ถั่วเหลืองอายุสั้นพันธุ์ศรีสำโรง 1 - printable_version +- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research) +-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1) +--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2551 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=26) +--- เรื่อง: ถั่วเหลืองอายุสั้นพันธุ์ศรีสำโรง 1 (/showthread.php?tid=1373) |
ถั่วเหลืองอายุสั้นพันธุ์ศรีสำโรง 1 - doa - 06-29-2016 ถั่วเหลืองอายุสั้นพันธุ์ศรีสำโรง 1 รวีวรรณ เชื้อกิตติศักดิ์, อลงกรณ์ กรณ์ทอง, สมศักดิ์ ศรีสมบุญ, สมเพชร พรมเมืองดี, เทวา เมาลานนท์, พรศักดิ์ ดวงพุดตาน, จรัญ ประทุมวงศ์ และอารีรัตน์ พระเพชร ศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิตสุโขทัย สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2 พิษณุโลก, สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ, สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1 เชียงใหม่, ศูนย์วิจัยพืชไร่ขอนแก่น สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 ขอนแก่น และศูนย์วิจัยพืชไร่เชียงใหม่ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1 เชียงใหม่
ถั่วเหลืองเป็นพืชไร่เศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ โดยมีคุณค่าทางด้านอาหาร ทั้งในด้านปริมาณโปรตีน (40%) และน้ำมัน (20%) มีพื้นที่ปลูกประมาณ 1.16 ล้านไร่ ผลผลิตรวม 2.72 แสนตัน ผลผลิตเฉลี่ย 234 กิโลกรัม/ไร่ แต่ผลผลิตถั่วเหลืองยังไม่เพียงพอกับความต้องการภายในประเทศ เนื่องจากพื้นที่ปลูกลดลงและมีการขยายตัวทางด้านอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ในปี 2544 มีการนำเข้ากากและเมล็ดถั่วเหลืองจำนวน 1.56 ล้านตัน และ 1.36 ล้านตัน ตามลำดับ คิดเป็นมูลค่า 26,000 ล้านบาท เพื่อเป็นการเพิ่มผลผลิตของถั่วเหลือง จำเป็นต้องหาพันธุ์ที่เหมาะสม โดยเฉพาะในแหล่งปลูกเขตภาคเหนือตอนล่าง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการปลูกมากกว่าแสนไร่ คือ จังหวัดสุโขทัย กำแพงเพชร และตาก สถานีทดลองพืชไร่ศรีสำโรง จึงได้พัฒนาพันธุ์ถั่วเหลืองให้เหมาะสมกับแหล่งปลูกถั่วเหลืองดังกล่าว ตั้งแต่ ปี 2534 จนได้พันธุ์ถั่วเหลืองสายพันธุ์ SSR9201-11-S ที่ให้ผลผลิตสูง อายุการเก็บเกี่ยวสั้น และต้านทานโรคราน้ำค้าง
ถั่วเหลืองสายพันธุ์ SSR9201-11-S ได้จากการผสมพันธุ์ระหว่างลูกผสมเดี่ยว นครสวรรค์1/Pudua8008B และ นครสวรรค์1/DM8032-1-9 ในปี 2535 ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาพืชผักเขตร้อนมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม และสถานีทดลองพืชไร่ศรีสำโรง จากนั้นนำไปผสมกลับกับพันธุ์นครสวรรค์ 1 จำนวน 1 ครั้งและคัดเลือกตั้งแต่ชั่วที่ 2 - 4 โดยวิธี Single seed descent และชั่วที่ 5 - 6 โดยวิธีสืบประวัติ (Pedigree) ที่ศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิตสุโขทัย ระหว่างปี 2536 - 2538 เพื่อให้ได้ลักษณะที่ต้านทานต่อโรค และให้ผลผลิตสูง ประเมินผลผลิตในเขตภาคเหนือตอนบน ภาคเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งในศูนย์วิจัย สถานีทดลอง และไร่เกษตรกรตั้งแต่ปี 2538 - 2543 เป็นเวลา 6 ปี พบว่า ถั่วเหลืองสายพันธุ์ SSR9201-11-S ให้ผลผลิตเฉลี่ย 291 กิโลกรัม/ไร่ สูงกว่าพันธุ์นครสวรรค์ 1 ร้อยละ 13 มีอายุเก็บเกี่ยว 77 วัน ใกล้เคียงกับพันธุ์นครสวรรค์ 1
นอกจากนี้ สายพันธุ์ SSR9201-11-S ยังมีความต้านทานต่อโรคราน้ำค้างได้ดีกว่าพันธุ์นครสวรรค์ 1 และเพื่อยืนยันผลการทดลองดังกล่าวได้นำถั่วเหลืองสายพันธุ์ SSR9201-11-S เข้าทดสอบในไร่เกษตรกรในเขตจังหวัดสุโขทัย จำนวน 12 แปลง ในปี 2548 - 2550 สายพันธุ์ SSR9201-11-S ให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์นครสวรรค์ 1 ร้อยละ 33 ถั่วเหลืองสายพันธุ์ SSR9201-11 ได้รับการรับรองพันธุ์เป็นพันธุ์แนะนำ ในวันที่ 27 กรกฎาคม 2550 โดยใช้ชื่อว่า “พันธุ์ศรีสำโรง 1 (Si Samrong 1)”
|