01-10-2017, 01:36 PM
วิจัยและพัฒนาพืชเศรษฐกิจเฉพาะพื้นที่ภาคตะวันออก
หฤทัย แก่นลา
โครงการวิจัยที่ 1 วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตกระวานและเร่วในพื้นที่ภาคตะวันออก
หฤทัย แก่นลา, สุชาดา ศรีบุญเรือง, นพดล แดงพวง, สาลี่ ชินสถิต, เพ็ญจันทร์ วิจิตร, ชูชาติ วัฒนวรรณ, พินิจ กัลยาศิลปิน, ประเสริฐ อุปถัมภ์ และจารุรัตน์ พุ่มประเสริฐ
สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรปราจีนบุรี, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตระยอง และกองวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร
วิจัยและพัฒนาการผลิตกระวานและเร่วในพื้นที่ภาคตะวันออก เพื่อศึกษาและสำรวจข้อมูลการผลิตกระวานและเร่วในพื้นที่ภาคตะวันออก ศึกษาผลของรังสีแกมมาต่อการรอดชีวิต การเจริญเติบโตและอัตราการกลายพันธุ์ของกระวานสายพันธุ์จันทบุรี และเพื่อศึกษาระยะปลูกและการใช้ปุ๋ยในเร่ว ดำเนินการปี 2554 - 2556 ในพื้นที่ภาคตะวันออก จากการศึกษาและสำรวจข้อมูลการผลิตกระวานและเร่วในพื้นที่ภาคตะวันออกพบว่า การผลิตกระวานและเร่วเชิงการค้าส่วนใหญ่อยู่ที่จังหวัดจันทบุรี ซี่งเกษตรกรส่วนใหญ่เก็บผลผลิตจากป่า การดูแลรักษามีการกำจัดวัชพืช เก็บผลผลิตช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม กระวานได้ผลผลิตเฉลี่ย 50 - 70 กิโลกรัมต่อไร่ มีต้นทุนการผลิต 1,000 บาทต่อไร่ เป็นค่ากำจัดวัชพืช ค่าเก็บ ปลิด และขนย้ายผลผลิต ราคาขายอยู่ในช่วง 250 - 280 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนเร่วไม่มีการจัดการดูแล เก็บผลผลิตจากป่า ราคาขาย 400 - 450 บาทต่อกิโลกรัม และผลการศึกษาผลของรังสีแกมมาต่อการรอดชีวิต การเจริญเติบโตและอัตราการกลายพันธุ์ของกระวานสายพันธุ์จันทบุรี ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจันทบุรี โดยวางแผนการทดลองแบบ CRD จำนวน 13 กรรมวิธีๆ ละ 15 ต้น ได้แก่ ไม่ฉายรังสี (control) 0 38.34 59.90 82.56 106.5 120.07 29.01 164.29 187.61 229.34 256.72 331.19 และ 451.33 เกรย์ หลังจากนำตัวอย่างกระวานไปฉายรังสีแล้วเป็นเวลา 2 ปี พบว่าปริมาณรังสีมีผลต่อเปอร์เซ็นต์การรอดชีวิตของต้นกระวาน โดยกรรมวิธีที่ไม่ได้ฉายรังสีมีเปอร์เซ็นต์การรอดชีวิตสูงที่สุดเท่ากับ 100 เปอร์เซ็นต์ รองลงมา คือ กรรมวิธีที่ได้รับปริมาณรังสีที่ 38.34 และ 59.90 เกรย์ เท่ากับ 60 และ 6.67 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ และปริมาณรังสีตั้งแต่ 82.56 เกรย์ขึ้นไป ทำให้ต้นกระวานตาย 100 เปอร์เซ็นต์ จึงไม่สามารถหาความแตกต่างทางสถิติได้ ส่วนผลของรังสีแกมมาต่อการเจริญเติบโตและอัตราการกลายพันธุ์ของกระวานพบว่า กรรมวิธีที่ไม่ได้รับปริมาณรังสีจะมีการเจริญเติบโตทางด้านความสูงๆ ที่สุด คือ 181.5 เซนติเมตร ส่วนกรรมวิธีที่ได้รับปริมาณรังสีที่ 38.34 และ 59.90 เกรย์ มีการเจริญเติบโตทางด้านความสูงเฉลี่ย 168.5 และ 180 เซนติเมตร จำนวนหน่อของกระวานพบว่า กรรมวิธีที่ไม่ได้รับปริมาณรังสีมีจำนวนหน่อต่ำกว่ากรรมวิธีที่ได้รับรังสี คือ กรรมวิธีที่ได้รับปริมาณรังสีที่ 59.90 ไม่ได้รับการฉายรังสี (control) และ 38.34 เกรย์ มีจำนวนหน่อเฉลี่ย 28 19.4 และ 20.9 หน่อ ตามลำดับ ขนาดหน่อพบว่า กรรมวิธีที่ได้รับปริมาณรังสีที่ 59.90 38.34 เกรย์ และกรรมวิธีที่ไม่ได้รับการฉายรังสี มีขนาดหน่อเฉลี่ย 1.3 1.2 และ 1.2 เซนติเมตร ตามลำดับ ส่วนอัตราการกลายพันธุ์ของกระวานพบว่า กรรมวิธีที่รับการฉายรังสีมีโอกาส ที่จะพบต้นที่กลายพันธุ์หรือมีลักษณะทาง morphology ในด้านของการแตกหน่อ ลักษณะลำต้น และลักษณะใบ มากกว่ากรรมวิธีที่ไม่ได้รับการฉายรังสี
ส่วนการศึกษาระยะปลูกและการใช้ปุ๋ยในเร่วในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี วางแผนการทดลองแบบ split plot in RCB ปัจจัยหลัก คือ ระยะปลูก จำนวน 2 ระยะ ได้แก่ ระยะ 2 x 2 เมตร และ 3 x 3 เมตร ปัจจัยรอง คือ ปุ๋ย จำนวน 4 อัตรา ได้แก่ 1. ไม่ใช้ปุ๋ย 2. ปุ๋ยหมักอัตรา 2 กิโลกรัมต่อตารางเมตร 3. ปุ๋ยหมักอัตรา 2 กิโลกรัมต่อตารางเมตร และปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ 4. ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ ผลการทดลองพบว่า เมื่อเร่วอายุ 1 ปี 6 เดือน ที่ระยะปลูก 2 x 2 เมตร ใส่ปุ๋ยหมักอัตรา 2 กิโลกรัมต่อตารางเมตร มีความสูงเฉลี่ยมากที่สุด 350.2 เซนติเมตร และที่ระยะปลูก 3 x 3 เมตร ปุ๋ยหมัก อัตรา 2 กิโลกรัมต่อไร่ มีจำนวนหน่อเฉลี่ยมากที่สุด 66.3 หน่อ ส่วนด้านการออกดอกและผลผลิต พบว่าที่ระยะปลูก 2 x 2 เมตร จะมีจำนวนดอกต่อกอ จำนวนช่อดอกที่ติดผล จำนวนผลต่อช่อ มากกว่าที่ระยะปลูก 3 x 3 เมตร
โครงการวิจัยที่ 2 การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการผลิตสับปะรดพันธุ์ตราดสีทอง
เพ็ญจันทร์ วิจิตร, หฤทัย แก่นลา, ปรีชา ภูสีเขียว, สุรเดช ปัจฉิมกุล, โอภาส จันทสุข และอุมาพร รักษาพราหมณ์
สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6
สับปะรดพันธุ์ตราดสีทองเป็นสับปะรดรับประทานผลสดมีความโดดเด่นด้านรสชาติเป็นที่นิยมของผู้บริโภค เป็นพืชเศรษฐกิจท้องถิ่นที่มีศักยภาพสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร การใช้ปัจจัยการผลิตไม่เหมาะสมเป็นปัญหาทำให้ได้ผลผลิตปริมาณและคุณภาพต่ำ การศึกษานี้เพื่อศึกษาสภาพการผลิตสับปะรดตราดสีทองของเกษตรกรในพื้นที่ และทดสอบเทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสม สอดคล้องกับสภาพการผลิตของเกษตรกร ได้ผลผลิตคุณภาพและได้รับตอบแทนที่สูงขึ้น การศึกษาประกอบด้วย 1) ระบบการผลิตสับปะรดพันธุ์ตราดสีทองของเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดตราด ศึกษาโดยใช้แบบสัมภาษณ์โดยการสุ่มแบบเฉพาะเจาะจงกับเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดตราดสีทองในพื้นที่จังหวัดตราด จำนวน 70 ราย ปีการผลิต 2554 การศึกษาพบว่า เกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดตราดสีทองส่วนใหญ่ประกอบอาชีพหลัก คือ ทำสวนยางพารา การถือครองที่ดินในพื้นที่ปลูกสับปะรดส่วนใหญ่ที่ดินเป็นของผู้อื่นเกษตรกรไม่เสียค่าเช่า ระบบการปลูกส่วนใหญ่ปลูกแซมในสวนยาง ส่วนใหญ่ปลูกแบบแถวคู่ ระยะปลูก 30 x 50 x 100 เซนติเมตร เกษตรกรไม่ใส่ปุ๋ยเคมีรองก้นหลุม แต่มีส่วนน้อยใช้ปุ๋ยอินทรีย์รองพื้นก่อนปลูก ส่วนใหญ่ใส่ปุ๋ยบำรุงต้น จำนวน 2 ครั้งก่อนบังคับดอก มีความหลากหลายของเกรดปุ๋ยที่ใช้ของเกษตรกรแต่ละราย บังคับดอกเมื่อต้นมีอายุ 8 - 12 เดือน ด้วยสารเอธิฟอน 50%WP ร่วมกับปุ๋ยยูเรีย การเก็บเกี่ยวประเมินจากอายุผลและองค์ประกอบอื่นร่วมด้วยการจำหน่ายผลผลิตส่วนใหญ่ขายเหมายกสวนให้กับพ่อค้ารับซื้อ การผลิตได้รับกำไรสุทธิเฉลี่ย 8,702.44 บาท/ไร่ 2) การทดสอบและพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการผลิตสับปะรดพันธุ์ตราดสีทองในพื้นที่จังหวัดตราด ทำการทดสอบเปรียบเทียบเทคโนโลยีการผลิตสับปะรดตราดสีทองตามคำแนะนำในเรื่องการคัดหน่อพันธุ์ และการใช้ปุ๋ยที่เหมาะสมในระยะการเจริญเติบโต เปรียบเทียบกับเทคโนโลยีที่เกษตรกรปฏิบัติอยู่ ดำเนินการในพื้นที่เกษตรกรจังหวัดตราด ในปี 2554 – 2558 ผลการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างวิธีทดสอบและวิธีเกษตรกรพบว่า วิธีทดสอบมีการเจริญเติบโต ได้แก่ ความยาวใบ ความก้วางใบ และจำนวนใบ สูงกว่าวิธีเกษตรกร น้ำหนักเฉลี่ยของผลผลิต มีค่าเฉลี่ย 1.64 และ 1.52 กิโลกรัมต่อผล ค่าความหวานเฉลี่ยเท่ากับ 14.83 และ 14.46 องศาบริกซ์ และค่าเฉลี่ยปริมาณกรดรวมมีค่าเท่ากับร้อยละ 0.73 และ 0.70 ต้นทุนผันแปรเฉลี่ยเท่ากับ 12,778.00 และ 12,980.00 บาท/ไร่ รายได้เฉลี่ยเท่ากับ 27,081.14 และ 25,956.85 บาท/ไร่ ผลตอบแทนเฉลี่ยเท่ากับ 14,303.14 และ 12,976.85 บาท/ไร่ และค่า BCR เท่ากับ 2.12 และ 2.00 ตามลำดับ เปรียบเทียบผลตอบแทนทั้งสองวิธีในแปลงทดสอบและขยายผลพบว่า วิธีทดสอบได้รับผลตอบแทนสูงกว่าวิธีเกษตรกร คิดเป็นร้อยละ 20.71 การคัดแยกเกรดผลผลิตเพื่อจำหน่ายตามเกณฑ์กำหนดขนาดผล เพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร คิดเป็นร้อยละ 20.86 – 26.86
โครงการวิจัยที่ 3 วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตสละ
ยุทธศักดิ์ เจียมไชยศรี, อภิรัชต์ สมฤทธิ์, ธารทิพย ภาสบุตร, ศรีนวล สุราษฎร์, วนาพร วงษ์นิคง, ศรุต สุทธิอารมณ์, ศรีจำนรรจ์ ศรีจันทรา, วิภาดา ปลอดครบุรี, บุษบง มนัสมั่นคง, อิทธิพล บรรณาการ และประชาธิปัตย์ พงษ์ภิญโญ
การปลูกสละยังประสบปัญหาการเข้าทำลายของโรคผลเน่าและแมลงศัตรูสละ จึงต้องมีการศึกษาหาสาเหตุของการเข้าทำลายและศึกษาวิธีการป้องกันกำจัดที่เหมาะสม โดยในโรคผลเน่าจะดำเนินการสำรวจเก็บตัวอย่างเพื่อมาศึกษาหาเชื้อสาเหตุ และทำการทดสอบหาสารเคมีที่ใช้ป้องกันกำจัดในการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูที่เข้าทำลายช่อดอกและผล ซึ่งเป็นระยะที่อ่อนแอ จึงต้องศึกษาชนิดแมลง สาเหตุชีววิทยา และนิเวศวิทยา และแนวทางการป้องกันกำจัด
จากการศึกษาเชื้อราสาเหตุโรคผลเน่าในสละพบว่า สาเหตุโรค ได้แก่ เชื้อรา Marasmius palmivorus Sharples จะพบมากในช่วงฤดูฝน การศึกษาการป้องกันกำจัดพบว่า สารเคมีป้องกันกำจัดโรคพืชที่ได้ผลดี ได้แก่ pyraclostrobin 25%W/V EC อัตรา 15 มล./น้ำ 20 ลิตร และสาร tebuconazole + trifoxystrobin 50% + 25%WG อัตรา 10 กรัม/น้ำ 20 ลิตร พ่น 2 ครั้ง ครั้งแรกก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิต 2 เดือน ครั้งที่สองหลังจากครั้งแรก 7 วัน
การศึกษาชนิดของแมลงศัตรูในสละ พบว่าแมลงศัตรูที่เข้าทำลายต้นสละ ได้แก่ ด้วงแรดเล็ก (Oryctes rhinocerous Linnaeus) ด้วงแรดใหญ่ (Oryctes gnu Mohnr.) และด้วงงวงมะพร้าวชนิดเล็ก (Rhynchophorus furrugineus Oliver) แมลงศัตรูที่เข้าทำลายดอกสละได้แก่ ด้วงงวงจิ๋ว (Diocalandra frumenti Fabricius) ส่วนแมลงศัตรูที่เข้าทำลายผลสละ คือ ด้วงเจาะผลสละจัดอยู่ในวงศ์ Anthribidae การศึกษาชีววิทยา การเข้าทำลายของด้วงเจาะผลสละพบว่า ด้วงเจาะผลสละทำลายผลสละโดยหนอนกัดกินเนื้อของผลสละ และเข้าดักแด้ในเมล็ดไข่มีสีขาวขุ่น รูปร่างคล้ายหยดน้ำ ดักแด้มีสีขาวครีม ตัวเต็มวัยเป็นด้วงขนาดเล็กลำตัวรี ความยาวประมาณ 5 - 9 มิลลิเมตร ปีกแข็งสีน้ำตาล มีจุดสีดำกระจายทั่วทั้งปีก ปากเป็นแบบกัดกินรูปร่างแบนยาว ตารวมมีขนาดใหญ่เป็นรูปรีเห็นได้ชัดเจน ตัวเต็มวัยเพศเมียมีหนวดสั้นกว่าเพศผู้ ระยะไข่ 2 - 3 วัน ระยะหนอนประมาณ 30 วัน ระยะดักแด้ประมาณ 5 - 9 วัน ระยะตัวเต็มวัยประมาณ 5 - 60 วัน การผสมพันธุ์เกิดขึ้นในช่วงเช้า เพศเมียวางไข่ในผลสละบริเวณใต้เปลือก ด้วงเจาะผลสละเริ่มเข้าทำลายผลสละที่อายุประมาณ 7 เดือนขึ้นไป ซึ่งตรงกับช่วงที่สละเปลี่ยนสีจากสีน้ำตาลดำเป็นน้ำตาลแดง และเริ่มมีกลิ่นหอม ซึ่งการเข้าทำลายของด้วงเจาะผลสละชนิดนี้ไม่สามารถสังเกตจากภายนอก
การป้องกันกำจัดแมลงศัตรูสละ ดำเนินการทดลองระหว่างเดือนตุลาคม 2554 - กันยายน 2556 ที่แปลงเกษตรกรจังหวัดจันทบุรี ประกอบด้วย 2 การทดลอง ได้แก่ การทดสอบประสิทธิภาพสารเคมีเพื่อป้องกันกำจัดด้วงเจาะผลสละซึ่งเปรียบเทียบสารฆ่าแมลง 6 ชนิดกับกรรมวิธีไม่พ่นสาร และการศึกษาระยะเวลาและวัสดุที่เหมาะสมในการห่อผลสละเพื่อป้องกันแมลงศัตรูสละเข้าทำลายในระยะผล ผลการทดลองพบว่า สาร pirimiphos-methyl 50%EC อัตรา 50 มิลลิลิตร carbosulfan 20%EC อัตรา 50 มิลลิลิตร dinotefuran 10%WP อัตรา 20 กรัม clothianidin 16%SG อัตรา 10 กรัม และ fipronil 5%SC อัตรา 30 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร ให้ผลดีในการป้องกันการเข้าทำลายของด้วงเจาะผลสละ โดยพ่นทุก 15 วัน ตั้งแต่ผลสละอายุ 6 เดือน จนกระทั่งเก็บเกี่ยว และจากการวิเคราะห์สารพิษตกค้างในผลสละพบในปริมาณน้อย สามารถบริโภคได้อย่างปลอดภัย ส่วนการศึกษาระยะเวลาและวัสดุที่เหมาะสมในการห่อผลสละเพื่อป้องกันแมลงศัตรูสละเข้าทำลายในระยะผลพบว่า ทุกวัสดุที่ใช้ในการห่อผล ได้แก่ ถุงที่ทำจากผ้ามุ้ง ถุงปุ๋ย ถุงพลาสติกที่มีสาร chlorpyrifos 1% เป็นส่วนประกอบอยู่ภายใน และถุงห่อผลไม้ “ชุนฟง”สามารถป้องกันการเข้าทำลายของแมลงศัตรูสละได้ 100 เปอร์เซ็นต์ โดยต้องเริ่มห่อผลตั้งแต่ผลสละอายุ 6 เดือน และการห่อผลด้วยผ้ามุ้งพบผลเน่าน้อยกว่าวัสดุชนิดอื่นๆ
โครงการวิจัยที่ 4 วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตส้มจี๊ดที่เหมาะสมในพื้นที่ภาคตะวันออก
หฤทัย แก่นลา และคณะ
การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตส้มจี๊ดในพื้นที่ภาคตะวันออก มีวัตถุประสงค์เพื่อหาเทคโนโลยีในการผลิต การแปรรูปและการนำส้มจี๊ดไปใช้ประโยชน์ให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคตะวันออก ระหว่าง ปี 2555 - 2557 มี 2 การทดลอง ดังนี้ การทดลองที่ 1 วิจัยและพัฒนาการผลิตส้มจี๊ดในพื้นที่ภาคตะวันออก ประกอบด้วย 4 การทดลองย่อย คือ 1.1) ศึกษาระยะปลูกที่เหมาะสมของส้มจี๊ด โดยเปรียบเทียบระยะปลูก 4 ระยะ คือ 1.5x1.5 2x2 2.5x2.5 และ 3x3 เมตร 1.2) วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการเตรียมต้นให้พร้อมสำหรับการออกดอก 4 วิธี คือ ไม่มีการใส่ปุ๋ย, ใส่ปุ๋ยคอก อัตรา 10 กิโลกรัม/ต้น, ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 20-10-10 อัตรา 300 กรัม/ต้น และใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 300 กรัม/ต้น 1.3) วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการชักนำออกดอก 3 วิธี คือ ไม่มีการชักนำ, งดให้น้ำ และใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 12-24-12 อัตรา 300 กรัม/ต้น ร่วมกับการงดให้น้ำ 1.4) วิจัยและพัฒนาการจัดการปุ๋ยในระยะติดผลเพื่อเพิ่มผลผลิต 4 วิธี คือ ไม่มีการใส่ปุ๋ย, ใส่ปุ๋ยคอก อัตรา 10 กิโลกรัม/ต้น, ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 20-10-10 อัตรา 300 กรัม/ต้น และใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 300 กรัม/ต้น วางแผนการทดลองแบบ RCB 3 ซ้ำ ทุกการทดลอง ยกเว้นการทดลองย่อย 1.3 มี 4 ซ้ำ ผลการทดลองเมื่อเฉลี่ยทั้ง 3 ปี ด้านระยะปลูกพบว่า ส้มจี๊ดที่ใช้ระยะปลูก 3x3 เมตร มีการเจริญเติบโตและให้ผลผลิตมากกว่ากรรมวิธีอื่น โดยมีขนาดทรงพุ่มเฉลี่ย 134.9 เซนติเมตร ให้ผลผลิตเฉลี่ย 194.1 ผล/ต้น แต่ละผลมีน้ำหนักเฉลี่ย 19.3 กรัม และมีผลผลิต/ไร่ น้อยที่สุดเฉลี่ย 698.5 กิโลกรัม เนื่องจากมีจำนวนต้น/ไร่น้อยกว่ากรรมวิธีอื่น แต่มีต้นทุนการผลิตต่ำที่สุด 12,817 บาท/ไร่ ขณะที่ระยะปลูก 1.5x1.5 เมตร ให้ผลผลิต/ไร่มากที่สุดเฉลี่ย 1,515.4 กิโลกรัม แต่มีต้นทุนการผลิตสูงสุด 32,210 บาท/ไร่ ผลการทดลองด้านการเตรียมต้นให้พร้อมออกดอกพบว่า ส้มจี๊ดที่ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 มีการเจริญเติบโต ปริมาณดอก และผลผลิตมากกว่ากรรมวิธีอื่น โดยมีขนาดทรงพุ่มเฉลี่ย 147.8 เซนติเมตร จำนวนดอกเฉลี่ย 116.6 ดอก/ต้น ให้ผลผลิตเฉลี่ย 93.5 ผล/ต้น และมีผลผลิต/ไร่มากที่สุดเฉลี่ย 1,094.8 กิโลกรัม ขณะที่น้ำหนัก/ผลเฉลี่ยไม่แตกต่างจากกรรมวิธีอื่น ผลการทดลองด้านการชักนำให้ออกดอกพบว่า ส้มจี๊ดที่มีการชักนำให้ออกดอกด้วยกรรมวิธีต่างๆมีการเจริญเติบโตด้านทรงพุ่มไม่แตกต่างกัน แต่ต้นที่ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 12-24-12 ร่วมกับงดน้ำ มีปริมาณดอกและผลผลิตมากกว่ากรรมวิธีอื่น โดยมีจำนวนดอกเฉลี่ย 95.8 ดอก/ต้น ให้ผลผลิตเฉลี่ย 81.6 ผล/ต้น และมีผลผลิต/ไร่มากที่สุดเฉลี่ย 927.6 กิโลกรัม ขณะที่น้ำหนัก/ผลเฉลี่ยไม่แตกต่างจากกรรมวิธีอื่น ผลการทดลองด้านการจัดการปุ๋ยในระยะติดผลเพื่อเพิ่มผลผลิตพบว่า ส้มจี๊ดที่มีการจัดการปุ๋ยในระยะติดผลเพื่อเพิ่มผลผลิตด้วยกรรมวิธีต่างๆ มีการเจริญเติบโตด้านทรงพุ่มไม่แตกต่างกัน แต่ต้นที่ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 มีปริมาณผลผลิตมากกว่ากรรมวิธีอื่น โดยเฉลี่ย 109.2 ผล/ต้น และมีผลผลิต/ไร่มากที่สุดเฉลี่ย 661.4 กิโลกรัม ขณะที่น้ำหนัก/ผลเฉลี่ยไม่แตกต่างจากกรรมวิธีอื่น
การทดลองที่ 2 การศึกษากรรมวิธีการแปรรูปและการใช้ประโยชน์จากส้มจี๊ด 2.1) การศึกษากรรมวิธีแปรรูปส้มจี๊ด แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์มี 7 รูปแบบ ได้แก่ น้ำส้มจี๊ดพร้อมดื่ม แยมส้มจี๊ด มาร์มาเลดส้มจี๊ด เยลลี่ส้มจี๊ด ส้มจี๊ดแช่อิ่มอบแห้ง ไอศกรีมเชอร์เบทส้มจี๊ด และเค้กส้มจี๊ด ซึ่งแต่ละผลิตภัณฑ์ใช้ผู้ทดสอบ 30 ราย ผลิตภัณฑ์ที่มีคะแนนความชอบโดยรวมมากที่สุดใช้ส้มจี๊ดเป็นส่วนผสมดังนี้ น้ำส้มจี๊ดพร้อมดื่ม ใช้น้ำส้มจี๊ด 120 กรัมต่อน้ำ 750 กรัม และฆ่าเชื้อแบบสเตอริไรส์ที่ 100 องศาเซลเซียส นาน 5 นาที แยมส้มจี๊ด ใช้น้ำส้มจี๊ด 600 กรัมต่อน้ำ 1,200 กรัม และปริมาณเพคตินร้อยละ 0.75 ของส่วนผสมทั้งหมด มาร์มาเลดส้มจี๊ด ใช้เปลือกส้มจี๊ด 300 กรัม ต่อน้ำเชื่อม 1,000 กรัม ที่มีความเข้มข้นเท่ากับ 35 องศาบริกซ์ ในการแช่อิ่มเปลือกส้มจี๊ดเพื่อทำมาร์มาเลด เยลลี่ส้มจี๊ด ใช้น้ำส้มจี๊ด 300 กรัมต่อน้ำ 1,350 กรัม และปริมาณคาราจีแนน ร้อยละ 1.5 ของส่วนผสมทั้งหมด ส้มจี๊ดแช่อิ่มอบแห้ง ใช้ส้มจี๊ด 4,000 กรัมต่อน้ำ 2,200 กรัม น้ำตาลทราย 1,800 กรัม แช่อิ่มแบบช้าประมาณ 5-6 วัน อบที่อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส นาน 5 ชั่วโมง ไอศกรีมเชอร์เบทส้มจี๊ด ใช้น้ำส้มจี๊ดร้อยละ 50 และเติมเจลาตินร้อยละ 0.5 ของส่วนผสมไอศกรีม และเค้กส้มจี๊ด ใช้น้ำส้มจี๊ด 75 กรัม เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์เค้กส้มจี๊ด 2.2) การสกัดลิโมนินและเพคตินจากเปลือกส้มจี๊ดเพื่อนำไปใช้ประโยชน์พบว่า การสกัดลิโมนินจากเปลือกส้มจี๊ดทำได้โดยการกลั่นด้วยน้ำ เปลือกส้มจี๊ดมี dl-limoneneเป็นองค์ประกอบหลัก และสารเทอร์พีนต่างๆ เป็นองค์ประกอบย่อย การสกัดเพคตินจากเปลือกส้มจี๊ดทำได้โดยการต้มกับการสารละลายกรดไฮโดรคลอริกความเข้มข้น 0.3 M แล้วตกตะกอนเพคตินด้วยเอธานอล 95% ล้างกากเปลือกส้มจี๊ดด้วยเอทานอลก่อนการสกัด และล้างตะกอนเพคตินที่ได้ด้วยเอทานอล 4 ครั้ง จะได้เพคตินจากเปลือกส้มจี๊ดที่มีปริมาณเมทอกซิลเฉลี่ยร้อยละ 5.58 โดยจัดอยู่ในกลุ่ม low methoxyl pectins เมื่อนำสารสกัด ลิโมนินจากเปลือกส้มจี๊ดมาพัฒนาเป็นสเปรย์น้ำไล่ยุงนั้น พบว่าไม่ผ่านการทดสอบประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ป้องกันยุง เนื่องจากไม่สามารถติดที่ผิวหนังนานกว่า 3 ชั่วโมงได้ แต่พัฒนาเป็นโลชั่นไล่ยุงได้ และเมื่อนำเพคตินจากเปลือกส้มจี๊ดมาพัฒนาเป็นสารก่อเจลในเจลน้ำหอมปรับอากาศ สามารถใช้เพคตินร้อยละ 3 ร่วมกับ sodium polyacrylate ร้อยละ 1 ในน้ำปูนใส พัฒนาเป็นเจลน้ำหอมปรับอากาศที่มีระดับความแรงของกลิ่นในระดับที่ยอมรับได้นาน 10 วัน
โครงการที่ 5 โครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตแก้วมังกร
ศรุต สุทธิอารมณ์, พรพิมล อธิปัญญาคม, สุณีรัตน์ สีมะเดื่อ, วนาพร วงษ์นิคง, สัญญาณี ศรีคชา, วิภาดา ปลอดครบุรี, ชนินทร ดวงสอาด, สุเมธ พากเพียร และศรีจำนรรจ์ ศรีจันทรา
โครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตแก้วมังกร มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาศัตรูพืชที่สำคัญของแก้วมังกรซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ที่สำคัญของภาคตะวันออก การศึกษานี้มุ่งเน้นที่จะหาวิธีการป้องกันกำจัดที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมเพื่อแนะนำให้เกษตรกรนำไปใช้ ประกอบด้วย 2 กิจกรรม ได้แก่ การป้องกันกำจัดแมลงศัตรูสำคัญในแก้วมังกร และการป้องกันกำจัดโรคสำคัญในแก้วมังกร ดำเนินการตั้งแต่เดือนตุลาคม 2555 ถึงเดือนกันยายน 2558 ทั้งในห้องปฏิบัติการสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช และในสภาพไร่ของเกษตรกร การศึกษาปริมาณความหนาแน่นและช่วงฤดูการระบาดของแมลงวันผลไม้ในแก้วมังกรพบแมลงวันผลไม้ที่ดักจับได้ในแปลงปลูกแก้วมังกรทั้งหมด 5 ชนิด คือ Bactrocera dorsalis, Bactrocera correcta, Bactrocera cucurbitae, Bactrocera umbrosa และ Bactrocera tau ชนิดที่พบมากที่สุด คือ Bactrocera dorsalis ซึ่งเป็นชนิดเดียวที่เข้าทำลายผลแก้วมังกร การศึกษาวิธีป้องกันกำจัดแมลงวันผลไม้ ได้ทำการศึกษาเทคโนโลยีการห่อผลเพื่อป้องกันการทำลายของแมลงวันผลไม้พบว่า ถุงห่อผลที่ทำจากวัสดุชนิดต่าง ๆ ได้แก่ ถุงพลาสติก ถุงเคลือบสารเคมี ถุงใยสังเคราะห์ ถุงกระดาษสีน้ำตาล ถุงผ้าไนล่อน และถุงห่อผลไม้สำเร็จรูป “ซุนฟง” ให้ผลในการป้องกันการเข้าทำลายของแมลงศัตรูผลแก้วมังกรได้ 100% และไม่มีผลต่อคุณภาพของผลแก้วมังกรทั้งขนาด น้ำหนัก รูปทรง และสีของผล และพบว่า การห่อผลเพียงอย่างเดียวและร่วมกับการใช้สารฆ่าแมลงที่ 14 วัน ให้ผลในการป้องกันแมลงทำลายผลแก้วมังกร 100% เทคโนโลยีการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูแก้วมังกรที่สำคัญ โดยการทดสอบประสิทธิภาพสารฆ่าแมลงเพื่อป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้ง (Dysmiscoccus neobrevipes Beardsley) ซึ่งเป็นแมลงศัตรูที่สำคัญของแก้วมังกรพบว่า สารกำจัดแมลง thiamethoxam 25%WG อัตรา 4 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร dinotefuran 10%WP อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร carbaryl 85%WP อัตรา 60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร carbosulfan 20% EC อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร และ imidacloprid 70%WG 5 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ให้ผลในการควบคุมเพลี้ยแป้งได้ดีไม่แตกต่างกัน และพบว่ามีพิษตกค้างในระดับที่ปลอดภัยต่อการบริโภค ยกเว้นสาร carbaryl 85%WP
การศึกษาโรคของแก้วมังกร พบสาเหตุที่สำคัญ 3 ชนิด ได้แก่ โรคแอนแทรคโนส ราเข้าทำลายที่ลำต้นและที่ผล สาเหตุเกิดจากราสกุล Colletotrichum 2 ชนิด ได้แก่ Colletotrichum gloeosporioides และ C. truncatum โรคผลเน่าสาเหตุเกิดจากรา Bipolaris cactivora เข้าทำลายทั้งลำต้นและผล และโรคที่สำคัญอีกโรคหนึ่งและทำความเสียหายรุนแรงมาก ได้แก่ โรคจุดสีน้ำตาล (Brown spot) หรือโรคลำต้นแคงเคอร์ (stem canker) สาเหตุเกิดจากรา Neoscytalidium dimidiatum ส่วนการทดลองประสิทธิภาพสารป้องกันกำจัดโรคพืชควบคุมโรคจุดสีน้ำตาลของแก้วมังกร ดำเนินการทดลองในแปลงเกษตรกรจังหวัดจันทบุรี ระหว่างปี 2555 – 2556 พบว่า สารป้องกันกำจัดโรคพืช prochoraz และ azoxystrobin + difenoconazole ให้ผลในการควบคุมโรคได้ดีที่สุด รองลงมา ได้แก่ mancozeb carbendazim azoxystrobin และ benomyl ในปี 2557 - 2558 ผลการศึกษาประสิทธิภาพโรคผลเน่าของแก้วมังกรที่แปลงเกษตรกรจังหวัดจันทบุรีพบว่า เมื่อพ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืช 7 ครั้ง สารป้องกันกำจัดโรคพืช azoxystrobin + difenoconazole มีเปอร์เซ็นต์การเกิดโรคน้อยที่สุด รองลงมา ได้แก่ propiconazole + difenoconazole, mancozeb และ procloraz สรุปการป้องกันกำจัดโรคลำต้นจุดสีน้ำตาลและผลเน่าของแก้วมังกร หลังจากการเก็บผลผลิตและตัดแต่งกิ่งแล้ว ให้พ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืช copper oxychloride จากนั้นให้พ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืช azoxystrobin + difenoconazole หรือ propiconazole + difenoconazole หรือ procloraz หรือ mancozeb ทุก 7 วัน จำนวน 4 ครั้ง และพ่นอีก 3 ครั้งช่วงดอกบาน ห่างกัน 7 วัน
โครงการที่ 6 โครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตสำรองในเขตพื้นที่ภาคตะวันออก
ชูชาติ วัฒนวรรณ, กมลภัทร ศิริพงษ์, ชลธิชา กลิ่นเกษร, เฉลิมพล ชุ่มเชยวงค์, สุเมธ พากเพียร, สุปรียา ศุขเกษม และศุภมาศ กลิ่นขจร
สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจันทบุรี, ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ และกองวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บ เกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร
โครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตสำรองในเขตพื้นที่ภาคตะวันออก มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาการเจริญเติบโตของสำรองสายต้นต่างๆ การป้องกันกำจัดโรคแมลงในเบื้องต้นเพื่อเตรียมปลูกเป็นการค้าในอนาคต ความเป็นไปได้ในการปลูกสำรองเป็นการค้า และการใช้ประโยชน์ลูกสำรองที่เป็นพืชพื้นเมืองของภาคตะวันออก สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 ได้ศึกษาวิจัย ประกอบด้วย 4 การทดลอง ดังนี้ 1. การจัดทำแปลงสำรองในสภาพแปลงปลูก 2. การจัดการโรคและแมลงศัตรูสำรองและการป้องกันกำจัด 3. เทคโนโลยีการเก็บเกี่ยวลูกสำรอง และ 4. การแปรรูปและ การใช้ประโยชน์จากผลสำรอง โดยพบว่า เมื่อขยายพันธุ์สายต้นสำรองโดยการเสียบยอดบนต้นตอ เพาะเมล็ดแล้วนำไปปลูกในแปลงระยะ 8 x 8 เมตร สายต้นสำรองจากพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูจองนายอย จ.อุบลราชธานี มีแนวโน้มการเจริญเติบโตมากที่สุดในช่วง 5 ปีแรก มีขนาดเส้นรอบวงลำต้น 14.7 เซนติเมตร ความสูง 180 เซนติเมตร และขนาดของทรงพุ่ม 95.3 เซนติเมตร การสำรวจโรคและ แมลงพบด้วงกุหลาบทำลายใบในระยะใบเกือบเพสลาดและพบหนอนบุ้งหูแดงกัดกินใบแต่ไม่ระบาด รุนแรง ส่วนแมลงที่ติดมากับเมล็ดการเก็บรักษาผลสำรองพบว่า แมลงที่เข้าทำลายเมล็ดสำรอง คือ มอดยาสูบ เข้าทำลายในช่วงสำรองติดเมล็ดคิดเป็นร้อยละ 95 ของผลผลิตหลังเก็บเมล็ดไว้ 12 เดือน โดยมอดยาสูบเข้าทำลายตั้งแต่ยังไม่เก็บเกี่ยว ต้นสำรองจะทิ้งใบจนมีใบเหลือบนต้นร้อยละ 0 - 10 ใช้ เวลาประมาณ 30 วัน จะผลิใบอ่อนออกมาพร้อมดอกประมาณเดือนมกราคม ที่ปลายยอดมีการพัฒนาต่อจนดอกบานใช้เวลาประมาณ 20 - 25 วัน จากนั้นหลังดอกบานประมาณ 60 วัน สำเภาจะเริ่มเปลี่ยนสีจากเขียวเป็นสีน้ำตาล และปลิวไปตามลมเมื่ออายุประมาณ 70 วัน ระยะที่ควรเก็บเกี่ยว ที่อายุ 52 วันหลังดอกบานเพราะมีการสะสมน้ำหนักแห้งสูงสุด สำหรับการใช้ประโยชน์สามารถผลิต สารให้ความคงตัวในอุตสาหกรรมอาหารได้ดี เช่น สูตรเยลลี่มะมะม่วงโดยการเติมผงวุ้นส ารองอบแห้ง 1.2% และคาราจีแนน 0.3% โดยน้ำหนัก จะได้เยลลี่ที่มีการจับตัวเป็นก้อนและได้รับการยอมรับ รวมสูงที่สุด ได้นำน้ำสลัดมังคุดผสมผงสำรองและเยลลี่มะมะม่วงผสมผงสำรองไปวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการพบว่า การบริโภคน้ำสลัดมังคุดผสมผงสำรอง 100 กรัม จะได้รับพลังงาน 304.35 กิโล แคลอรี เป็นพลังงานจากไขมัน 175.59 กิโลแคลอรี และการบริโภคเยลลี่มะมะม่วงผสมผลสำรอง 100 กรัม จะได้รับพลังงาน 129.24 กิโลแคลอรี