นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่าประเทศไทยมีกำลังการผลิตยางพาราเฉลี่ย 4.5 ล้านตันต่อปี แต่ภายในประเทศใช้เพียง 5 แสนต้นต่อปี ที่เหลือ 4 ล้านตันส่งออกต่างประเทศ ส่งผลให้ราคายางตกต่ำตามกลไกตลาดโลก รัฐบาลจึงได้ดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง อาทิ การส่งเสริมการแปรรูปและเพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศ เช่น ถุงมือยาง รองเท้าเครื่องนอน สายพานลำเลียง แผ่นรองรางรถไฟ ท่อยาง อุปกรณ์จราจร บล็อกตัวหนอนสำหรับปูพื้นสนามกีฬา สนามเด็กเล่น และทางเท้า เป็นต้น เพื่อที่จะไม่พึ่งพาการส่งออกเพียงอย่างเดียว พร้อมจัดให้มีมาตรการลดหย่อนภาษีผลิตภัณฑ์จากยางพารา และมาตรการจูงใจให้บริษัทสัญชาติไทยและบริษัทจากต่างประเทศลงทุนตั้งโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพารา ในพื้นที่โครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
นอกจากนั้น กระทรวงเกษตรฯ ยังได้ดำเนินมาตรการระยะกลางและระยะยาวเพื่อกระตุ้นราคายางโดยเพิ่มสัดส่วนการใช้ยางภายในประเทศ ที่สำคัญ คือ โครงการสร้างถนนผสมยางพารา 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตร ความยาวถนนดินลูกรังที่อยู่ในแผนปรับเป็นถนนดินซีเมนต์ปรับปรุงคุณภาพด้วยยางพาราไร้ฝุ่นระยะทางยาง 300,000 กิโลเมตร ซึ่งแต่ละท้องถิ่นจะทยอยจัดทำถนนผสมยางแทนถนนลูกรังปีละ 50,000 กิโลเมตร ทั้งนี้ ถนน 1 กิโลเมตรใช้ยางพารา 1.3 ตัน จึงคาดว่าปริมาณการใช้ในโครงการสร้างถนนจะไม่ต่ำกว่าปีละ 1 ล้านตัน นอกจากนี้ อปท. ยังนำยางพาราไปสร้างสนามกีฬาอีกด้วย
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ ยังได้ดำเนินมาตรการปรับลดพื้นที่ปลูกยางพาราที่มีอายุมากให้ผลผลิตน้อยไม่คุ้มค่า โดยมีเป้าหมายลดพื้นที่ปีละ 500,000 ไร่ เพื่อให้ปริมาณการผลิตยางพาราของประเทศมีไม่เกิด 4 ล้านตัน เพื่อรักษาสมดุลอุปสงค์ อุปทาน และราคามีเสถียรภาพ ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวทั้งด้านการเพิ่มความต้องการใช้ยางพาราภายในประเทศ และการปรับลดปริมาณพื้นที่ปลูกทำให้ราคายางพาราปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม 2561 ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 เฉลี่ยกิโลกรัมละ 42.91 บาท เป็นราคา 55.89 บาทต่อ กก. (ข้อมูล ณ วันที่ 4 มิ.ย. 62)
แหล่งอ้างอิงข้อมูลจาก https://www.moac.go.th/news-preview-411391791922