01-05-2016, 11:34 AM
การคัดเลือกและทดสอบประสิทธิภาพเชื้อ Bacillus spp. ในการควบคุมโรคใบไหม้หน้าวัว สาเหตุจากแบคทีเรีย
ปิยรัตน์ ธรรมกิจวัฒน์, รุ่งนภา คงสุวรรณ์, เพลินพิศ สงสังข์, ณัฏฐิมา โฆษิตเจริญกุล และวงศ์ บุญสืบสกุล
กลุ่มวิจัยโรคพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช
ปิยรัตน์ ธรรมกิจวัฒน์, รุ่งนภา คงสุวรรณ์, เพลินพิศ สงสังข์, ณัฏฐิมา โฆษิตเจริญกุล และวงศ์ บุญสืบสกุล
กลุ่มวิจัยโรคพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช
คัดเลือกแบคทีเรีย Bacillus sp. ที่แยกเก็บจากหน้าวัว (epiphyte และ endophyte) และแบคทีเรียจาก culture collection เลือกแบคทีเรียไอโซเลทที่มีประสิทธิภาพยับยั้งการเจริญของแบคทีเรีย X. axonopodis pv. dieffenbachiae ด้วยเทคนิค paper disc diffusion บนอาหาร Nutrient Glucose Agar เกิดเป็นวงใส (clear zone) ขนาดกว้างและคงสภาพการยับยั้งเป็นเวลากว่า 7 วัน นำมาทดสอบการควบคุมโรคในสภาพโรงเรือนปลูกพืชทดลอง ปี 2551 ใช้หน้าวัวพันธุ์อ่อนแอ 2 พันธุ์ คือ โรเซตตา และทรอปิคอล โดยพ่นเซลล์แขวนลอยแบคทีเรียปฏิปักษ์ที่คัดเลือกได้และแบคทีเรีย Bacillus sp. ชีวภัณฑ์การค้า เปรียบเทียบกับพ่นน้ำเปล่าทุก 7 วัน เป็นเวลา 5 สัปดาห์ พบว่ากรรมวิธีที่พ่นด้วยเซลล์แขวนลอยเชื้อ Bacillus sp. สายพันธุ์ 1G7 และ 1G7 + KA2 ให้ผลในการควบคุมโรคดีกว่าการทดลองเปรียบเทียบแต่เปอร์เซ็นต์การเกิดโรคยังค่อนข้างสูง ปี 2552 คัดเลือกและทดสอบการควบคุมโรคบนหน้าวัวพันธุ์โรซ่าพบว่า กรรมวิธีการพ่นเซลล์แขวนลอยแบคทีเรียปฏิปักษ์ ไอโซเลท 1G7 + KA2 + 20W1 ให้ผลในการควบคุมโรคดีกว่ากรรมวิธีอื่น ๆ รองลงมาคือ 20W1 การทดลองปี 2553 เลือกแบคทีเรียปฏิปักษ์ไอโซเลท 20W1 และ KA2 มาพัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นผงอัดเม็ดฟู่ ทดสอบการควบคุมโรคบนหน้าวัวพันธุ์โรซ่า โดยพ่นเซลล์แขวนลอยเชื้อเปรียบเทียบกับชีวภัณฑ์พบว่า กรรมวิธีพ่นเซลล์แขวนลอยเชื้อไอโซเลท 20W1 รองมาคือ KA2 และการพ่นชีวภัณฑ์ไอโซเลท 20W1 + KA2 ควบคุมโรคได้ดีกว่ากรรมวิธีอื่นและกรรมวิธีเปรียบเทียบ แต่ทุกกรรมวิธีเปอร์เซ็นต์การเกิดโรคค่อนข้างสูง ทั้งนี้อาจเนื่องจากสภาพแวดล้อมที่ร้อนชื้นกว่าสภาพแปลงเกษตรกร การพัฒนาวิธีการเตรียมแบคทีเรียปฏิปักษ์เป็นชีวภัณฑ์รูปผงอัดเม็ดฟู่โดยผสมเซลล์แบคทีเรียปฏิปักษ์ ใส่สารเพิ่มปริมาณ สารก่อฟองฟู่ และสารกันติด แล้วอัดเป็นเม็ดน้ำหนักเม็ดละประมาณ 4 กรัม ชีวภัณฑ์ผงอัดเม็ดฟู่สามารถแตกตัวในน้ำได้ดีภายใน 1 นาที มีอัตราการอยู่รอดของเชื้อสูง ใช้งานง่ายสะดวก สามารถพัฒนาชีวภัณฑ์สำหรับเกษตรกรเพื่อควบคุมโรคในแปลงได้ โดยไม่ต้องเตรียมเชื้อสดทุกครั้ง