การปรับปรุงพันธุ์และเทคโนโลยีการผลิตมะนาว
#1
การปรับปรุงพันธุ์และเทคโนโลยีการผลิตมะนาว
วสรรญ ผ่องสมบูรณ์, ณรงค์ แดงเปี่ยม, อนุรักษ์ สุขขารมย์, นลินี ศิวากรณ์, สุดาวรรณ มีเจริญ, ทวีป หลวงแก้ว, ดรุณี เพ็งฤกษ์, เสงี่ยม แจํมจำรูญ, วราพงษ์ ภิระบรรณ์, มนัสชญา สายพนัส, พจนา ตระกูลสุขรัตน์ และรุ่งนภา คงสุวรรณ

          การสำรวจ รวบรวม และอนุรักษ์เชื้อพันธุ์มะนาว ในสภาพแปลงปลูก ( Ex situ) ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร อ.เมือง จ.พิจิตร ระหว่าง พ.ศ.๒๕๕๔ และ ๒๕๕๘ ดำเนินการศีกษาลักษณะประจำพันธุ์ทางพฤกษศาสตร์ (botanical characteristics) และลักษณะทางการเกษตร (descriptors) ของมะนาว จำนวน 50 พันธุ์ และได้ข้อมูลตามแบบการจัดเก็บบันทึกฐานข้อมูลของ IBPGR เพื่อใช้ประโยชน์เป็นแหล่งเชื้อพันธุ์ในการจัดการด้านพันธุ์มะนาวตามวัตถุประสงค์ต่างๆ

          การเปรียบเทียบพันธุ์มะนาวลูกผสมที่คัดเลือกได้จากการผสมพันธุ์ จำนวน 13 สายพันธุ์ เพื่อพัฒนาพันธุ์ใหม่ที่ให้ผลผลิตเพิ่ม คุณภาพดี และทนทานโรคแคงเกอร์ ดำเนินการ ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร อ.เมือง จ.พิจิตร พบว่าใน ปี พ.ศ. 2558 พันธุ์ พจ.53-1 ให้ผลผลิตสูงสุด เฉลี่ย 144 ผลต่อต้น และพันธุ์ พจ.6-47 ให้ผลผลิตต่ำสุดเฉลี่ย 3 ผลต่อต้น

          การเปรียบเทียบสายต้นคัดเลือกมะนาวพิจิตร1 ที่ผ่านการฉายรังสีและมีเมล็ดน้อยหรือไม่มีเมล็ดจำนวน 24 สายต้นที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร โดยมีมะนาวสายต้นพันธุ์พิจิตร1 ที่ไม่ได้รับการฉายรังสีเป็นพันธุ์เปรียบเทียบ พบว่าต้นมะนาวมีการเจริญเติบโตทั้ง 3 ลักษณะ ได้แก่ ด้านความสูงต้น เส้นผ่านศูนย์กลางทรงพุ่มและเส้นรอบวงโคนต้นมีความแตกต่างทางสถิติทั้งในปี 2557 และปี 2558 เริ่มออกดอกติดผล แต่ยังไม่ให้ผลผลิต

          ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร ศึกษาเปรียบเทียบมะนาวสายพันธุ์แป้นที่ให้ผลผลิตดีและเป็นโรคแคงเกอร์น้อย ผลผลิตคุณภาพดี ที่ได้คัดเลือกจำนวน 12 สายพันธุ์ จากการคัดเลือกและรวบรวมพันธุ์จากแหล่งปลูกในจังหวัดต่างๆ ได้จำนวน 32 สายพันธุ์ ในแปลงปลูก เปรียบเทียบกับมะนาวพันธุ์แป้นรำไพ (check) พบว่ามะนาวแป้นสายพันธุ์ที่คัดเลือกทั้ง 12 สายพันธุ์ มีการเจริญเติบโต ไม่แตกต่างกับมะนาวพันธุ์แป้นรำไพ มะนาวสายพันธุ์ พจ.55-03 มีผลผลิตเฉลี่ย 558.0 ผลต่อต้น สูงกว่าพันธุ์แป้นรำไพ (เฉลี่ย 360.0 ผลต่อต้น) ส่วนมะนาวสายพันธุ์พจ.55-12 และพจ.55-04 เป็นโรคแคงเกอร์ที่กิ่งและใบน้อยกว่า มะนาวพันธุ์แป้นรำไพ

          ปัญหาการขาดแคลนผลผลิตมะนาวในช่วงฤดูแล้ง (นอกฤดูกาล) และล้นตลาดในช่วงฤดูฝน (ในฤดูกาล) ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกไม่ประสบความสำเร็จในการผลิตมะนาวเป็นการค้า การควบคุมให้ต้นมะนาวสามารถสร้างดอก และติดผลก่อนฤดูได้หนาแน่นมากขึ้น ในระหว่างเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน จะทำให้มีผลผลิตแก่เก็บเกี่ยวออกสู่ตลาดได้ในช่วงเวลาระหว่างเดือนมกราคม กุมภาพันธ์ มีนาคม เมษายน และพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ตลาดมีความต้องการมาก ผลจากการศึกษาพบว่า การให้สารพาโคลบิวทราโซลทางใบความเข้มข้น 400 มิลลิกรัมต่อลิตร ระหว่างกลางเดือนสิงหาคมและต้นเดือนกันยายน เหมาะสมในการบังคับการออกดอกก่อนฤดูและให้ผลผลิตเพิ่มมากในช่วงฤดูแล้งได้ทั้งในปี พ.ศ. 2554 - 2555 และพ.ศ. 2555 - 2556 นอกจากนี้ยังพบว่าวิธีให้สารยูนิคอนาโซล ทางดินปริมาณ 0.1, 0.2 และ 0.4 กรัมต่อความกว้างทรงพุ่ม 1 เมตร และวิธีให้สารยูนิคอนาโซล ทางใบความเข้มข้น 5, 10 และ 20 มิลลิกรัมต่อลิตร มีผลให้ต้นมะนาวสามารถออกดอกนอกฤดูระหว่างเดือนตุลาคม 2557 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2557 ได้ไม่แตกต่างกับการให้สารพาโคลบิวทราโซลทางดินร่วมกับวิธีควั่นและรัดกิ่งต้นด้วยเชือก และวิธีให้สารละลายพาโคลบิวทราโซลทางใบความเข้มข้น 400 มิลลิกรัมต่อลิตร

          การศึกษาอัตราและระยะเวลาที่เหมาะสมในการใช้ชีวภัณฑ์ที่ผลิตได้จากเชื้อแบคทีเรีย Bacillus subtilis เพื่อป้องกันกำจัดโรคแคงเกอร์ของมะนาวที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Xanthomonas axonopodis pv. citri (synonym X. campestris pv. citri ) พบว่าสารเคมีคอปเปอร์ออกซี่คลอไรด์มีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดโรคแคงเกอร์ดีที่สุดโดยแสดงระดับคะแนนการเกิดโรคต่ำที่สุดเฉลี่ย 2.3 รองลงมา ได้แก่ การใช้ชีวภัณฑ์จากเชื้อ Bacillus subtilis อัตรา 5 กรัม/น้ำ 1 ลิตร และ10 กรัม/น้ำ 1 ลิตรโดยให้ระดับคะแนนการเกิดโรคเฉลี่ย 2.5 และ 2.4 และกรรมวิธีเปรียบเทียบ (น้ำ) แสดงคะแนนการเกิดโรคสูงสุดเฉลี่ย 3.3 ส่วนระยะเวลาในการฉีดพ่นทุก 7 วันไม่มีความแตกต่างกับการฉีดพ่นทุก 14 วัน

          ประสิทธิภาพของน้ำหมักจากกระเทียมและสมุนไพรอื่นต่อโรคแคงเกอร์ของมะนาวในแปลงปลูกอำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร พบว่าน้ำหมักจากกระเทียมและกำยานในแอลกอฮอล์ 7% มีผลลดการเกิดโรคแคงเกอร์ของมะนาวได้ดีที่สุด (ระดับคะแนนการเกิดโรค 2.36) รองลงมา ได้แก่ น้ำหมักจากกำยานในแอลกอฮอล์ 7% และแอลกอฮอล์ 7% อย่างเดียว มีผลลดการเกิดโรคแคงเกอร์ของมะนาวได้ (ระดับคะแนนการเกิดโรค 2.64 และ 2.73 ตามลำดับ) ส่วนน้ำหมักจากกำมะถันในแอลกอฮอล์ และน้ำ มีผลให้ระดับคะแนนการเกิดโรค 3.55 และ 4.64 ตามลำดับ

          การศึกษาหาชนิดต้นตอที่เหมาะสมกับมะนาวพันธุ์การค้า โดยการปลูกต้นมะนาวพันธุ์แป้นรำไพที่เจริญบนต้นตอชนิดต่างๆ 13 ชนิด ในสภาพแปลงปลูกยกร่อง ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร ปรากฏว่าการเจริญเติบโตของลำต้น มะนาวพันธุ์แป้นรำไพที่เจริญบนต้นตอส้มพันธุ์ Cleopatra ต้นตอส้มโอพันธุ์ขาวแตงกวา ต้นตอส้ม volkameriana และต้นตอ rangpur lime มีขนาดของเส้นรอบวงโคนต้นทั้งยอดพันธุ์และส่วนต้นตอที่เพิ่มขึ้นมากที่สุด ส่วนต้นมะนาวพันธุ์แป้นรำไพที่เจริญบนต้นตอมะขวิด ต้นตอส้มโอพันธุ์พล และส้มโอพันธุ์อีเตี้ย มีขนาดเส้นรอบวงโคนต้นทั้งส่วนยอดพันธุ์และส่วนต้นตอเพิ่มขึ้นน้อยที่สุด ในระยะอายุต่างๆ เป็นเวลา 12, 23, 26 และ 32 เดือน หลังปลูก ตามลำดับ ต้นมะนาวพันธุ์แป้นรำไพที่เจริญบน ต้นตอ rangpur lime มะนาวพันธุ์พิจิตร 1 และส้มพันธุ์ cleopatra มีความสูงของต้นที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยสูงที่สุด ในขณะที่ต้นมะนาวพันธุ์แป้นรำไพที่เจริญบน ต้นตอส้มโอพันธุ์ทองดี มะขวิด และส้มโอพันธุ์ขาวแตงกวา ซึ่งมีความสูงของต้นที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยต่ำที่สุด ในระยะอายุต่างๆ หลังปลูกดังกล่าว ต้นมะนาวพันธุ์แป้นรำไพที่เจริญบนต้นตอ rangpur lime มะนาวพันธุ์น้ำหอม และมะนาวพันธุ์พิจิตร1 มีเส้นผ่านศูนย์กลางทรงพุ่มต้นที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยสูงที่สุด ในขณะที่ต้นมะนาวพันธุ์แป้นรำไพที่เจริญบน ต้นตอมะขวิด ส้มโอพันธุ์พล และมะกรูด ซึ่งมีเส้นผ่านศูนย์กลางทรงพุ่มต้นที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยต่ำสุด ในระยะอายุต่างๆ หลังปลูกดังกล่าว

          การศึกษาหารูปแบบที่เหมาะสมในการตัดแต่งกิ่งควบคุมขนาด และทรงต้นมะนาวที่เจริญบนต้นตอกับต้นมะนาวพันธุ์แป้นรำไพที่เจริญบนต้นตอส้มพันธุ์ volkameriana ในสภาพแปลง เมื่อเดือนสิงหาคม 2556 ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร จังหวัดพิจิตร กรรมวิธีการตัดแต่งกิ่งแบบต่างๆได้แก่กรรมวิธีที่ 1, 2 และ 3 ตัดแต่งทรงพุ่มแบบพีรามิดแปลงหรือแบบดัดแปลงยอดกลาง (modified leader or delayed-open center type) ให้ชั้นเรือนยอดสูง 2.0, 1.5 และ 1.0 เมตรเหนือพื้นดิน ตามลำดับ และเปรียบเทียบกับกรรมวิธีที่ 4 ตัดแต่งกิ่งให้ทรงพุ่มโปร่งตาม GAP มะนาว (วิธีเปรียบเทียบ) ระหว่างเดือนตุลาคม 2556 และเดือนกันยายน 2558 ปรากฏว่าต้นมะนาวที่ได้รับกรรมวิธีทั้ง 4 มีขนาดความกว้างทรงพุ่มเฉลี่ยไม่แตกต่างกันทางสถิติ และ %แสงภายในทรงพุ่มต้นมะนาวที่ได้รับกรรมวิธีตัดแต่งต่างๆ ไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ ในปี พ.ศ. 2558 วิธีการตัดแต่งต้นให้มีชั้นเรือนยอดสูง 1 เมตร เหนือพื้นดิน มีค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติและดูแลรักษาตลอดปีต่ำสุดเฉลี่ยเท่ากับ 4,822.40 บาท


ไฟล์แนบ
.pdf   110_2558.pdf (ขนาด: 1.27 MB / ดาวน์โหลด: 12,028)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 2 ผู้เยี่ยมชม