กรมวิชาการเกษตร ลุยตรวจสินค้านำเข้าเข้มข้น ตรึงศัตรูพืชกักกันหวั่นระบาดจี้ผู้นำเข้ารับผิดชอบหลังพบด้วงอิฐติดมากับข้าวสาลีอินเดียกว่า 2 หมื่นกิโลกรัม ชี้เป็นศัตรูพืชกักกันที่สำคัญในหลายประเทศ สั่งรมยากำจัดพร้อมส่งสินค้าทั้งหมดกลับประเทศต้นทางทันที

   ดร.เสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ด่านตรวจพืชท่าเรือกรุงเทพ กรมวิชาการเกษตร ได้ตรวจพบด้วงอิฐซึ่งเป็นศัตรูพืชกักกันปนเปื้อนมากับสินค้าข้าวสาลีจำนวน 24,000 กิโลกรัมที่นำเข้าจากประเทศอินเดีย เจ้าหน้าที่ด่านตรวจพืชท่าเรือจึงสั่งให้เจ้าของสินค้าดำเนินการกำจัดศัตรูพืชดังกล่าวด้วยวิธีการรมด้วยสารเมทิลโบรไมด์ และให้ส่งสินค้าที่พบปัญหากลับประเทศต้นทางทั้งหมดทันที

   ประเทศไทยและในหลายประเทศถือว่าด้วงอิฐเป็นศัตรูพืชกักกันที่สำคัญในการนำเข้า เป็นศัตรูพืชที่หากมีการติดเข้ามากับสินค้าและแพร่ระบาดในประเทศจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อการเกษตรและเศรษฐกิจภายในประเทศ ดังนั้นเพื่อปกป้องการเกษตรในประเทศหากมีการตรวจพบด้วงอิฐปนเปื้อนมากับสินค้าผู้นำเข้าจะต้องดำเนินการกำจัดด้วยการรมสารเมทิลโบรไมด์และส่งกลับคืนประเทศที่นำเข้ามาทันที

   ด้วงอิฐ มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย ปากีสถาน เนปาล ภูฏาน และมัลดีฟท์ เป็นแมลงที่มีลำตัวขนาดเล็ก มีสีน้ำตาลหรือมีจุดดำกระจัดกระจายบนปีกอย่างไม่มีรูปร่างที่แน่นอน ถือเป็นแมลงศัตรูในโรงเก็บที่สำคัญสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อเมล็ดพืช สามารถทำลายล้างเมล็ดธัญพืชและผลิตภัณฑ์ของเมล็ดธัญพืชที่สุดของโลกชนิดหนึ่ง อาหารธรรมชาติที่ด้วงชนิดนี้ชอบคือ ข้าวสาลี มอลต์ และข้าวบาร์เลย์ นอกจากนี้ตัวหนอนและตัวเต็มวัยยังมีความทนทานต่ออากาศที่ร้อนหรือแห้งได้เป็นเวลานาน สามารถอาศัยอยู่ในโรงเก็บได้นานนับปีโดยปราศจากอาหารและมีความต้านทานต่อการรมได้ดี

   ประเทศไทยนำเข้าข้าวสาลีจากออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา ยูเครน และอินเดีย ในปี 2560 มีการนำเข้าข้าวสาลีรวม 838 ชิปเม้นท์ จำนวนกว่า 2,724 ล้านกิโลกรัม มูลค่า 21,216 ล้านบาท ส่วนในปี 2561 (มกราคม – กันยายน) นำเข้าข้าวสาลีรวม 590 ชิปเม้นท์ ปริมาณ 2,349 ล้านกิโลกรัม มูลค่า 20,368 ล้านบาท

   “การนำเข้าข้าวสาลีจากต่างประเทศ นอกจากจะกำหนดเงื่อนไขต้องมีใบรับรองปลอดศัตรูพืชแนบมากับสินค้าแล้ว ยังได้สั่งการให้ด่านตรวจพืชทุกด่านของกรมวิชาการเกษตรเฝ้าระวังและเข้มงวดในการสุ่มตรวจสินค้าธัญพืชที่นำเข้าจากประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศที่มีด้วงอิฐระบาดภายในประเทศ โดยการสุ่มตรวจของเจ้าหน้าที่เป็นไปตามแนวทางสากลที่ทุกประเทศปฏิบัติ เพราะหากมีศัตรูพืชกักกันที่ไม่เคยปรากฏในประเทศไทยปนเปื้อนมากับสินค้าจะสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อการเกษตร และเศรษฐกิจของประเทศ” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว