้เล็ก มีผลต่อการป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร มีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด เพิ่มอัตราการนำกลูโคสเข้าสู่เซลล์กล้ามเนื้อ ซึ่งตรงกับตำรับแพทย์พื้นบ้านที่ใช้ใบกระท่อมรักษาโรคเบาหวาน มีผลต่อกล้ามเนื้อลาย ทำให้กล้ามเนื้อลายคลายตัว สามารถทำงานได้ทนเนื่องจากไปช่วยลดอาการปวดเมื่อย แต่ก็พบว่าผู้ที่ใช้พืชกระท่อมเป็นประจำในระยะเวลานาน เมื่อหยุดใช้พืชกระท่อม จะพบอาการของกล้ามเนื้อกระตุกได้เช่นกัน มีผลต่อการลดการอักเสบ ปวด บวม แดง และร้อน ด้านความเป็นพิษแบเฉียบพลัน พบว่า ขนาดของสารสกัดเมทานอลจากใบกระท่อม และสารสกัดแอลคาลอยด์ ที่ทำให้สัตว์ทดลองตายไป 50% (LD50) คือขนาด 4.90 กรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งด้านความเป็นพิษ คือการทำให้ความดันเลือดสูง ค่าเอนไซม์ในตับสูง ไตรกลีเซอไรด์ และโคลเลสเตอรอลสูงขึ้น (สาวิตรี, 2563)…..

ขอบคุณ ข้อมูลจาก สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 8 และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง กรมวิชาการเกษตร