เทคโนโลยีการผลิตสับปะรดผลสดเพื่อการค้าในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง(ศวพ.8) - printable_version +- คลังเอกสารความรู้ (https://www.doa.go.th/share) +-- คลังข้อมูล: การจัดการความรู้ KM (https://www.doa.go.th/share/forumdisplay.php?fid=62) +--- คลังข้อมูล: วิจัยด้านพืชและเทคโนโลยีการเกษตร (https://www.doa.go.th/share/forumdisplay.php?fid=63) +--- เรื่อง: เทคโนโลยีการผลิตสับปะรดผลสดเพื่อการค้าในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง(ศวพ.8) (/showthread.php?tid=2408) |
เทคโนโลยีการผลิตสับปะรดผลสดเพื่อการค้าในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง(ศวพ.8) - doa - 24-09-2020 สับปะรดผลสดภาคใต้ตอนล่าง
ลักษณะเฉพาะ และเอกลักษณ์
“มะลิ” คือชื่อเรียกสับปะรดในภาษาท้องถิ่นของชาวอําเภอป่าบอน จังหวัดพัทลุง ซึ่งเป็นอําเภอที่มีชื่อเสียงด้านการผลิตสับปะรดและมีผลผลิตขายให้แก่ผู้เดินทางผ่านจังหวัดพัทลุงมายาวนาน ผลผลิตของพัทลุงได้ส่งขายไปยังแหล่งต่างๆ ในภูมิภาคและส่งออกต่างประเทศ
“มะลิป่าบาก” เป็นชื่อที่ผู้บริโภครู้จักสับปะรดของอําเภอป่าบอน จังหวัดพัทลุง มีจุดแข็งที่แหล่งสับปะรดอื่นๆ ไม่มีชัดเจน คือ ด้านราคาและรายได้ของเกษตรกร หากเปรียบเทียบกับแหล่งผลิตใหญ่อย่างจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เกษตรกรพัทลุงขายได้ราคาสูงกว่าประมาณ 2 - 3 เท่า ตั้งแต่อดีตเป็นต้นมาเกษตรกรจังหวัดพัทลุงส่วนใหญ่พัฒนาการผลิตสับปะรดให้เติบโตก้าวหน้ามาด้วยภูมิปัญญาที่สร้างสมกันมา ซึ่งแตกต่างกับการปลูกในภาคกลางที่เป็นแหล่งผลิตใหญ่ของประเทศ “เนื้อแก้ว” คือ ลักษณะบ่งชี้คุณภาพผลผลิตสําหรับการบริโภคผลสดในพื้นที่ การแบ่งเกรดสับปะรดบริโภคผลสด จะแบ่งเป็น 3 เกรดคุณภาพ คือ ผลเนื้อแก้วเกรด 1 ลักษณะผลมีเนื้อฉ่ํา 3 ใน 4 หรือทั้งผล เวลาเคาะผลจะมีเสียงดังแน่นทึบคล้ายการดีดนิ้วกับลําแขน สีของเนื้อผล มีสีเหลือง สีเข้มกว่าเกรดอื่นๆ รสหวานมากกว่าเปรี้ยว ระยะเวลาที่เหมาะสมกับการบริโภคไม่ควรเกิน 3 วันหลังการเก็บเกี่ยว ผลเนื้อแก้วเกรด 2 ลักษณะผลมีเนื้อฉ่ํา 1 ใน 2 ถึง 3 ใน 4 ของผล สีของเนื้อผล มีสีเหลือง และขาว รสหวานอมเปรี้ยว ระยะเวลาที่เหมาะสมกับการบริโภคนานกว่าเกรดแก้ว1 จึงเป็นที่ต้องการของพ่อค้าผลสด ผลเนื้อเกรด 3 ผลที่ไม่เป็นแก้ว ลักษณะผลเนื้อธรรมดา มีสีขาว รสเปรี้ยว |