สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8
ข่าวกิจกรรม

สวพ. 8 กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ฟ้าทะลายโจร 1 ล้านแคปซูล

สวพ. 8 กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ฟ้าทะลายโจร 1 ล้านแคปซูล

– Kick off ฟ้าทะลายโจร ครั้งที่ 5 ต.รำแดง อ.สิงหนคร จ.สงขลา

หลังจากที่สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 8 (สวพ. 8 ได้มีพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) เรื่อง “ความร่วมมือดำเนินกิจการขับเคลื่อนการพัฒนาการผลิตพืช จังหวัดสงขลา” ร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา สำนักงานเกษตรจังหวัดสงขลา กรมส่งเสริมการเกษตร สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา โรงพยาบาลสิงหนคร คณะเภสัชศาสตร์ มอ. สมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนสงขลา โดยมีแนวทางการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนและพัฒนาการผลิตพืชสมุนไพรต้านโควิด-19 รวมถึงการแปรรูปสมุนไพร เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2564 นั้น ทาง สวพ. 8 ก็ได้ดำเนินการขับเคลื่อนในภาคของการผลิต โดยร่วมกับชุมชน Kick off ปลูกพืชสมุนไพรฟ้าทะลายโจรไปแล้วใน 4 พื้นที่ คือชุมชนป่าขาด อ.ระโนด ต.ม่วงงาม และ อ.สทิงพระ

วันที่ 3 กันยายน 2564 นายปัญญา จินดาวงค์ นายอำเภอสิงหนคร นางธัญชนก มุสิกะพันธ์ ผอ. รพ.สต. รำแดง นายกณวรรธน์ กรีโส ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลรำแดง สวพ. 8 นำโดย นายจิระ สุวรรณประเสริฐ ผอ. สวพ. 8 และนายธัชธาวินท์ สะรุโณ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการผลิตพืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ (ภาคใต้ตอนล่าง) นายทวีรัตน์ กรีโส เกษตรต้นแบบ พร้อมด้วยผู้นำท้องถิ่นและชุมชนรำแดง อ.สิงหนคร จ.สงขลา ได้ร่วมกันเสวนา “ต้นแบบสมุนไพร รำแดง” ยุค New Normal โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการรับรู้ ให้เกิดการตื่นตัวในเรื่องการสร้างความมั่นคงด้านสมุนไพร งานนี้ ผชช. ธัชธาวินท์ สะรุโณ ได้กล่าวถึงเจตนารมณ์ของ สวพ. 8 ในการใช้ภาคการเกษตรสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้ รวมถึงมีภูมิคุ้มกันในการรับมือกับวิกฤติต่างๆ โครงการฟ้าทะลายโจรทั้ง 5 รูปแบบ คือ 1. โครงการสมุนไพรครัวเรือน 2. ต้นแบบฟ้าทะลายโจรเชิงพาณิชย์ 3. ศูนย์สมุนไพรชุมชน 4. สมุนไพรในโรงเรือน ทั้ง 4 รูปแบบ ปลูกฟ้าทะลายโจร จำนวน 15,000 ต้น คาดว่าสามารถแปรรูปฟ้าทะลายโจรได้ 1,000,000 แคปซูล และ5. สงขลาเมืองสมุนไพร คาดว่าโครงการฟ้าทะลายโจรทั้ง 5 รูปแบบ สามารถแปรรูปฟ้าทะลายโจรได้อย่างน้อย 10,000,000 แคปซูล จะสามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนสมุนไพรในช่วงวิกฤติโควิด รวมถึงสามารถสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนได้

นายจิระ สุวรรณประเสริฐ ผอ. สวพ. 8 กล่าวถึงนโยบายของ สวพ. 8 ในการสนับสนุนสิ่งที่เป็นประโยชน์กับเกษตรกรอย่างจริงจัง โดยขอให้เกษตรกรตั้งใจปฏิบัติอย่างจริงจังเช่นกัน นายปัญญา จินดาวงค์ นายอำเภอสิงหนคร กล่าวถึงประโยชน์ของฟ้าทะลายในด้านการใช้เป็นภูมิคุ้มกันเสริม นอกจากหลักป้องกัน DMHTT และการใช้วัคซีนทางการแพทย์ ดังนั้นโครงการสมุนไพรฟ้าทะลายโจรจึงเป็นโครงการที่ดีที่จะช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้กับครัวเรือนในชุนชน และยินดีร่วมผลักดันและขับเคลื่อนโครงการนี้ให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน นางธัญชนก มุสิกะพันธุ์ ผอ. รพ. สต. รำแดง กล่าวว่า ปัจจุบันสมุนไพรฟ้าทะลายโจรเป็นยาหลักที่ใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19 ในโรงพยาบาลสนาม การมีสมุนไพรเองในพื้นที่จึงเป็นสิ่งจำเป็น และอยากให้ทุกภาคส่วนขับเคลื่อนโครงการให้เกิดขึ้นในชุมชนอย่างยั่งยืน นายกณวรรธน์ กรีโส ปลัด อบต. รำแดง และผู้นำชุมชน มีความเชื่อมั่นว่าโครงการนี้จะเกิดขึ้นได้ และจะร่วมขับเคลื่อนสนับสนุนโครงการนี้ให้กระจายสู่ทุกหมู่บ้านในตำบล เพื่อขยายสู่ทุกครัวเรือน หลังการเสวนาผู้เข้าร่วมเสวนาได้ร่วมกันปลูกฟ้าทะลายโจรจำนวน 1,000 ต้น เป็นต้นแบบฟ้าทะลายโจรเชิงพาณิชย์ของชุมชนรำแดง

– Kick off ฟ้าทะลายโจร ครั้งที่ 6 อ. กระแสสินธุ์ จ. สงขลา วันที่ 3 กันยายน 2564 พระครูวิจิตร สาธุรส เจ้าอาวาสวัดเกาะใหญ่ นายไพเจน มากสุวรรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา นายธงรัฐ ธรรมเจริญ ปลัดอาวุโสอำเภอกระแสสินธุ์ นายโยธิน ทองเนื้อแข็ง สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา นายไพโรจน์ สุวรรณจินดา อดีตรองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร นายประจวบ จันทร์เพ็ญ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการคุ้มครองภูมิปัญญาแพทย์แผนไทยกระทรวงสาธารณสุข และ สวพ. 8 นำโดย นายธัชธาวินท์ สะรุโณ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการผลิตพืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ (ภาคใต้ตอนล่าง) พร้อมด้วยผู้นำท้องถิ่น ต.เกาะใหญ่ ร่วมกันเสวนา “ต้นแบบสมุนไพร กระแสสินธุ์” ยุค New Normal โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ เสนอแนวคิดในการขับแคลื่อนโครงการให้ อ. กระแสสินธุ์ เป็นเมืองสมุนไพร อันดับ 1 ของภาคใต้ โดยทุกฝ่ายมีความเห็นร่วมกันว่า อ.กระแสสินธุ์ สามารถเป็นเมืองสมุนไพรที่ครบวงจรได้ ตั้งแต่ขั้นตอนของการผลิต การแปรรูปเป็นแคปซูล และจำหน่ายได้ เนื่องจากปัจจัยต่างๆ ที่เอื้อให้ เช่น การมีวัดเป็นศูนย์รวมของชุมชน ก่อให้เกิดความมั่นคงยั่งยืนในชุมชน มีหมอแพทย์แผนไทย ที่ยินดีขับเคลื่อนด้านการแปรรูปและการตลาด รวมถึงผู้นำชุมชนทุกฝ่ายมีความยินดีในการร่วมขับเคลื่อน และให้การสนับสนุนโครงการนี้ในทุกมิติ เพื่อให้กระแสสินธุ์ เป็นเมืองสมุนไพร อันดับ 1 ของภาคใต้ในอนาคต นอกจากนี้ นายไพโรจน์ สุวรรณจินดา ยังให้ความมั่นใจเชิงวิชาการในด้านความเหมาะสมของสภาพพื้นที่จะทำให้ได้สมุนไพรที่มีคุณภาพ รวมถึการรับรองมาตรฐาน GAP จะทำให้ผลผลิตได้มาตรฐาน ซึ่งจะสามารถทำให้ อ.กระแสสินธุ์ สามารถเป็นเมืองสมุนไพรได้ในอนาคต หลังการเสวนาผู้เข้าร่วมเสวนาได้ร่วมกันปลูกฟ้าทะลายโจรจำนวน 999 ต้น เป็นต้นแบบสมุนไพรชุมชนของ อ.กระแสสินธุ์ข่าวโดย สุวิมลภาพ โดย เพชร นา เบส