การประเมินการเจริญเติบโตของต้นยางในเขตปลูกยางใหม่
#1
การประเมินการเจริญเติบโตของต้นยางในเขตปลูกยางใหม่
พิศมัย  จันทุมา, วารุณี บุญนำ, เอนก กุณาละสิริ, ศุภมิตร ลิมปิชัย, เฉลิมพงษ์ ขาวช่วง, นภาวรรณ เลขะวิพัฒน์, กฤษดา สังข์สิงห์, รัตน์ติยา พวงแก้ว, ดารุณี โกศัยเสวี, สุรเดช ปัจฉิมกุล, พุฒนา รุ่งระวี, อารักษ์ จันทุมา และศจีรัตน์ แรมลี
ศูนย์วิจัยยางฉะเชิงเทรา, กลุ่มวิชาการ, กลุ่มวิจัยเศรษฐกิจ, ศูนย์วิจัยยางสงขลา, ศูนย์วิจัยพืชและพัฒนาการเกษตรบุรีรัมย์  สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4, ศูนย์วิจัยยางสงขลา, ศูนย์วิจัยยางสุราษฎร์ธานี, ศูนย์วิจัยยางหนองคาย และกองแผนงานและวิชาการ  กรมวิชาการเกษตร

          การขยายพื้นที่ปลูกยางไปในเขตปลูกยางใหม่ในช่วงปี พ.ศ.2547 - 2549 สถาบันวิจัยยาง และหน่วยงานของกรมวิชาการเกษตรได้ศึกษาเพื่อวิเคราะห์การเจริญเติบโตของยางในแต่ละสภาพแวดล้อม เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการจัดทำมาตรฐานการเจริญเติบโตของต้นยางในเขตปลูกยางใหม่เป็นฐานข้อมูลในการวางแผนเพิ่มผลผลิตยาง และชี้แนะให้เกษตรกรได้ตระหนักถึงผลเสียของการกรีดยางต้นเล็กจึงได้สำรวจสวนยาง 17 จังหวัดในเขตภาคเหนือ และ 19 จังหวัดในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่า การเจริญเติบโตของต้นยางในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีขนาดเส้นรอบลำต้นต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานการเจริญเติบโตของยางในเขตแห้งแล้ง 17% และ 12% ตามลำดับ ทำให้มีสวนยางที่ได้ขนาดเปิดกรีดคือ มีขนาดเส้นรอบลำต้น 50 ซม. วัดที่ระดับ 1.50 เมตร จากพื้นดิน และมีจำนวนต้นกรีดไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของทั้งสวน โดยยางปลูกปี 2547 คาดว่าจะเริ่มเปิดกรีดยางได้ครั้งแรกในเดือนพฤษภาคม 2554 (ยางอายุ 7 ปี) มีจำนวนสวนยางที่ได้ขนาดเพียงร้อยละ 10 ของสวนยางทั้งหมด และจำนวนสวนยางอีกร้อยละ 11 เปิดกรีดในเดือนตุลาคม 2554 (ยางอายุ 7½ ปี) สำหรับสวนยางส่วนใหญ่ร้อยละ 79 จะเปิดกรีดได้ในเดือนพฤษภาคม 2555 (ยางอายุ 8 ปี) และพบว่า สวนยางในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ปลูกปี 2547 และ 2548 มีจำนวนสวนที่เปิดกรีดแล้วร้อยละ 5 จากสวนยางทั้งหมด คิดเป็นพื้นที่ 19,751 ไร่ ในภาคเหนือส่วนใหญ่ยังไม่เปิดกรีด โดยสวนยางที่เปิดกรีดแล้วมีขนาดเส้นรอบลำต้นเฉลี่ย 32.1 ซม. ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานของสถาบันวิจัยยาง สำหรับการประเมินความเสียหายจากการกรีดยางต้นเล็กคือ การกรีดยางต้นขนาด 50 ซม. มีค่า NPV, B/C ratio และ IRR สูงสุดเมื่อเปรียบเทียบกับการกรีดยางต้นเล็ก ดังนั้นการกรีดยางต้นเล็กกว่า 45 ซม. ไม่คุ้มค่าการลงทุน ยิ่งเปิดกรีดยางต้นเล็กยิ่งทำให้เกษตรกรและประเทศชาติสูญเสียรายได้มากยิ่งขึ้น


ไฟล์แนบ
.pdf   1533_2553.pdf (ขนาด: 660.51 KB / ดาวน์โหลด: 4,728)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 2 ผู้เยี่ยมชม