โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างความร่วมมือ ในการศึกษาค้นคว้า ทดลอง วิจัย ปรับปรุงและพัฒนาพันธุ์ยางพารา ระหว่างหน่วยงานทั้งสองฝ่าย และเพื่อส่งเสริม สนับสนุน การประกาศขึ้นทะเบียนเป็นต้นยางพันธุ์ดีตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
การยางแห่งประเทศไทย มีความประสงค์ที่จะดำเนินงานวิจัยด้านยางพารา ร่วมกับกรมวิชาการเกษตร ในพื้นที่กรมวิชาการเกษตร จำนวน 31 แปลง รวมทั้งแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการ ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้เล็งเห็นถึงความสำคัญ ในการศึกษาค้นคว้าทดลองวิจัยด้านยางพารา รวมทั้งเห็นว่าผลงานวิจัยที่ได้จากโครงการวิจัยดังกล่าว สามารถสร้างประโยชน์ในการพัฒนายางพาราอย่างเป็นรูปธรรม ยั่งยืน สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบกิจการยาง ทั้งนี้ทางกรมวิชาการเกษตรได้หารือกับสถาบันวิจัยยาง และได้กำหนดงานทดลองเพิ่มเติมขึ้นจำนวน 3 การทดลอง ได้แก่ งานวิจัยสนับสนุนการพัฒนาคาร์บอนเครดิต ส่งเสริมความเป็นกลางทางคาร์บอน และลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก งานวิจัยแก้ปัญหาโรคใบร่วงยางพารา และงานวิจัยนวัตกรรมอากาศยานไร้คนขับเพื่อการเกษตรสำหรับการแก้ไข และป้องกันโรคอุบัติใหม่ในยางพารา
กรมวิชาการเกษตร กับ การยางแห่งประเทศไทย จะดำเนินการตั้งคณะกรรมการงานวิจัยยางพาราร่วมกัน เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมืองานวิจัยยางพารา ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้
นอกจากนี้ กรมวิชาการเกษตร กับ การยางแห่งประเทศไทย มีความร่วมมือในการปฏิบัติงานเรื่องการตรวจปริมาณยางคงเหลือ โดยได้ดำเนินการตั้งคณะทำงานสอบทานปริมาณยาง ซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ 3 หน่วยงาน คือ กรมวิชาการเกษตร การยางแห่งประเทศไทย และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) โดยกรมวิชาการเกษตรได้ประกาศแต่งตั้งเจ้าหน้าที่การยางแห่งประเทศไทย และกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติควบคุมยางเพิ่มเติม เพื่อการป้องกันและปราบปราบกับผู้กระทำผิดตามกฎหมาย และยกระดับราคายางพารา นำไปสู่ราคายางพาราไทยให้มีเสถียรภาพ