สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8

กระท่อม ตอนที่ 7 : การใส่ปุ๋ย

กระท่อมให้ใบเป็นผลผลิตเพื่อจำหน่าย ลักษณะใบที่ตลาดต้องการจะมีหลายลักษณะ เช่น ในตลาดการนำไปเคี้ยวใบสด จะนิยมใบสีเขียวเข้ม มีความกรอบ ผิวใบมัน ส่วนตลาดทั่วไป นิยมใบสีเขียวเข้ม มีขนาดใหญ่ ผิวใบมัน และตลาดเพื่อการผลิตยา จะต้องการใบที่มีสารไมทราไจนีนที่เป็นสารสำคัญทางยาสูง

หลักการให้ปุ๋ยกระท่อมจึงต้องพิจารณาการให้ธาตุอาหารที่จะไปตอบสนองการเจริญเติบโตของใบเพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าวข้างต้นเป็นสำคัญ

โดยหลักการทั่วไป การใส่ปุ๋ยให้แก่พืช ควรให้พืชได้รับธาตุอาหารที่ครบถ้วนและสมดุล ซึ่งเกษตรกรที่ปลูกกระท่อมมาแต่ดั้งเดิมต่างให้ความเห็นว่า การใส่ปุ๋ยคอก คือมูลสัตว์ต่าง ๆ จะให้ใบที่มีคุณภาพดีตามที่ตลาดต้องการ ซึ่งตรงกับหลักวิชาการ และตรงกับผลการวิเคราะห์ธาตุอาหารในปุ๋ยจากมูลสัตว์ ปุ๋ยคอกจะเป็นปุ๋ยที่ให้ธาตุอาหารอย่างสมดุล และปลดปล่อยออกมาให้พืชได้ใช้อย่างช้า ๆ มูลสัตว์ต่าง ๆ ที่มีการหมักอย่างสมบูรณ์แล้วจะมีสภาพเป็นกลางและด่างอ่อน ช่วยในการปรับสภาพดินให้มีความเหมาะสมกับพืชมากขึ้น ซึ่งสามารถใส่ได้ในปริมาณมาก เช่น 25-50 กิโลกรัมต่อต้นต่อปี โดยใส่ปีละ 2-3 ครั้ง

ส่วนการใส่ปุ๋ยเคมี จะมีธาตุอาหารบางชนิดที่จะส่งผลทำให้ได้ใบที่มีคุณภาพดี ดังนี้

ไนโตรเจน《N) เป็นธาตุอาหารที่สำคัญสำหรับพืชมาก เพราะเป็นธาตุอาหารที่พืชต้องการในปริมาณมาก ถ้าพืชขาดไนโตรเจนการเจริญเติบโตหยุดชะงัก ใบจะเป็นสีเหลืองโดยเกิดที่ใบแก่ก่อน ไนโตรเจนเป็นส่วนประกอบพื้นฐานของรงควัตถุในใบสีเขียวของพืช คือ คลอโรฟิลล์ ซึ่งช่วยในการสังเคราะห์แสง และพืชต้องการไนโตรเจนในการสร้างสารประกอบสำคัญอีกหลายชนิดเพื่อการเจริญเติบโต

โพแทสเซียม (K) มีบทบาทสำคัญในกระบวนการทางสรีรวิทยาและชีวเคมีในพืช นับตั้งแต่การสังเคราะห์แสง การหายใจ การลําเลียงสารประกอบที่ได้จากการสังเคราะห์แสง การสร้างโปรตีน และน้ำมันในพืช นำไปสร้างผนังเซลล์ ทำให้พืชต้านทานโรคดีขึ้น และช่วยเพิ่มเซลล์ที่เก็บสํารองอาหารแป้งและน้ำตาลที่สังเคราะห์ หากพืชขาดโพแทสเซียม จะทำให้การเจริญเติบโตและผลผลิตลดลง

แมกนีเซียม (Mg) เป็นธาตุที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของคลอโรฟิลล์ ช่วยสังเคราะห์กรดอะมิโน วิตามิน ไขมัน และน้ำตาล ทำให้สภาพกรดด่างในเซลล์เหมาะสม นอกจากนี้แมกนีเซียมยังมีส่วนส่งเสริมการดูดซึมและนำฟอสฟอรัสมาใช้ประโยชน์อีกด้วย ในสภาวะขาดแคลนจะทำให้การเจริญของใบไม่สมบูรณ์ ใบแก่จะเปลี่ยนสีและร่วงโรยในเวลาอันรวดเร็ว

คำแนะนำการให้ปุ๋ยเคมี เน้นสูตรที่ให้ธาตุไนโตรเจน โพแทสเซียม และแมกนีเซียม เช่น สูตร 15-7-18 + 2 Mg (มีแมกนีเซียมผสมอยู่ในสูตรนี้) 21-7-14 หรือ 25-10-20 หรือ 25-9-9 หรือ 25-7-7 หรือ 15-9-18 อย่างไรก็ตามจากภูมิปัญญาเกษตรกร พบว่ากระท่อมสามารถเจริญเติบโตได้ดีจากการใส่ปุ๋ยเคมีหลาย ๆ สูตร เช่น 15-15-15, 16-16-16, 18-8-8 หรือ 14-7-35 และมีการใส่ปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) เพื่อกระตุ้นการแตกใบ ซึ่งสูตรเหล่านี้เป็นปุ๋ยที่เกษตรกรใช้ในพืชอื่น ๆ ภายในฟาร์มอยู่แล้ว

ด้านอัตราการใส่ต่อต้น เทียบเคียงกับการใส่ปุ๋ยเพื่อบำรุงต้นและใบไม้ผลทั่วไป คือ คำนวณจากความกว้างของทรงพุ่มหารด้วย 2 หน่วยเป็นกิโลกรัม เช่น ความกว้างของทรงพุ่ม 4 เมตร หารด้วย 2 เท่ากับ 2 กิโลกรัมต่อต้นต่อปี โดยแบ่งใส่ได้ 2 แบบ คือ ใส่น้อย ๆ หลังการเก็บเกี่ยว หรือ ใส่ทุก ๆ 3-4 เดือน เพื่อการเร่งให้พืชสามารถแตกยอดอ่อนและใบอย่างสม่ำเสมอ ส่วนการเสริมธาตุแมกนีเซียม สามารถใส่กีเซอร์ไรท์ (27 % MgO) ซึ่งเป็นปุ๋ยที่ใช้อยู่ในสวนปาล์มน้ำมัน หรือการใส่โดโลไมท์ ที่จะมีคุณสมบัติในการช่วยปรับปรุงดิน และปรับสภาพดินให้ลดความเป็นกรดลงด้วย

Mengzi Zhang (2020) ศึกษาการใส่ปุ๋ยเคมีละลายช้าสูตร 15-9-12 พบว่าการใช้ปุ๋ยปริมาณสูง สามารถทำให้สารไมทราไจนิน เพิ่มขึ้นมากกว่า 10 เท่า เมื่อเทียบกับต้นที่ไม่ได้ใส่ปุ๋ย และทำให้ได้ผลผลิตใบแห้ง รวมทั้งสารสำคัญที่มีประโยชน์อีก 7 ชนิด สูงกว่าไม่ได้ใส่ปุ๋ยเช่นกัน

ขอบคุณ ข้อมูลจาก สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 กรมวิชาการเกษตร