วันถ่ายทอดเทคโนโลยี ตรังโมเดล “การผลิตพริกไทยปะเหลียนปลอดภัยและเพิ่มมูลค่า 76 จังหวัด 76 โมเดล การผลิตสินค้าเกษตรมูลค่าสูง
วันถ่ายทอดเทคโนโลยี ตรังโมเดล “การผลิตพริกไทยปะเหลียนปลอดภัยและเพิ่มมูลค่า 76 จังหวัด 76 โมเดล การผลิตสินค้าเกษตรมูลค่าสูง
ศวพ.สตูล ร่วมงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี ตรังโมเดล “การผลิตพริกไทยปะเหลียนปลอดภัยและเพิ่มมูลค่า 76 จังหวัด 76 โมเดล การผลิตสินค้าเกษตรมูลค่าสูง
วันที่ 31 มกราคม 2567 นางสรัญญา ช่วงพิมพ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสตูล พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสตูล เข้าร่วมงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี ตรังโมเดล “การผลิตพริกไทยปะเหลียนปลอดภัยและเพิ่มมูลค่า โดยมี ดร.ภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เป็นประธานเปิดงาน นายทรงกลด สว่างวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง กล่าวต้อนรับ และนางประพิศ วองเทียม ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 8 กล่าวรายงาน ณ สวนพริกไทยตรัง ต.นาเมืองเพชร อ.สิเกา จ.ตรัง หลังพิธีเปิด ประธานในพิธีและคณะผู้บริหาร เยี่ยมชมนิทรรศการ 7 โมเดล และชมการสาธิตการขยายพันธุ์พริกไทยตรัง
กิจกรรมหลักของงานประกอบด้วย แปลงสาธิต นิทรรศการ แปลงต้นแบบระดับเขตและระดับจังหวัด จำนวน 7 โมเดล การเสวนา “การผลิตสินค้าเกษตรมูลค่าสูงในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง” การสาธิตการผลิตขยายพันธุ์พริกไทยตรัง และการสาธิตการผลิตขยายชีวภัณฑ์ของกรมวิชาการเกษตร รวมไปถึงการแจกพันธุ์พืช โดยผู้เข้าร่วมงานประกอบด้วยเกษตรกร ประชาชน ข้าราชการ พนักงาน บุคลากรภาครัฐ และนักเรียน นักศึกษา จำนวน 400 ราย
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสตูล เข้าร่วมจัดนิทรรศการเรื่อง จำปาดะ ไม้ผลอัตลักษณ์ GI จังหวัดสตูล ประกอบด้วย เรื่องพันธุ์จำปาดะสตูล การปลูกและการแปรรูปจำปาดะ และนำเกษตรกรต้นแบบดีเด่นของจังหวัดสตูล นายรอเสด ตาเดอิน จากสวนตาเดอิน ที่ตั้งแปลง ม.4 ตำบลควนโดน อำเภอควนโดน จังหวัดสตูล เข้าร่วมงานและเข้ารับใบประกาศนียบัตร “เกษตรกรต้นแบบดีเด่นในระดับจังหวัด” จาก ดร.ภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ซึ่งนายรอเสด ตาเดอิน มีคติประจำใจ คือ “ทำอะไร ต้องทำให้จริง ถ้าทำจริง ความสำเร็จต้องตามมา” โดยปัจจัยความสำเร็จ คือ มีความแน่วแน่ มุ่งมั่น ในแนวทางของตนเอง ไม่สนใจและไม่เสียกำลังใจในคำวิจารณ์ในทางลบ ทำจนได้เกิด “สวนตาเดอิน” สวนจำปาดะขวัญสตูล ไม่ทำเกษตรตามกระแส ให้คุณค่าพืชท้องถิ่นทำให้สร้างมูลค่า พร้อมๆกับการรักษาสมดุลชีวิตแบบอิสลาม ดูแลครอบครัวผ่านกิจกรรมการเกษตรและกิจกรรมทางศาสนาควบคู่กัน สินค้าที่สร้างรายได้สูง ได้แก่ จำปาดะผลสด จำปาดะทอดและต้นพันธุ์จำปาดะ