การเปรียบเทียบวัสดุปลูกในการผลิตหัวพันธุ์มันฝรั่ง
#1
การเปรียบเทียบวัสดุปลูกในการผลิตหัวพันธุ์มันฝรั่ง
สนอง จรินทร, พิศวาส บัวรา, วิวัฒน์ ภาณุอำไพ และสุพัฒธนกิจ โพธิ์สว่าง

          จากการศึกษาเปรียบเทียบวัสดุปลูกในการผลิตหัวพันธุ์มันฝรั่งชั้น Pre-basic seed (G0) ภายในโรงเรือนในปี 2550 และ 2551 โดยวางแผนการทดลองแบบ RCBD มี 3 ซ้ำ 5 กรรมวิธี คือ วัสดุปลูกขุนวาง ไฮโดรตรอน ไฮโดรตรอนร่วมกับขุยมะพร้าว ไฮโดรตรอนร่วมกับพีชมอสและพีชมอส พบว่า เปอร์เซ็นต์ความงอกของแต่ละกรรมวิธีมีความแตกต่างกันในทางสถิติโดยวัสดุปลูกขุนวางมีเปอร์เซ็นต์ความงอกดีที่สุดเฉลี่ยที่ 81.00 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาคือ พีชมอส เฉลี่ยที่ 77.33 เปอร์เซ็นต์ ส่วนไฮโดรตรอนมีเปอร์เซ็นต์ความงอกเฉลี่ยน้อยที่สุด คือ 59.50 เปอร์เซ็นต์ ส่วนความสูงเฉลี่ยของต้นที่อายุ 60 วัน พบว่า ทุกกรรมวิธีไม่มีความแตกต่างกันในทางสถิติ โดยวัสดุปลูกพีชมอส ไฮโดรตรอนร่วมกับพีชมอส และวัสดุปลูกขุนวางมีความสูงของต้นเกิน 50 เซนติเมตร ส่วนวัสดุปลูกไฮโดรตรอนและไฮโดรตรอนร่วมกับขุยมะพร้าวมีความสูงของต้นเฉลี่ยไม่ถึง 40 เซนติเมตร เปอร์เซ็นต์การเก็บเกี่ยวพบว่า ทุกกรรมวิธีมีเปอร์เซ็นต์การเก็บเกี่ยวเฉลี่ยไม่แตกต่างกันในทางสถิติ โดยมีเปอร์เซ็นต์การเก็บเกี่ยวเฉลี่ยมากกว่า 85 เปอร์เซ็นต์ ส่วนจำนวนหัวต่อต้นพบว่า ทุกกรรมวิธีไม่มีความแตกต่างกันในทางสถิติ โดยมีจำนวนหัวต่อต้นเฉลี่ยที่ 2.30 - 2.71 หัว เมื่อดูผลผลิตเฉลี่ยต่อพื้นที่พบว่า ทุกกรรมวิธีไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติมีผลผลิตเฉลี่ยที่ 4.87 - 9.76 กิโลกรัมต่อพื้นที่ 3.6 ตารางเมตร


ไฟล์แนบ
.pdf   1044_2551.pdf (ขนาด: 1.83 MB / ดาวน์โหลด: 519)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 2 ผู้เยี่ยมชม