สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8
ข่าวกิจกรรม

สวพ.8 กรมวิชาการเกษตร “Kick Off การจัดการหนอนหัวดำมะพร้าวแบบมีส่วนร่วม จังหวัดสงขลา”

วันที่ 21 พฤศจิกายน 67 นางสาวบุญณิศา ฆังคมณี รักษาการในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการผลิตพืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ (ภาคใต้ตอนล่าง) สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 พร้อมด้วยคณะผู้บริหารศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสงขลา ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรตรัง ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสตูล ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนราธิวาส และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรรือเสาะ ร่วมรณรงค์ สร้างการรับรู้การจัดการหนอนหัวดำมะพร้าว และขับเคลื่อนเครือข่ายมะพร้าวน้ำหอมสงขลา โดยมีเกษตรกรเครือข่ายสงขลามหานครมะพร้าวน้ำหอมและเกษตรผู้สนใจ ภาคส่วนราชการ ประกอบด้วย นายชนนพัฒฐ์ นาคสั้ว สส.เขต 4 จังหวัดสงขลา นายไพเจน มากสุวรรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา องค์การบริหารส่วนตำบลบ่อเเดง สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา สำนักงานเกษตรจังหวัดสงขลา ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดสงขลา สำนักงานพัฒนาที่ดิน เขต 12 สงขลา และสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดสงขลา ณ ศาลาสระพังเลียบ หมู่ที่ 5 ตำบลบ่อแดง อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา

กิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วยการพบปะของผู้บริหาร ฐานการถ่ายทอดความรู้ และสาธิต รณรงค์การจัดการหนอนหัวดำมะพร้าวแบบมีส่วนร่วม ได้แก่

– การจัดการหนอนหัวดำมะพร้าวด้วยวิธีการพ่นสารเคมี และการฉีดสารเคมีเข้าต้นมะพร้าวอย่างปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ และการใช้เชื้อ (Bacillus thuringiensis) Bt โดย สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสงขลา กรมวิชาการเกษตร

– แผนงาน “สงขลามหานครมะพร้าวน้ำหอม” โดย สำนักงานเกษตรจังหวัดสงขลา

– การจัดตั้ง “เครือข่ายสงขลามหานครมะพร้าวน้ำหอม” โดย กองส่งเสริมการเกษตร องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา

– การจัดการหนอนหัวดำมะพร้าวด้วยวิธีผสมผสาน และการใช้แตนเบียน “บราคอน ฮีบีเตอร์ ควบคุมจัดการหนอนหัวดำมะพร้าว” โดย สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 และศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดสงขลา

– การตัดทางใบมะพร้าวและการทำลายใบมะพร้าวที่ถูกหนอนหัวดำทำลาย โดย สำนักงานเกษตรจังหวัดสงขลา โรงเรียนเกษตรกรมะพร้าวน้ำหอม ศจช. ตำบลชุมพล ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนตำบลบ่อแดง

– การจัดการดินที่เหมาะสมสำหรับการปลูกมะพร้าว โดย สำนักงานพัฒนาที่ดิน เขต 12 สงขลา

นอกจากนี้ยังมีการประชุมเพื่อจัดตั้ง “เครือข่ายสงขลามหานครมะพร้าวน้ำหอม ภาคประชาสังคม” ซึ่งได้ดำเนินการ คัดเลือกคณะกรรมการประสานงาน กำหนดภารกิจในการดำเนินงาน รวมทั้งยื่นข้อเสนอให้แก่ท่าน ส.ส เขต 4 สงขลา ในประเด็นการขอรับการสนับสนุนส่งเสริมอาชีพมะพร้าวน้ำหอม ประกอบด้วย การขุดร่องสวนเพื่อปลูกมะพร้าวน้ำหอม การสนับสนุนงบประมาณการผลิตแตนเบียนหนอนหัวดำมะพร้าว การจัดหาโดรนเพื่อฉีดพ่นชีวภัณฑ์และสารเคมี การรับรองมาตรฐาน Gap และ organic การขอจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) และการส่งเสริมการตลาดภายในจังหวัด เป็นต้น

นับเป็นกิจกรรมขับเคลื่อน “การป้องกันกำจัดหนอนหัวดำมะพร้าว” และ “สงขลามหานครมะพร้าวน้ำหอม” ในทุกขบวนการ ตั้งแต่การให้ความรู้แก่เกษตรกร การเชื่อมโยงภาคีเครือข่าย ซึ่งเป็นการดำเนินงานแบบบูรณาการร่วมกันอย่างแท้จริง ทั้งหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ และภาคเกษตรกร