ศึกษาผลกระทบการตั้งตลาดกลางยางพาราบุรีรัมย์ต่อผู้เกี่ยวข้องกับธุรกิจยาง
#1
ศึกษาผลกระทบการตั้งตลาดกลางยางพาราบุรีรัมย์ต่อผู้เกี่ยวข้องกับธุรกิจยาง
พัชรินทร์  ศรีวารินทร์ และจุมพฏ  สุขเกื้อ
กลุ่มวิจัยเศรษฐกิจ  สถาบันวิจัยยาง  กรมวิชาการเกษตร

         การศึกษาผลกระทบการตั้งตลาดกลางยางพาราบุรีรัมย์ต่อผู้เกี่ยวข้องกับธุรกิจยาง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลกระทบและความพึงพอใจของผู้ซื้อและผู้ขายที่มีต่อการดำเนินงานของตลาดกลาง โดยการสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจยางเกี่ยวกับผลกระทบและทัศนคติที่มีต่อตลาดกลาง โดยใช้แบบสัมภาษณ์เป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างจากเกษตรกรผู้ขายยาง และผู้ประกอบธุรกิจยางในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง โดยเก็บรวบรวมข้อมูลที่สมบูรณ์จำนวน 140 ราย แบ่งเป็นเกษตรกรผู้ผลิตยาง 122 ราย ประกอบธุรกิจยางจำนวน 18 ราย

          ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างที่เป็นเกษตรกรที่ขายยางตลาดกลางมีอายุเฉลี่ย 48 ปี จำนวนสมาชิกในครอบครัวเฉลี่ย 4 คน มีพื้นที่ปลูกยางเฉลี่ยเท่ากับ 41.16 และพื้นที่เปิดกรีดเฉลี่ย 24.41 ไร่ ในส่วนของผลการศึกษาความสัมพันธ์พบว่า ตัวแปรอายุ สมาชิกในครอบครัว พื้นที่ปลูกรวม และพื้นที่เปิดกรีด ที่แตกต่างกันไม่มีผลต่อการตัดสินใจขายยางที่ตลาดกลางยางพารา การใช้แรงงานกรีดยางเกษตรกรส่วนใหญ่ดำเนินการกรีดยางด้วยตนเอง เกษตรกรนิยมทำยางแผ่นดิบและยางก้อนถ้วย การสอบถามราคา เกษตรกรส่วนใหญ่สอบถามราคาจากสำนักงานตลาดกลางยางพาราสงขลามากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 58.2 สอบถามราคาจากจุดประมูลยางในพื้นที่ สำนักงานตลาดกลางยางพาราบุรีรัมย์ และร้านค้าหรือโรงงานยาง คิดเป็นร้อยละ 18.9 17.2 และ 5.7 เกษตรกรที่ขายยางนอกตลาดกลางทราบข่าวการเปิดดำเนินงานของตลาดกลาง คิดเป็นร้อยละ 57.7 ไม่ทราบ คิดเป็นร้อยละ 42.3 กลุ่มตัวอย่างมีทัศนคติต่อตลาดกลางทางบวกต่อการให้บริการของตลาดกลางยางพารา โดยผู้ประกอบการเห็นด้วยกับการให้บริการของตลาดกลางยางพาราบุรีรัมย์เป็นการเพิ่มทางเลือกในการซื้อขายยางในภูมิภาค ซึ่งตลาดกลางมีความน่าเชื่อถือในการคัดคุณภาพยาง เครื่องชั่งยางของตลาดกลางฯ มีความโปร่งใสในการประมูล ขั้นตอนการให้บริการตลาดกลางยางพาราไม่ยุ่งยาก ชนิดยางที่ซื้อขายในตลาดกลางยางพาราสอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการ ตลาดกลางช่วยให้ทราบความเคลื่อนไหวของราคายาง และผู้ประกอบการปรารถนาให้มียางเข้ามาขายที่ตลาดกลางมากขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางของยางพาราในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง


ไฟล์แนบ
.pdf   1546_2552.pdf (ขนาด: 395.07 KB / ดาวน์โหลด: 715)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 5 ผู้เยี่ยมชม