06-29-2016, 01:57 PM
ถั่วเหลืองอายุสั้นพันธุ์ศรีสำโรง 1
รวีวรรณ เชื้อกิตติศักดิ์, อลงกรณ์ กรณ์ทอง, สมศักดิ์ ศรีสมบุญ, สมเพชร พรมเมืองดี, เทวา เมาลานนท์, พรศักดิ์ ดวงพุดตาน, จรัญ ประทุมวงศ์ และอารีรัตน์ พระเพชร
รวีวรรณ เชื้อกิตติศักดิ์, อลงกรณ์ กรณ์ทอง, สมศักดิ์ ศรีสมบุญ, สมเพชร พรมเมืองดี, เทวา เมาลานนท์, พรศักดิ์ ดวงพุดตาน, จรัญ ประทุมวงศ์ และอารีรัตน์ พระเพชร
ศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิตสุโขทัย สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2 พิษณุโลก, สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ, สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1 เชียงใหม่, ศูนย์วิจัยพืชไร่ขอนแก่น สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 ขอนแก่น และศูนย์วิจัยพืชไร่เชียงใหม่ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1 เชียงใหม่
ถั่วเหลืองเป็นพืชไร่เศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ โดยมีคุณค่าทางด้านอาหาร ทั้งในด้านปริมาณโปรตีน (40%) และน้ำมัน (20%) มีพื้นที่ปลูกประมาณ 1.16 ล้านไร่ ผลผลิตรวม 2.72 แสนตัน ผลผลิตเฉลี่ย 234 กิโลกรัม/ไร่ แต่ผลผลิตถั่วเหลืองยังไม่เพียงพอกับความต้องการภายในประเทศ เนื่องจากพื้นที่ปลูกลดลงและมีการขยายตัวทางด้านอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ในปี 2544 มีการนำเข้ากากและเมล็ดถั่วเหลืองจำนวน 1.56 ล้านตัน และ 1.36 ล้านตัน ตามลำดับ คิดเป็นมูลค่า 26,000 ล้านบาท เพื่อเป็นการเพิ่มผลผลิตของถั่วเหลือง จำเป็นต้องหาพันธุ์ที่เหมาะสม โดยเฉพาะในแหล่งปลูกเขตภาคเหนือตอนล่าง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการปลูกมากกว่าแสนไร่ คือ จังหวัดสุโขทัย กำแพงเพชร และตาก สถานีทดลองพืชไร่ศรีสำโรง จึงได้พัฒนาพันธุ์ถั่วเหลืองให้เหมาะสมกับแหล่งปลูกถั่วเหลืองดังกล่าว ตั้งแต่ ปี 2534 จนได้พันธุ์ถั่วเหลืองสายพันธุ์ SSR9201-11-S ที่ให้ผลผลิตสูง อายุการเก็บเกี่ยวสั้น และต้านทานโรคราน้ำค้าง
ถั่วเหลืองสายพันธุ์ SSR9201-11-S ได้จากการผสมพันธุ์ระหว่างลูกผสมเดี่ยว นครสวรรค์1/Pudua8008B และ นครสวรรค์1/DM8032-1-9 ในปี 2535 ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาพืชผักเขตร้อนมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม และสถานีทดลองพืชไร่ศรีสำโรง จากนั้นนำไปผสมกลับกับพันธุ์นครสวรรค์ 1 จำนวน 1 ครั้งและคัดเลือกตั้งแต่ชั่วที่ 2 - 4 โดยวิธี Single seed descent และชั่วที่ 5 - 6 โดยวิธีสืบประวัติ (Pedigree) ที่ศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิตสุโขทัย ระหว่างปี 2536 - 2538 เพื่อให้ได้ลักษณะที่ต้านทานต่อโรค และให้ผลผลิตสูง ประเมินผลผลิตในเขตภาคเหนือตอนบน ภาคเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งในศูนย์วิจัย สถานีทดลอง และไร่เกษตรกรตั้งแต่ปี 2538 - 2543 เป็นเวลา 6 ปี พบว่า ถั่วเหลืองสายพันธุ์ SSR9201-11-S ให้ผลผลิตเฉลี่ย 291 กิโลกรัม/ไร่ สูงกว่าพันธุ์นครสวรรค์ 1 ร้อยละ 13 มีอายุเก็บเกี่ยว 77 วัน ใกล้เคียงกับพันธุ์นครสวรรค์ 1
นอกจากนี้ สายพันธุ์ SSR9201-11-S ยังมีความต้านทานต่อโรคราน้ำค้างได้ดีกว่าพันธุ์นครสวรรค์ 1 และเพื่อยืนยันผลการทดลองดังกล่าวได้นำถั่วเหลืองสายพันธุ์ SSR9201-11-S เข้าทดสอบในไร่เกษตรกรในเขตจังหวัดสุโขทัย จำนวน 12 แปลง ในปี 2548 - 2550 สายพันธุ์ SSR9201-11-S ให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์นครสวรรค์ 1 ร้อยละ 33 ถั่วเหลืองสายพันธุ์ SSR9201-11 ได้รับการรับรองพันธุ์เป็นพันธุ์แนะนำ ในวันที่ 27 กรกฎาคม 2550 โดยใช้ชื่อว่า “พันธุ์ศรีสำโรง 1 (Si Samrong 1)”