11-25-2016, 02:54 PM
วิจัยและพัฒนามะขามเปรี้ยว
สมพงษ์ สุขเขตต์, สุดใจ ล้อเจริญ, สุภาวดี สมภาค, ธวัชชัย นิ่มกิ่งรัตน์, ดรุณี สมณะ, จรัญ ดิษฐไชยวงค์, ณรงค์ แดงเปี่ยม และเบญจวรรณ สุรพล
สมพงษ์ สุขเขตต์, สุดใจ ล้อเจริญ, สุภาวดี สมภาค, ธวัชชัย นิ่มกิ่งรัตน์, ดรุณี สมณะ, จรัญ ดิษฐไชยวงค์, ณรงค์ แดงเปี่ยม และเบญจวรรณ สุรพล
การวิจัยและพัฒนามะขามเปรี้ยว ดำเนินการระหว่างเดือนตุลาคม 2554 ถึงเดือนกันยายน 2558 ระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี ประกอบด้วย 2 กิจกรรม คือ การเปรียบเทียบพันธุ์มะขามเปรี้ยวในท้องถิ่น และการคัดเลือกสายต้นมะขามเปรี้ยวเนื้อสีแดง กิจกรรมที่ 1 การเปรียบเทียบพันธุ์มะขามเปรี้ยวในท้องถิ่น มี 2 การทดลอง คือ การเปรียบเทียบพันธุ์มะขามเปรี้ยวในท้องถิ่นเพื่อการแปรรูป และการเปรียบเทียบพันธุ์มะขามเปรี้ยวฝักใหญ่ ผลการทดลองพบว่า พันธุ์มะขามเปรี้ยว 2 สายพันธุ์ คือ พันธุ์ศรีสะเกษ 045 พันธุ์ศรีสะเกษ 019 และพันธุ์มะขามเปรี้ยวฝักใหญ่ 2 สายพันธุ์ คือ พันธุ์ฝักใหญ่กาญจนบุรี และพันธุ์ฝักใหญ่ศรีสะเกษ มีการเจริญเติบโตของเส้นรอบวงโคนต้น ความสูงต้น และขนาดทรงพุ่มสูงสุด เมื่ออายุ 4 ปี และได้ขยายระยะเวลาการทดลองอีก 4 ปี (ปี 2559 - 2562) เพื่อประเมินข้อมูลผลผลิตและคุณภาพ กิจกรรมที่ 2 การคัดเลือกสายต้นมะขามเปรี้ยวเนื้อสีแดง ทำการรวบรวมมะขามเปรี้ยวเนื้อสีแดง จำนวน 16 สายต้น จากแหล่งปลูก 4 จังหวัด คือ พิจิตร เพชรบูรณ์ สมุทรสาคร และปราจีนบุรี จากการวิเคราะห์ปริมาณสารสำคัญพบว่า ต้นมะขามเปรี้ยวเนื้อสีแดง จากแหล่งปลูกอำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร ให้ปริมาณวิตามินซีสูงสุด (2.49 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักสด 100 กรัม) สูงกว่ามะขามเปรี้ยวทั่วไป 48 เปอร์เซ็นต์ และจากแหล่งปลูกอำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร ให้ปริมาณแอนโธไซยานินสูงสุด (433.36 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักสด 1 กิโลกรัม) ซึ่งสูงกว่ามะขามเปรี้ยวทั่วไป 100 เปอร์เซ็นต์ สายต้น PC5811 มีการพัฒนาทางสรีรวิทยา ได้แก่ การเปลี่ยนสีของยอดเป็นสีแดง การออกดอกและติดฝักก่อนสายต้นมะขามเปรี้ยวเนื้อสีแดงสายต้นอื่นๆ