สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8

กระท่อม ตอนที่ 6 : การจัดการทรงพุ่ม

กระท่อมควรมีการจัดการทรงพุ่มเพื่อให้ได้ทรงพุ่มมีขนาดใหญ่ โดยเฉพาะต้นที่ปลูกจากเมล็ด เพื่อจะทำให้ได้ผลผลิตสูง แต่หากไม่จัดการทรงพุ่มจะทำให้ลำต้นสูงชะลูด ทรงพุ่มมีขนาดเล็ก ผลผลิตจะต่ำ และเก็บเกี่ยวยาก หลักในการจัดการทรงพุ่ม มีดังนี้

การเด็ดยอดและตัดแต่งกิ่ง
การบังคับความสูงของต้นด้วยการเด็ดยอดสามารถทำได้หลายระยะ โดยมีหลักการ คือ เมื่อเด็ดยอดก็จะเร่งให้มีการแตกกิ่งข้าง ซึ่งกิ่งจะแตกออกมาตามซอกก้านใบที่ติดกับลำต้น เช่น เมื่อมีการแตกก้านใบ 5-6 คู่ ก็จะแตกกิ่งออกมา 5-6 คู่ หรือ 10-12 กิ่ง

ตัวอย่างการเด็ดยอด เพื่อไว้กิ่ง 4-6 คู่ หรือ 8-12 กิ่ง โดยเริ่มนับจำนวนคู่ใบแรกจากด้านล่างขึ้นมาที่ระยะความสูงจากพื้นดินประมาณ 50-100 เซนติเมตร จากนั้นนับขึ้นมาให้ได้ 4-6 คู่ใบ แล้วเด็ดยอด ก็จะทำให้มีการแตกกิ่งข้างที่สูงจากพื้นดินออกมา 4-6 คู่ 8-12 กิ่ง

การเว้นระยะกิ่งล่างสุดที่ระดับความสูงจากพื้นดินประมาณ 50-100 เซนติเมตร เพื่อให้มีความสะดวกในการกำจัดวัชพืชและใส่ปุ๋ย การเด็ดยอดในช่วงนี้สังเกตได้ว่า ต้นกระท่อมจะต้นมีความสูงประมาณ 1 เมตร หรืออายุประมาณ 4-6 เดือน ขึ้นกับความสมบูรณ์ของต้น

หลังจากที่กระท่อมเจริญเติบโตจนให้กิ่งหลักไว้ 8-12 กิ่งแล้ว ให้ทำการตัดแต่งกิ่งเล็ก ๆ ที่ลำต้นที่ไม่ต้องการออก โดยในกิ่งหลัก 1 กิ่ง จะแตกกิ่งย่อยที่จะให้ใบประมาณ 8-10 กิ่งย่อย การตัดแต่งกิ่งจะทำให้ลดการสิ้นเปลืองอาหารที่จะส่งไปเลี้ยงกิ่งที่ไม่ต้องการ ทำให้ทรงพุ่มโปร่ง แสงแดดส่องลงมาถึงลำต้นและใบได้ และจะช่วยลดการเกิดโรคได้อีกทางหนึ่งด้วย

การโน้มกิ่ง และค้ำกิ่ง
การโน้มกิ่ง มีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้กระท่อมมีต้นเตี้ย โดยบังคับให้กิ่งเจริญเติบโตออกไปในแนวนอน ซึ่งจะทำให้มีการแตกกิ่งย่อยจำนวนมาก และเก็บเกี่ยวได้ง่ายขึ้น
วิธีการโน้มกิ่งโดยใช้เชือกผูกช่วงกลางของกิ่ง แล้วดึงให้โน้มลงมาหาพื้นดิน และผูกไว้กับไม้หลักที่ปักไว้ หรือดึงลงมาผูกกับหลักไม้ที่พื้นดิน โดยในระยะแรกไม่ต้องดึงให้กิ่งโน้มลงมามากนักเพราะอาจจะทำให้กิ่งฉีกขาด หรือ หักได้ หลังจากทิ้งไว้ประมาณ 15 วันเมื่อกิ่งปรับตัวได้แล้วจึงค่อยดึงไต่ระดับลงมาทุก ๆ 15 วัน จนได้ระดับที่ต้องการ

ในกรณีที่กิ่งมีอายุมาก และมีขนาดใหญ่ จำเป็นจะต้องทำด้วยความระมัดระวังเพื่อป้องกันไม่ให้กิ่งฉีกขาดหรือหักได้ เมื่อกิ่งมีการโน้มลงมาจนอยู่ตัวแล้วควรทำการค้ำกิ่ง โดยใช้ไม้ที่แข็งแรงปักและผูกยึดกิ่งไว้เป็นระยะ 1-2 ตอน ตามความยาวของกิ่ง ซึ่งจะป้องกันกิ่งหักเวลาขึ้นไปเก็บเกี่ยวหรือเวลามีลมแรงได้

การตัดแต่งใบ และดอก
ใบเป็นผลผลิตที่สำคัญที่จะนำไปสู่รายได้ แนวโน้มตลาดในอนาคตจะให้ความสำคัญกับคุณภาพของใบที่จะมีการจัดเกรดคุณภาพ ทั้งในด้านขนาดใบ ความอ่อนแก่ ความสมบูรณ์ของใบ และสารสำคัญในใบกระท่อม โดยปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อคุณภาพใบ ได้แก่ การได้รับแสงแดด ปุ๋ย น้ำ และมีการจัดการศัตรูพืชที่เหมาะสม

โดยปกติเมื่อมีการเก็บเกี่ยวใบอย่างสม่ำเสมอ ก็จะทำให้ทรงพุ่มกระท่อมโปร่ง แสงสามารถส่องถึงโดยอัตโนมัติ แต่ในกรณีที่ไม่ได้มีการเก็บเกี่ยวตามกำหนดเวลา ก็จะเกิดการสะสมของใบจำนวนมาก ทำให้มีโอกาสที่จะเกิดความชื้นเพิ่มขึ้นในทรงพุ่ม อันเป็นสาเหตุของการเกิดโรคทางใบ เช่น ราสนิม หรือมีการระบาดของแมลงเพิ่มมากขึ้น และยังมีผลต่อขนาดของใบโดยรวมที่เล็กลง จึงจำเป็นที่จะต้องมีการตัดแต่งใบอย่างสม่ำเสมอ เช่น ตัดใบแก่ที่ตลาดไม่ต้องการ และใบที่โรคแมลงทำลาย เป็นต้น

การตัดแต่งดอก
เมื่อกระท่อมออกดอก ในกรณีที่ไม่ได้ต้องการเก็บเมล็ดไว้ขยายพันธุ์ ให้ทำการตัดแต่งดอกทิ้ง เนื่องจากเมื่อออกดอกพืชจะส่งอาหารและน้ำมาเลี้ยงที่ดอกมากกว่าปกติ หากอาหารไม่เพียงพอก็จะส่งผลทำให้ใบลดขนาดลง ซึ่งจะสังเกตได้จากกิ่งที่เกิดช่อดอกมักจะมีขนาดเล็ก ใบมีน้อย เมื่อดอกพัฒนาเป็นเมล็ด กิ่งเหล่านี้มักจะแห้งตาย และอาจจะเป็นแหล่งสะสมโรคแมลง

ขอบคุณ ข้อมูลจาก สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง กรมวิชาการเกษตร
ภาพถ่ายจากชุมชนชัยบุรี และ บ้านนาสาร สุราษฎร์ธานี