การศึกษาชีววิทยาและการป้องกันกำจัดไรลูกโป่ง D. indica Mahunka ในเห็ดโดยการใช้สารฆ่าไร - printable_version +- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research) +-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1) +--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2553 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=8) +--- เรื่อง: การศึกษาชีววิทยาและการป้องกันกำจัดไรลูกโป่ง D. indica Mahunka ในเห็ดโดยการใช้สารฆ่าไร (/showthread.php?tid=665) |
การศึกษาชีววิทยาและการป้องกันกำจัดไรลูกโป่ง D. indica Mahunka ในเห็ดโดยการใช้สารฆ่าไร - doa - 12-04-2015 การศึกษาชีววิทยาและการป้องกันกำจัดไรลูกโป่ง Dolichocybe indica Mahunka ในเห็ดโดยการใช้สารฆ่าไร พิเชฐ เชาวน์วัฒนวงศ์, เทวินทร์ กุลปิยะวัฒน์, อัจฉรา พยัพพานนท์, มานิตา คงชื่นสิน และพลอยชมพู กรวิภาสเรือง กลุ่มกีฏและสัตววิทยา และกลุ่มวิจัยโรคพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช การศึกษาการเพิ่มปริมาณไรลูกโป่ง ชีววิทยา การทำลาย อาหาร และการป้องกันกำจัดไรลูกโป่ง ประกอบด้วย 5 การทดลอง คือ 1.วิธีการเลี้ยงไรลูกโป่งให้ได้ปริมาณมาก 2.ชีววิทยาของไรลูกโป่ง 3.การทำลายเห็ดหูหนูของไรลูกโป่ง 4.ศึกษาเห็ดชนิดต่าง ๆ ที่เป็นอาหารของไรลูกโป่ง และ 5.ทดสอบประสิทธิภาพของสารฆ่าไรในการป้องกันกำจัดไรลูกโป่งระยะก่อนท้องในสภาพโรงเรือน ที่ห้องปฏิบัติการกลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช ซึ่งอุณหภูมิอยู่ระหว่าง 27±2 องศาเซลเซียส และความชื้นสัมพัทธ์ 65±3% และที่โรงเรือนเพาะเห็ดกลุ่มวิจัยโรคพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช ระหว่างเดือนตุลาคม พ.ศ. 2548 - กันยายน พ.ศ. 2552 ผลการทดลองพบว่า วิธีการเลี้ยงไรลูกโป่งให้ได้ปริมาณมากพอเพียงต่อความต้องการและสะดวกต่อการนำไปใช้ในงานทดลองด้านต่าง ๆ คือ การใช้หัวเชื้อข้าวฟ่างใส่ในขวดฝาเกลียวขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 ซม. สูง 8.5 ซม. โดยใส่เมล็ดข้าวฟ่างสูง 1.5 ซม. จากก้นขวด ไรลูกโป่งเพศเมียระยะก่อนท้องใช้เวลานานเฉลี่ย 3.22 วัน ไรลูกโป่งเพศเมียระยะตั้งท้องใช้เวลานานเฉลี่ย 7.22 วัน สามารถให้ลูกได้เฉลี่ย 109.53 ตัว/เพศเมีย การทำลายเห็ดหูหนูของไรลูกโป่งจำนวน 200 ตัว/ก้อน ในขณะที่เส้นใยเริ่มเดินมีผลทำให้ผลผลิตลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ถูกไรลูกโป่งทำลาย
เห็ดที่ไรลูกโป่งสามารถทำลายได้ 4 ชนิด ได้แก่ เห็ดหูหนู เห็ดเข็มเงิน เห็ดแครง และเห็ดยานางิ ส่วนเห็ดที่ไรลูกโป่งไม่สามารถทำลายได้ ได้แก่ เห็ดขอนขาว เห็ดนางฟ้า เห็ดกระด้าง เห็ดนางรม เห็ดนางรมอังการี และเห็ดหอม และสารฆ่าไรที่มีประสิทธิภาพดีในการป้องกันกำจัดไรลูกโป่ง ได้แก่ amitraz อัตรา 40 มล./น้ำ 20 ลิตร pyridaben อัตรา 15 กรัม/น้ำ 20 ลิตร propargite อัตรา 40 กรัม/น้ำ 20 ลิตร และ fenbutatin oxide อัตรา 10 มล./น้ำ 20 ลิตร พบไรลูกโป่งในขวดหัวเชื้อเห็ดสูงสุดในเดือน มิถุนายน โดยพบมากถึง 100% รองลงมาคือ เดือนกันยายน พบ 4% ไม่พบไรลูกโป่งในเดือน มกราคม พฤษภาคม กรกฎาคม และกันยายน
|