สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8
ข่าวกิจกรรม

“กะพ้อ-ชิง-ร็อก แห่งวังวิเศษ จังหวัดตรัง”

การเดินทางไปดูการดำเนินงานโครงการชุมชนนวัตกรรมวิชาการเกษตร DOA smart community ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรตรัง สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 กรมวิชาการเกษตร ได้ร่วมกับชุมชนวังมะปรางเหนือ อำเภอวังวิเศษ จังหวัดตรัง ของผมในวันนี้ได้พบกับวิถีชุมชนที่ผมประทับใจและอยากจะนำมาเล่าให้ฟังกัน

อบต.วังมะปรางเหนือ บรรยายสรุปข้อมูลตำบลไว้ว่า ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นที่ราบลุ่มและเนินเขาสลับกันไปเป็นลูกระนาดทั้งตำบล โดยทางตอนเหนือของพื้นที่ตำบลวังมะปรางเหนือจะเป็นภูเขาสูงซึ่งเป็นแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติ(เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาประ–บางคราม) มีพื้นที่ประมาณ 12,500 ไร่ มีแหล่งน้ำสำคัญซึ่งถือว่าเป็นเส้นเลือดใหญ่ของตำบลวังมะปรางเหนือ คือ ลำน้ำคลองชี ซึ่งมีต้นกำเนิดจากเขานอจู้จี้ในตำบลอ่าวตง  อำเภอวังวิเศษ  จังหวัดตรัง ตำบลวังมะปรางเหนือเป็นตำบลหนึ่งใน 5 ตำบลของอำเภอวังวิเศษ จังหวัดตรัง มีเนื้อที่ประมาณ 68.40 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 42,750 ไร่

ผอ. ชนินทร์ ศิริขันตยกุล  น้องลภัสรดา อักษรเนียม และทีมงานจากศวพ.ตรัง ได้พาผมลงไปเดินในชุมชน ผ่านพื้นที่สวนสมรมที่มีต้นไม้ขึ้นปกคลุมพื้นที่อย่างหนาแน่น เหมือนป่าธรรมชาติในพื้นที่ดิบชื้น อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพรรณที่หลากหลาย เติบโตแบบพึ่งพาอาศัยกันหลายเรือนยอด มีต้นไม้ยางนา ยางพารา มะปริง ฯลฯ สารพัดชนิด และที่ดึงดูดให้ผมแวะเลี้ยวออกจากถนนทางเดินเท้า เข้าไปป่ารก คือ เห็นพืชตระกูลกะพ้อที่ขึ้นเต็มพื้นที่

     พี่บุปผา ซ่อนยุ้น เจ้าของสวนเล่าว่า ในสวนจะมีต้น กะพ้อ- ชิง- ร็อก (ไม่แน่ใจว่าสะกดอย่างไร) ซึ่งจะมีลักษณะคล้าย ๆ กัน  เอาละสิ !!!   ผมเป็นคนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา รู้จักแน่ต้นโหนดกับไผ่ เดิมผมเข้าใจว่าที่เห็นเป็นกะพ้อทั้งหมด

    พี่บุปผา เล่าต่อว่า ได้สืบสานการปลูกพืชตระกูลกะพ้อมาตั้งแต่รุ่นพ่อ ตนยังรักษาป่าแห่งนี้ไว้ และมีรายได้จากพืชเหล่านี้สม่ำเสมอ  แล้วพี่ก็พาผมไปดู ต้นชิง ที่อายุ ราว 80-90 ปี ที่พ่อปลูกเอาไว้ มีความสูงลำต้นราว ๆ 3-4 เมตร ถ้าวัดถึงปลายยอดน่าประมาณ 5-6 เมตร ที่กำลังออกดอกออกผลสีส้มห้อยร้อยเป็นพวงอยู่พอดี

     พี่บุปผา ได้แนะนำความแตกต่างของพืช 3 ชนิดนี้ว่า ต้นกะพ้อ เมื่ออายุมากลำต้นจะเกลี้ยง  ต้นชิง ตอนเล็ก ๆ ใบมี 2 แฉก เมื่ออายุมากลำต้นจะมีกาบหุ้มรกรอบลำต้น  ส่วนต้นร็อก ตอนเล็ก ๆ ใบมีประมาณ 6-7 แฉก เมื่ออายุมากลำต้นคล้ายต้นปาล์มแต่จะเล็กกว่า มีกาบห่อหุ้มลำต้นเกลี้ยง ต้นสูงราว 10 เมตร

จากการสืบค้นข้อมูลทางพฤษศาสตร์ ผมยังหาไม่พบว่า ต้นชิง ต้นร็อก คือชื่อวิทยาศาสตร์อะไรกันแน่ แต่พบว่า แม้กระทั่ง กะพ้อ บางแหล่งระบุเป็น ชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Licuala paludosa Griff. บางแหล่ง เป็น Licuala spinosa Wurmb ซึ่งข้อมูลใน wikipedia จำแนกในกลุ่ม Licuala ประมาณ 167  species  ซึ่งต้องรอผู้เชี่ยวชาญมาจำแนกต่อไป 

ใบของพืชทั้ง 3 ชนิดนี้เมื่อโตขึ้นจะคล้าย ๆ กัน  แต่กว่าจะใช้ประโยชน์ได้ก็จะมีอายุ 2 ปีขึ้นไป ธรรมชาติเป็นพืชที่ขึ้นในที่ร่มเงา และชื้น แต่บางทีก็พบว่าเมื่อโตแล้วก็ทนแดดได้ดี ชอบดินทราย ไม่ต้องใส่ปุ๋ย ให้น้ำ ก็ให้ผลผลิตได้  ขยายพันธุ์ง่ายด้วยเมล็ด

การใช้ประโยชน์ใบชิง จะเอายอดไปขาย ยอดละ 5-10 บาท เพื่อนำไปทำใบห่อข้าวเหนียวปิ้ง ห่อข้าวต้มมัด และใบที่แก่นำไปเย็บเป็นจากมุงหลังคาได้สวยงามมาก

นอกจากที่เล่ามาแล้วทำให้ผมคิดต่อว่า ด้วยความเป็นพืชที่ทนร่มเงา ทนทานต่อสภาพแวดล้อม ประโยชน์ก็หลากหลาย ถ้ามีการศึกษา นำวิชาการมาพัฒนาการผลิต และส่งเสริมช่องทางการตลาด น่าจะเหมาะที่เป็นพืชร่วมยางร่วมปาล์มร่วมไม้ผล หรือปลูกแบบสวนสมรมในภาคใต้ได้ดี  ซึ่ง ผอ.ศวพ.ตรัง และท่านนิกร ชิดเชื้อ เกษตรอำเภอวังวิเศษก็เห็นด้วยอย่างยิ่งว่าน่าจะมีการพัฒนาพืชนิดนี้ต่อไป

จินตนาการของผมในอนาคต คือ ในศวพ.ตรัง เราจะเป็นศูนย์เรียนรู้การศึกษาและพัฒนาพืชชนิดนี้ ส่วนในชุมชนจะมี ชุมชนต้นแบบ กะพ้อ- ชิง- ร็อก มีการขยายการปลูกไปในพื้นที่สวนยาง สวนสมรม เป็นแหล่งจำหน่ายต้นกล้า จำหน่ายยอด ใบ มีการเย็บตับจากชิง และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างชื่อเสียงแก่คนในชุมชน ตำบลวังมะปรางเหนือ อำเภอวังวิเศษ  จังหวัดตรัง

ท่านใดพอมีความรู้เรื่อง 3 พืชนี้ โปรดแบ่งปันมาหน่อยนะครับ

….. ธัชธาวินท์ สะรุโณ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการผลิตพืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ (ภาคใต้ตอนล่าง) สวพ.8 จ.สงขลา กรมวิชาการเกษตร …..