12-04-2015, 10:41 AM
การศึกษาชีววิทยาและการป้องกันกำจัดไรลูกโป่ง Dolichocybe indica Mahunka ในเห็ดโดยการใช้สารฆ่าไร
พิเชฐ เชาวน์วัฒนวงศ์, เทวินทร์ กุลปิยะวัฒน์, อัจฉรา พยัพพานนท์, มานิตา คงชื่นสิน และพลอยชมพู กรวิภาสเรือง
กลุ่มกีฏและสัตววิทยา และกลุ่มวิจัยโรคพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช
พิเชฐ เชาวน์วัฒนวงศ์, เทวินทร์ กุลปิยะวัฒน์, อัจฉรา พยัพพานนท์, มานิตา คงชื่นสิน และพลอยชมพู กรวิภาสเรือง
กลุ่มกีฏและสัตววิทยา และกลุ่มวิจัยโรคพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช
การศึกษาการเพิ่มปริมาณไรลูกโป่ง ชีววิทยา การทำลาย อาหาร และการป้องกันกำจัดไรลูกโป่ง ประกอบด้วย 5 การทดลอง คือ 1.วิธีการเลี้ยงไรลูกโป่งให้ได้ปริมาณมาก 2.ชีววิทยาของไรลูกโป่ง 3.การทำลายเห็ดหูหนูของไรลูกโป่ง 4.ศึกษาเห็ดชนิดต่าง ๆ ที่เป็นอาหารของไรลูกโป่ง และ 5.ทดสอบประสิทธิภาพของสารฆ่าไรในการป้องกันกำจัดไรลูกโป่งระยะก่อนท้องในสภาพโรงเรือน ที่ห้องปฏิบัติการกลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช ซึ่งอุณหภูมิอยู่ระหว่าง 27±2 องศาเซลเซียส และความชื้นสัมพัทธ์ 65±3% และที่โรงเรือนเพาะเห็ดกลุ่มวิจัยโรคพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช ระหว่างเดือนตุลาคม พ.ศ. 2548 - กันยายน พ.ศ. 2552 ผลการทดลองพบว่า วิธีการเลี้ยงไรลูกโป่งให้ได้ปริมาณมากพอเพียงต่อความต้องการและสะดวกต่อการนำไปใช้ในงานทดลองด้านต่าง ๆ คือ การใช้หัวเชื้อข้าวฟ่างใส่ในขวดฝาเกลียวขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 ซม. สูง 8.5 ซม. โดยใส่เมล็ดข้าวฟ่างสูง 1.5 ซม. จากก้นขวด ไรลูกโป่งเพศเมียระยะก่อนท้องใช้เวลานานเฉลี่ย 3.22 วัน ไรลูกโป่งเพศเมียระยะตั้งท้องใช้เวลานานเฉลี่ย 7.22 วัน สามารถให้ลูกได้เฉลี่ย 109.53 ตัว/เพศเมีย การทำลายเห็ดหูหนูของไรลูกโป่งจำนวน 200 ตัว/ก้อน ในขณะที่เส้นใยเริ่มเดินมีผลทำให้ผลผลิตลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ถูกไรลูกโป่งทำลาย
เห็ดที่ไรลูกโป่งสามารถทำลายได้ 4 ชนิด ได้แก่ เห็ดหูหนู เห็ดเข็มเงิน เห็ดแครง และเห็ดยานางิ ส่วนเห็ดที่ไรลูกโป่งไม่สามารถทำลายได้ ได้แก่ เห็ดขอนขาว เห็ดนางฟ้า เห็ดกระด้าง เห็ดนางรม เห็ดนางรมอังการี และเห็ดหอม และสารฆ่าไรที่มีประสิทธิภาพดีในการป้องกันกำจัดไรลูกโป่ง ได้แก่ amitraz อัตรา 40 มล./น้ำ 20 ลิตร pyridaben อัตรา 15 กรัม/น้ำ 20 ลิตร propargite อัตรา 40 กรัม/น้ำ 20 ลิตร และ fenbutatin oxide อัตรา 10 มล./น้ำ 20 ลิตร พบไรลูกโป่งในขวดหัวเชื้อเห็ดสูงสุดในเดือน มิถุนายน โดยพบมากถึง 100% รองลงมาคือ เดือนกันยายน พบ 4% ไม่พบไรลูกโป่งในเดือน มกราคม พฤษภาคม กรกฎาคม และกันยายน