04-21-2016, 02:10 PM
การคัดเลือกแบคทีเรีย Pasteuria penetrans ที่มีศักยภาพในการควบคุมไส้เดือนฝอยรากปม Meloidogyne spp.
ไตรเดช ข่ายทอง, ธิติยา สารพัฒน์, มนตรี เอี่ยมวิมังสา และปิยรัตน์ ธรรมกิจวัฒน์
กลุ่มวิจัยโรคพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช และกลุ่มวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ
ไตรเดช ข่ายทอง, ธิติยา สารพัฒน์, มนตรี เอี่ยมวิมังสา และปิยรัตน์ ธรรมกิจวัฒน์
กลุ่มวิจัยโรคพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช และกลุ่มวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ
ในปี 2554 – 2555 ได้ตรวจพบแบคทีเรีย Pasteuria penetrans ในตัวอย่างไส้เดือนฝอยรากปมจากตัวอย่างหัวมันฝรั่ง (Solanum tuberosum cv. Atlantic) มันขี้หนู (Coleus parvifolius) และรากพริก (Capsicum annuum) และสามารถเพิ่มจำนวนสปอร์สำหรับใช้ในการทดลองได้บางไอโซเลต ในปี 2556 ทดสอบประสิทธิภาพของแบคทีเรีย Pasteuria penetrans 2 ไอโซเลตที่แยกได้จากมันฝรั่งและพริกอย่างละ 1 ไอโซเลต ในการควบคุมไส้เดือนฝอยรากปมในกระถางทดลองพลาสติกขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3 นิ้ว โดยวางแผนการทดลองแบบ CRD 4 กรรมวิธี 5 ซ้ำ โดยใช้แบคทีเรีย Pasteuria penetrans อัตรา 10(6) สปอร์/กระถาง โดยมีกรรมวิธีใช้สาร carbofuran 3G อัตรา 0.1 กรัมต่อกระถาง และกรรมวิธีไม่ใส่สารใดๆ เป็นกรรมวิธีเปรียบเทียบพบว่า น้ำหนักแห้งของต้นมะเขือเทศไม่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ค่าเฉลี่ยจำนวนปม และจำนวนกลุ่มไข่ ในกรรมวิธีที่คลุกดินด้วยสปอร์ของแบคทีเรีย P. penetrans ทั้ง 2 ไอโซเลตและกรรมวิธีที่คลุกดินด้วยสาร carbofuran 3G ต่ำกว่ากรรมวิธีที่ไม่ได้คลุกดินด้วยสปอร์ของแบคทีเรียหรือสารเคมีอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่ไม่พบความแตกต่างระหว่างกรรมวิธีที่คลุกดินด้วยสปอร์ของแบคทีเรีย P. penetrans และสาร carbofuran