การทดสอบเทคโนโลยีและประสิทธิภาพของห้องรมซัลเฟอร์ไดออกไซด์
#1
การทดสอบเทคโนโลยีและประสิทธิภาพของห้องรมซัลเฟอร์ไดออกไซด์
เกษสิริ ฉันทพิริยะพูน, ประไพ หงษา, พุทธธินันทร์ จารุวัฒน์, ขนิษฐา  วงษ์นิกร, ดาวนภา ช่องวารินทร์, สมชาย ฉันทพิริยะพูน, อุมาพร รักษาพราหมณ์, จิตติลักษณ์  เหมะ และธนิกา สีเผือก
สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 และศูนย์เกษตรวิศวกรรมจันทบุรี

          การใช้ซัลเฟอร์ไดออกไซด์รมลำไยผลสดเพื่อยืดอายุการเก็บรักษาลำไยเพื่อการส่งออกไปยังประเทศจีน ในช่วงปี  2553 - 2557 นั้น พบปัญหาซัลเฟอร์ไดออกไซด์ตกค้างเกินค่ามาตรฐานของประเทศจีน 50 มก./กก. ทำให้ประเทศจีนแจ้งเตือนอยู่บ่อยครั้ง จากปัญหาดังกล่าวหากไทยไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ประเทศจีนอาจระงับการนำเขาลำไยจากประเทศไทย ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงแก่เกษตรกรผู้ปลูกลำไยในพื้นที่ภาคตะวันออก มูลค่าไม่น้อยกว่า 4,752 ล้านบาท หรือไม่น้อยกว่า 9,500 ล้านบาทของผู้ผลิตลำไยทั้งประเทศ จากปัญหาดังกล่าวทำให้ต้องทำการวิจัยค้นหาสาเหตุหรือปัญหาของผู้ประกอบการ ในการรมซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ทั้งนี้เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ รวมทั้งศึกษาห้องรมที่เหมาะสมเพื่อใช้เป็นโรงรมต้นแบบในการให้คำแนะนำและเป็นโรงรมที่ผู้ประกอบการสามารถศึกษาการรมซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่ถูกต้องและเหมาะสมได้   

          จากการศึกษาโรงรมในพื้นที่ภาคตะวันออกในปี พ.ศ. 2553 – 2555 พบว่าโรงรมในพื้นที่ภาคตะวันออก มี 5 แบบ จำแนกโรงรมตามอุปกรณ์ที่ใช้ในการช่วยการกระจายตัวของแก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์ดังนี้ โรงรมแบบที่ 1 เป็นโรงรมที่ไม่มีอุปกรณ์ช่วยในการกระจายตัวของแก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (โรงรมชนิดนี้ต้องปรับปรุงเนื่องจากไม่เป็นไปตามมาตรฐาน 1004–2557) โรงรมชนิดที่ 2 ใช้ท่อและปั๊ม ช่วยในการกระจายตัวของแก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์  โรงรมชนิดที่ 3 ใช้พัดลมช่วยในการกระจายตัวของซัลเฟอร์ไดออกไซด์  โรงรมชนิดที่ 4 เหมือนแบบที่ 3 แต่มีระบบน้ำหล่อเย็นเพื่อลดอุณหภูมิไอกำมะถัน ก่อนเข้าห้องรม  โรงรมชนิดที่ 5 ระบบบังคับทิศทางลม 1 โรง ซึ่งจากข้อมูลดังกล่าวจะพบว่าโรงรมส่วนใหญ่ใช้พัดลมช่วยในการกระจายตัวของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ แต่เนื่องจากการติดตั้งพัดลมเพื่อช่วยในการกระจายตัวของแก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์มีหลายแบบซึ่งให้ผลต่อการกระจายตัวของแก๊สซัลเฟอรืไดออกไซด์ที่แตกต่างกัน จากการศึกษาพบว่า การติดตั้งพัดลมที่ส่งผลให้ปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในผลลำไยให้ผลดีที่สุด เป็นการติดตั้งพัดลม 4 ตัว ติดตั้งบริเวณด้านในห้องเหนือจุดที่ปล่อยแก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์เข้าห้องรม 2 ตัว ปรับพัดลมให้ก้มลงทำมุม 45 องศา และพัดลมอีก 2 ตัว ติดตั้งด้านหน้าเหนือพื้นประมาณ 45 ซม. จากผลการศึกษาพบว่า ปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ตกค้างในลำไย จำนวน 5 พาเลท (พาเลทวางเป็นชั้นๆ จำนวน 10 ชั้นๆ ละ 4  ตะกร้า) แต่ละพาเลท วิเคราะห์  3 ระดับ บน กลาง ล่างพบว่า ปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ตกค้างในจุดต่างๆ ที่ทำการวิเคราะห์ มีค่าใกล้เคียงกันดังนี้ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในเนื้อลำไยอยู่ในช่วง 26.26 – 48.41 มก./กก. ค่าเฉลี่ย 34 มก./กก.  เปลือก 1504.78 – 2088.01 มก./กก. ค่าเฉลี่ย 1783.20 มก./กก. ทั้งผลซัลเฟอร์ไดออกไซด์ตกค้าง 237 - 348.45 มก./กก. ค่าเฉลี่ย 307.14 มก./กก. จากการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ T – Test พบว่า ปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ทั้ง 5 พาเลท ที่วางตามจุดต่างๆ และในแต่ละระดับทั้ง บน กลาง ล่าง มีปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ตกค้างไม่แตกต่างกันทางสถิติ  ทั้งนี้ปัจจัยต่างๆ ที่จะช่วยให้ปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ตกค้างในระดับที่ปลอดภัย นอกจากการติดตั้งอุปกรณ์ช่วยในการกระจายตัวแล้ว ผู้ประกอบการต้องคำนวณปริมาณซัลเฟอร์ตาม มกษ 1004-2557 ให้ได้ปริมาณที่ถูกต้อง ต้องมีพื้นที่ว่างเพียงพอสำหรับการแพร่และกระจายตัวของแก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์ อัตราห้องขนาดกลาง (40 - 50 ลบ.ม.) ไม่นัอยกว่า 8: 1 นอกจากนั้นการบำบัดแก๊สต้องใช้มอเตอร์ที่มีกำลังไฟฟ้าที่เหมาะสมสำหรับดูดแก๊สออกไปบำบัด หอบำบัดต้องมีน้ำปูนใสและวัสดุสำหรับชะลอตัวขอแก๊ส และเพิ่มพื้นที่สัมผัส (Media) เพื่อกำจัดแก๊สส่วนเกินก่อนปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม


ไฟล์แนบ
.pdf   141_2557.pdf (ขนาด: 545.52 KB / ดาวน์โหลด: 871)
ตอบกลับ


ข้อความในเรื่องนี้
การทดสอบเทคโนโลยีและประสิทธิภาพของห้องรมซัลเฟอร์ไดออกไซด์ - โดย doa - 02-01-2017, 01:56 PM



ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม