การวิจัยและพัฒนาการเพิ่มผลผลิตอ้อย
#1
การวิจัยและพัฒนาการเพิ่มผลผลิตอ้อย
ทักษิณา ศันสยะวิชัย

การวิจัยและพัฒนาด้านดิน น้ำและปุ๋ยอ้อย
กอบเกียรติ ไพศาลเจริญ, ศุภกาญจน์ ล้วนมณี, สมควร คล้องช้าง, ดาวรุ่ง คงเทียน, อุดม วงศ์ชนะภัย, สุภาพร สุขโต, วาสนา วันดี, เบญจมาศ คำสืบ, บุญญาภา ศรีหาตา, วสันต์ วรรณจักร, วัลลีย์ อมรพล, พินิจ กัลยาศิลปิน, เบญจรัตน์ วุฒิกมลชัย, อนงค์นาฏ พรหมทะสาร, สมฤทัย ตันเจริญ, อุบล หินเธาว์, ศรีสุดา ทิพยรักษ์, สุปรานี มั่นหมาย, ภาวนา ลิกขนานนท์, ภัสชภณ หมื่นแจ้ง, นิลุบล ทวีกุล, ประชา ถ้ำทอง, ชยันต์ ภักดีไทย, อนุสรณ์ เทียนศิริฤกษ์, วัฒนศักดิ์ ชมภูนิช, ปรีชา กาเพ็ชร, อรรถสิทธิ์ บุญธรรม, วิภาวรรณ กิติวัชระเจริญ, วันทนา เลิศศิริวรกุล, กาญจนา กิระศักดิ์, ทักษิณา ศันสยะวิชัย และเหรียญทอง พานสายตา

          โครงการวิจัยและพัฒนาด้านดิน น้ำและปุ๋ยอ้อย ได้ดำเนินการตั้งแต่ปี 2554 ถึง 2558 มี 3 กิจกรรมทดลอง ประกอบด้วย 1) การวิจัยและพัฒนาดินการจัดการและปุ๋ยอ้อย ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กิจกรรมย่อย ได้แก่ 1.1) วิจัยและพัฒนาการตอบสนองของอ้อยต่อการจัดการธาตุอาหารเฉพาะพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางภูมิศาสตร์กับ 5 กลุ่มดินในพื้นที่ปลูกอ้อย และ 1.2) วิจัยการใช้ปัจจัยแบบผสมผสานต่อผลผลิตอ้อย 2) ศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีการจัดการน้ำในไร่อ้อย และ 3) ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อการเจริญเติบโต และผลผลิตของอ้อย

          ผลการทดลองพบว่า 1) กลุ่มดินทราย ที่ปรับปรุงดินด้วยกากตะกอนหม้อกรองอ้อย 1,000 กิโลกรัมต่อไร่ ร่วมกับโดโลไมท์ 100 กิโลกรัมต่อไร่ ให้ผลผลิตอ้อยปลูก และอ้อยตอ1 เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 - 34 และ 4 - 52 เมื่อเปรียบเทียบกับการไม่ปรับปรุงดิน ส่วนการปรับปรุงดินด้วยมูลไก่แกลบ 800 กิโลกรัมต่อไร่นั้น กลุ่มดินร่วนให้ผลผลิตอ้อยปลูก และอ้อยตอ1 เพิ่มขึ้นสูงสุด รองลงมา ได้แก่ กลุ่มดินเหนียว และกลุ่มดินนา ตามลำดับ สำหรับกลุ่มดินตื้นที่ปรับปรุงด้วยกากตะกอนหม้อกรองอ้อย และกลุ่มดินด่างที่ปรับปรุงด้วยกำมะถันผง ให้ผลผลิตอ้อยปลูก และอ้อยตอ1 เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย ซึ่งไม่คุ้มค่ากับการลงทุน 2) อ้อยพันธุ์อู่ทอง14 (94-2-106) ที่ปลูกในกลุ่มดินด่าง ให้ผลผลิตอ้อยปลูก และอ้อยตอ1 เพิ่มขึ้นร้อยละ 13 - 32 และ 6 - 15 เมื่อเปรียบเทียบกับพันธุ์อ้อยที่เกษตรกรนิยม ส่วนพันธุ์ขอนแก่น3 ให้ผลผลิตอ้อยปลูก และอ้อยตอ1 เพิ่มขึ้นสูงสุดในดินทรายเฉลี่ยร้อยละ 7 - 25 และ 8 - 18 รองลงมา ได้แก่ กลุ่มดินนาที่ปลูกอ้อยด้วยพันธุ์ขอนแก่น3 (หรือสุพรรณบุรี 80 ที่ปลูกในชุดดินราชบุรี) กลุ่มดินร่วน กลุ่มดินตื้น และกลุ่มดินเหนียว ตามลำดับ และพบว่าการปรับปรุงดินและใช้พันธุ์อ้อยที่เหมาะสมกับพื้นที่ สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ไนโตรเจนได้มากขึ้น และ 3) ได้สมการการตอบสนองต่ออัตราปุ๋ยไนโตรเจนที่เฉพาะเจาะจงกับอ้อยปลูกและอ้อยตอภายใต้สภาพที่มีการจัดการดินแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ เพื่อพัฒนาคำแนะนำอย่างเป็นระบบและถูกต้องมากขึ้นกว่าเดิม 4) ปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยมูลไก่ ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์ จุลินทรีย์ละลายฟอสเฟต และ วัสดุเหลือใช้จากโรงงานอุตสาหกรรมเกษตร เช่น น้ำกากส่า และน้ำเสียจากโรงงานแป้งมันสำปะหลัง สามารถใช้ผสมผสานร่วมกับปุ๋ยเคมี เพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโต เพิ่มผลผลิตอ้อย และลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมีได้ 5) ได้ค่าสัมประสิทธิ์การใช้น้ำ (Kc) ของอ้อยปลูก และอ้อยตอพันธุ์ขอนแก่น3 เพื่อใช้กำหนดปริมาณการใช้น้ำตามความต้องการของอ้อยให้สอดคล้องกับพื้นที่ปลูก 6) ได้แผนที่สภาพแวดล้อมของการผลิตอ้อยที่มีผลกระทบจากปัจจัยสภาพแวดล้อมที่จำกัดสำหรับอ้อยในเขตภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และการประยุกต์ใช้แบบจำลองเพื่อคาดการณ์และผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตของอ้อย ได้สมการอย่างง่ายและพัฒนาเป็นโปรแกรมสำเร็จรูป (cal.cane) สำหรับสมาร์ทโฟนที่มีระบบปฏิบัติการเป็นแอนดรอยด์ เพื่อประเมินผลผลิตอ้อยพันธุ์ขอนแก่น3 และแอลเค92-11 และ 7) ได้แนวทางเขตกรรมที่ถูกต้องเพื่อลดผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมขัง และอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น เช่น การวางแผนช่วงปลูกและเก็บเกี่ยวในพื้นที่เสี่ยงกับน้ำท่วม การเตรียมดินที่ถูกต้อง และการเพิ่มประสิทธิภาพการให้น้ำอ้อยในตอนกลางคืนแทนกลางวัน นอกเหนือจากการใช้พันธุ์และปุ๋ยที่เหมาะสมกับพื้นที่

การบริหารการจัดการศัตรูอ้อย
สุนี ศรีสิงห์, สิริชัย สาธุวิจารณ์, ยุรวรรณ อนันตนมณี, จรรยา มณีโชติ, วันทนา เลิศศิริวรกุล, อิสระ พุทธสิมมา, ดารารัตน์ มณีจันทร์, อมรา ไตรศิริ, ศุจิรัตน์ สงวนรังศิริกุล, กาญจนา กิระศักดิ์, นิลุบล ทวีกุล, ภาคภูมิ ถิ่นคำ, อมรรัชฏ์ คิดใจเดียว, อรทัย วรสุทธิ์พิศาล และทักษิณา ศันสยะวิชัย

          โครงการเริ่มดำเนินงานตั้งแต่ปี 2554 - 2558 ประกอบด้วย 3 กิจกรรมหลัก ตามประเภทของศัตรูอ้อยที่สำคัญ คือ กิจกรรมด้านการจัดการวัชพืช การจัดการด้านแมลงศัตรูอ้อยแบบผสมผสาน และการจัดการโรคใบขาวซึ่งเป็นโรคที่สำคัญของอ้อย

          ทำการทดสอบประสิทธิภาพสารกำจัดวัชพืชทั้ง ก่อนงอก หลังงอก และประเภทเถาเลื้อย ในพื้นที่ปลูกอ้อย 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสุพรรณบุรี กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ระยอง และนครสวรรค์ พบว่า สารกำจัดวัชพืชที่นำมาทดสอบส่วนใหญ่สามารถควบคุมวัชพืชในไร่อ้อยค่อนข้างดี แม้มีปัญหาเป็นพิษในช่วงแรกแต่สามารถใช้ได้ และจากการสำรวจวัชพืชทั้งในภาคกลาง 44 แปลง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 55 แปลง จากตัวอย่างจำนวน 158 ประชากร ยังไม่พบว่ามีวัชพืชต้านทานสารเคมีแต่อย่างใด การป้องกันกำจัดวัชพืชแบบผสมผสานในพื้นปลูกอ้อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในดินร่วนทรายการปลูกพืชคลุมดินจะทำให้มีปริมาณวัชพืชลดลง แต่ทำให้ต้นทุนการผลิตสูง เมื่อใช้ถั่วขอปลูกเป็นพืชคลุมดินและกำจัดวัชพืชด้วยแรงงานและเครื่องมือติดรถไถเดินตามทำให้ได้ผลผลิตอ้อยสูงสุดและให้กำไรสูงกว่าการไม่ปลูกพืชคลุมดิน ส่วนในดินร่วนการไม่ปลูกพืชแซมจะทำให้ผลผลิตอ้อยปลูกและอ้อยตอรวมกันเพิ่มขึ้น และให้ผลกำไรสูงสุด

          ในกิจกรรมวิจัยและพัฒนาวิธีการป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูอ้อยที่สำคัญ ทำการสำรวจแมลงในพื้นที่ปลูกอ้อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือตั้งแต่ปี 2554 - 2556 พบว่าแมลงอ้อยที่สำคัญ คือ หนอนกอลายจุดเล็ก และหนอนกอลายใหญ่ การแพร่ระบาดของแมลง ความชื้นเป็นปัจจัยสำคัญ โดยความชื้นที่ระดับร้อยละ 70 ขึ้นไป หนอนกอลายจุดใหญ่จะมีการทำลายมากที่สุด ส่วนในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันตกแมลงนูนหลวงเป็นแมลงศัตรูที่สำคัญ เมื่อทำการศึกษาการเข้าทำลายในช่วงปี 2555 - 2558 ทั้ง ในไร่เกษตรกรและในเรือนทดลองพบว่า การทดลองปล่อยหนอนวัย 3 ตั้งแต่ 1 ตัวทำให้ผลผลิตอ้อยลดลง เนื่องจากน้ำหนักต่อลำลดลงในขณะที่ไม่ทำให้ความหวานของอ้อยลดลง ส่วนการสำรวจในไร่เกษตรกรพบว่า หนอนแมลงนูนหลวงมีผลให้อ้อยเกิดความสูญเสียต่อผลผลิตน้ำหนักต่อไร่ และจำนวนลำของอ้อยพันธุ์ขอนแก่น3 ที่อายุ 12 เดือนลดลง โดยการเข้าทำลายของหนอนแมลงนูนหลวงที่ระดับร้อยละ 32.22 ส่งผลให้ผลผลิตอ้อยลดลงร้อยละ 55.81 สำหรับความสูญเสียความหวานนั้น พบว่าอ้อยมีค่าความหวานสูงขึ้นเนื่องจากการสูญเสียน้ำ ระยะเวลาของการทำลายของแมลงนูนหลวงมีผลต่อความเสียหาย เนื่องจากอ้อยจะแสดงอาการขาดน้ำเร็ว และหากไม่สามารถเก็บเกี่ยวได้ในช่วงแรกจะทำให้สูญเสียผลผลิตทั้งหมด นอกจากนี ยังพบว่ามีพื้นที่การระบาดเพิ่มขึ้น เช่น ในเขตอำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ การให้น้ำมีผลทำให้วงจรชีวิตของด้วงหนวดยาวเปลี่ยนไป แมลงเป็นตัวเต็มวัยเร็วขึ้นและมีหนอนหลายขนาดอยู่ในพื้นที่เดียวกัน

          กิจกรรมการจัดการโรคใบขาวแบบผสมผสาน ใช้เทคนิคทางด้านชีวเคมี เช่น High Resolution Melting (HRM), Real time PCR เพื่อศึกษาความแตกต่างของเชื้อไฟโตพลาสมาสาเหตุโรคใบขาวอ้อย และความปลี่ยนแปลงทางชีวเคมีภายในอ้อยที่เป็นโรค หาทางตรวจเชื้อที่แม่นยำยิ่งขึ้น เพื่อเป็นแนวทางในการป้องกันกำจัดโรคใบขาว นอกจากนี้ได้หาทางลดปัญหาความรุนแรงของโรคใบขาว ได้แก่ การศึกษาผลของระยะเวลาปลูกต่อการเกิดโรค การใช้ธาตุอาหารที่เหมาะสมในการผลิตท่อนพันธุ์อ้อยปลอดโรค และการใช้น้ำร้อนและสารปฏิชีวนะในการลดปริมาณเชื้อในท่อนพันธุ์และในเนื้อเยื่ออ้อยปลอดโรค ตามลำดับ

การทดสอบและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตอ้อยที่เหมาะสมกับแต่ละสภาพพื้นที่

          ทดสอบเทคโนโลยีการเพิ่มผลผลิตอ้อยในเขตปลูกอ้อยทั่วประเทศ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน การทดสอบเทคโนโลยีการผลิตอ้อยที่เหมาะสมกับพื้นที่ โดยใช้เทคโนโลยีการใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินและการใช้สารปรับปรุงดิน เปรียบเทียบกับกรรมวิธีเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ และอุดรธานีใช้สารปรับปรุงดินโดโลไมท์ 200 กิโลกรัมต่อไร่ ที่ชัยภูมิปรับปรุงดินด้วยปุ๋ยพืชสด (ปอเทือง) และปูนขาว และเลยปรับปรุงดินด้วยกากตะกอนหม้อกรองร่วมกับใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ให้ผลผลิตและผลตอบแทนต่อการลงทุนดีกว่าวิธีเกษตรกร การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินที่มุกดาหาร ขอนแก่นและสกลนคร กรรมวิธีทดสอบให้ผลผลิตอ้อยปลูกและอ้อยตอสูงกว่ากรรมวิธีเกษตรกร และการทดสอบเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการควบคุมโรคใบขาวอ้อย ที่อุดรธานี กาฬสินธุ์ มุกดาหาร และขอนแก่น การใช้พันธุ์อ้อยสะอาดจากแปลงพันธุ์ การปรับปรุงดินด้วยโดโลไมท์ และใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ลดการเป็นโรคใบขาวและได้ผลผลิตมากกว่าวิธีของเกษตกร แต่ในแหล่งที่โรคระบาดรุนแรงพบการเป็นโรคมากในอ้อยตอ

          ตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ช่วงปี 2554 - 2556 ทดสอบการใช้ปุ๋ยเพื่อเพิ่มผลผลิตอ้อยพันธุ์ขอนแก่น 3 พบว่าการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน หรือปรับใช้ปุ๋ยผสมสูตรใกล้เคียงร่วมปุ๋ยคอกทำให้ได้ผลผลิตและผลตอบแทนสูงกว่าวิธีการเดิมของเกษตรกรที่จังหวัดร้อยเอ็ด และนครราชสีมา และการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินให้ผลดีกว่าวิธีเกษตรกรที่ มหาสารคาม บุรีรัมย์ สุรินทร์ และนครราชสีมา และพันธุ์ใหม่ของกรมวิชาการเกษตร อู่ทอง 9 และอู่ทอง 10 ให้ผลผลิตดีกว่าพันธุ์เดิมของเกษตรกร (เค95-84) ที่สีคิ้ว นครราชสีมา ช่วงปี 2557 - 2558 การใช้เทคโนโลยีการผลิตของกรมวิชาการเกษตร ได้แก่ พันธุ์ของแก่น3 จากแปลงพันธุ์สะอาด ใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินและดูแลรักษาตามคำแนะนำให้ผลผลิตและผลตอบแทนดีกว่าวิธีเกษตรกรที่ร้อยเอ็ด มหาสารคาม นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษและอำนาจเจริญ

          ภาคเหนือตอนล่างนำเทคโนโลยีการผลิตอ้อยของกรมวิชาการเกษตร ได้แก่ อ้อยพันธุ์ขอนแก่น3 และขอนแก่น80 ร่วมกับการใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน มาเปรียบเทียบกับการใช้พันธุ์ที่นิยมของเกษตรกร ได้แก่ แอลเค92-11 และเค99-72 กับการใส่ปุ๋ยของเกษตรกรในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง 6 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร ตาก พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย และอุตรดิตถ์ จังหวัดละ 2 แปลง ระหว่างปี 2554 ถึง 2557 พบว่า การปลูกอ้อยพันธุ์ขอนแก่น3 หรือขอนแก่น80 ร่วมกับการใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินในเขตภาคเหนือตอนล่าง สามารถยกระดับผลผลิตอ้อย ความหวาน ผลผลิตน้ำตาล และผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์สูงกว่าการผลิตอ้อยของเกษตรกรร้อยละ 24 7 33 และ 19 ตามลำดับ เกษตรกรยอมรับเทคโนโลยีใหม่โดยเฉพาะเรื่องพันธุ์ แต่ในเรื่องการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินเกษตรกรบางส่วนยังไม่เข้าใจและเป็นเทคโนโลยีที่มีข้อจำกัดในการตรวจวิเคราะห์ต้องมีการถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปุ๋ยให้แก่เกษตรกรหรือนำไปปรับใช้ได้

          ภาคกลางและตะวันตก การทดสอบการจัดการโรคใบขาวอ้อยในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี ราชบุรี และอุทัยธานี สรุปได้ว่าในพื้นที่ที่โรคใบขาวไม่ระบาดรุนแรง การใช้ท่อนพันธุ์ที่สะอาด มีการกำจัดเชื้อโดยการแช่น้ำร้อนที่ 52 องศาเซลเซียส 30 นาที ป้องกันโรคใบขาวได้ ส่วนในพื้นที่ที่มีโรคใบขาวหนาแน่นกว่า การใช้ท่อนพันธุ์ที่ปลอดโรคน่าจะมีความจำเป็น และการเลือกแหล่งที่มาของพันธุ์อ้อยก็มีความสำคัญเช่นกัน เพราะอาจมีเชื้อติดมากับท่อนพันธุ์ได้ ในอ้อยตอพันธุ์ขอนแก่น3 ในพื้นที่ทดสอบให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์อู่ทอง 8 ทดสอบอ้อยพันธุ์ใหม่ อู่ทอง9 อู่ทอง84-10 อู่ทอง84-11 อู่ทอง12 และขอนแก่น3 ใน 6 สถานที่ มี 4 แปลง ที่พันธุ์ใหม่ให้ผลผลิตเฉลี่ย 3 ปี สูงกว่าพันธุ์ขอนแก่น3 ทดสอบวิธีการสางใบเพื่อลดการเผ่าอ้อยก่อนตัด การสางใบทำให้อ้อยมีความยาวลำมากกว่าอ้อยที่ไม่มีการสางใบเพราะใบอ้อยที่สางออกช่วยคลุมดินทำให้ดินมีความชื้น พันธุ์ขอนแก่น3 ใช้สางสางใบน้อยกว่าพันธุ์แอลเค92-11 ผลผลิตสูงใช้สางสางใบมากขึ้น ดำเนินการเปรียบเทียบกรรมวิธีการผลิตอ้อยตามวิธีของเกษตรกร และเทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตร ตั้งแต่การจัดการดิน การจัดการพันธุ์อ้อย การปรับปรุงบำรุงดิน การจัดการวัชพืช การจัดการโรคและแมลง การเก็บเกี่ยวและการดูแลอ้อยตอ ที่สุพรรณบุรีกรรมวิธีทดสอบให้ผลผลิตสูงกว่ากรรมวิธีเกษตรกรจากเกษตรกร 3 รายใน 5 รายที่ร่วมทดสอบที่อุทัยธานีวิธีทดสอบและวิธีเกษตรกร ให้ผลผลิตอ้อยเฉลี่ยใกล้เคียงกัน ทำให้มีต้นทุนรายได้ และผลตอบแทนใกล้เคียงกัน มีอัตราผลตอบแทนต่อการลงทุน 1.4 และ 1.3 ตามลำดับ ร้อยละ 80 ของเกษตรกรที่ร่วมงานมีความพึงพอใจในเทคโนโลยี

          ภาคตะวันออก พันธุ์ใหม่ของกรมวิชาการเกษตร ขอนแก่น3 ให้ผลผลิตดีกว่าพันธุ์ของเกษตรกร (แอลเค92-11/เค88-92) จากเกษตรกร 3 ใน 5 รายที่ร่วมทดสอบที่จังหวัดสระแก้ว เกษตรกรมีความสนใจในพันธุ์ขอนแก่น3 เนื่องจากให้ผลผลิตสูง และพันธ์ขอนแก่น3 อู่ทอง9 อู่ทอง10 อู่ทอง84-11 ดีกว่าพันธุ์ของเกษตรกร 4 ใน 5 รายที่จังหวัดชลบุรี

          การทดสอบและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตอ้อยเพื่อทำน้ำตาลอ้อยในท้องถิ่น ในภาคเหนือตอนบน ปี 2554 - 2556 อ้อยสุพรรณบุรี50 ให้ผลผลิตที่สูงกว่าพันธุ์พื้นเมืองที่เกษตรกรปลูกอยู่เดิมถึงร้อยละ 7 และสามารถไว้ตอได้จนถึงตอ 2 เป็นพันธุ์อ้อยที่มีศักยภาพเหมาะสมกับพื้นที่ ปี 2557 - 2558 การทดสอบและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตอ้อยเพื่อทำน้ำตาลอ้อยในระบบการปลูกพืชจังหวัดพะเยา เชียงใหม่ แพร่ และแม่ฮ่องสอน ปลูกอ้อยพันธุ์สุพรรณบุรี50 ผลผลิตอ้อยที่ได้เฉลี่ยจากแปลงเกษตรกร ทั้งสี่จังหวัด รวม 20 ราย จากแปลงปลูกแบบแถวเดี่ยวมีผลผลิตมากกว่าการปลูกแบบแถวคู่ (12,690 กก./ไร่ เทียบกับ 11,909 กก./ไร่) เนื่องจากมีน้ำหนักลำมากกว่า แม้ว่าจะมีจำนวนต้นต่อไร่ น้อยกว่าและจัดการแปลงได้สะดวกกว่าการปลูกแถวคู่ ผลผลิตอ้อยแปรรูปเป็นนำอ้อยก้อนได้ 1,211 – 1,236 กิโลกรัมต่อไร่ มีรายได้เฉลี่ย 37,723 - 40,490 บาทต่อไร่

          การศึกษาการยอมรับเทคโนโลยีการผลิตอ้อยของเกษตรกร ได้ทำการสำรวจและเก็บรวบรวมข้อมูลทางด้านเทคโนโลยีการผลิตอ้อยของเกษตรกรปี 2553 และ 2554 โดยสุ่มตัวอย่างเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยในภาคกลางได้แก่ จังหวัดสุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี อุทัยธานี รวม 218 ราย และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น นครราชสีมา มุกดาหาร 170 ราย ใน 4 จังหวัดภาคกลาง มีการใช้เทคโนโลยีตามคำแนะนำของกรมฯ ระดับปานกลาง เมื่อพิจารณาแต่ละด้านพบว่า ด้านการใช้พันธุ์และการจัดการท่อนพันธุ์เกษตรกรมีการใช้ระดับต่ำ ด้านการเตรียมแปลง การปลูก การใส่ปุ๋ยมีการใช้ระดับปานกลาง ด้านการให้นำมีการใช้ระดับปานกลางในจังหวัดสุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี ยกเว้นอุทัยธานีที่มีการใช้นำอยู่ในระดับต่ำ ด้านการอารักขาพืช มีการใช้อยู่ในระดับสูง ทั้งนี้เพราะส่วนใหญ่มีสภาพพื้นที่ไม่มีการระบาดโรค/แมลง/หนู หรือมีปริมาณน้อย ด้านการเก็บเกี่ยวประกอบด้วยอายุเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม การเผ่าใบก่อนตัด การตัดชิดดิน การส่งโรงงานหลังจากตัดเสร็จในแปลง มีการใช้ระดับสูงในจังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี ยกเว้นสุพรรณบุรี และอุทัยธานีที่จัดอยู่ในระดับปานกลาง สำหรับ 3 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาพรวมทุกด้านมีระดับการใช้ปานกลาง เมื่อพิจารณาแต่ละด้านพบว่า ด้านการจัดการท่อนพันธุ์มีการใช้ระดับต่ำ ยกเว้นที่จังหวัดมุกดาหารมีการใช้ระดับปานกลาง ทางด้านการเตรียมแปลง การเก็บเกี่ยว มีการใช้ระดับปานกลาง ด้านการปลูกมีการใช้ระดับสูง ยกเว้นที่จังหวัดมุกดาหาร ด้านการใส่ปุ๋ย มีการใช้ระดับต่ำ ด้านการอารักขาพืช มีการใช้อยู่ในระดับสูง ทั้งนี เพราะสภาพพื้นที่ไม่มีการระบาดโรค/แมลง/หนู หรือมีปริมาณน้อย

          ในปี 2555 ได้ทำการสำรวจข้อมูลจากเกษตกรในพื้นที่รอบโรงงานน้ำตาลมหาวัง และโรงงานน้ำตาลมิตรภูเวียง แบ่งกลุ่มของเกษตกรออกตามระยะห่างจากโรงงานในแนวรัศมีเป็น 3 กลุ่ม โดยให้มีระยะห่างจากโรงงานไม่เกิน 50 กิโลเมตร ผลการสำรวจพบว่าต้นทุนต่อตันอ้อยอยู่ในช่วงประมาณ 871 - 934 บาทต่อตันอ้อย ในณะที่ราคาอ้อยขั้นต้นกำหนดราคารับซื้ออ้อยราคาตันละ 950 บาทที่ 10 ซีซีเอส เกษตกรที่อยู่ในพื้นที่ใกล้โรงงานจะมีต้นทุนต่ำที่สุด และต้นทุนส่วนใหญ่จะมาจากค่าขนส่ง รองลงมา คือ ค่าปุ๋ยซึ่งเป็นต้นทุนที่สามารถลดลงได้หากมีการใช้อย่างเหมาะสม

          การทดสอบเพื่อปรับใช้ชุดเทคโนโลยีการผลิตอ้อย การทดสอบระบบสนับสนุนการตัดสินใจเพื่อการผลิตอ้อยตอในภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ทำการเก็บผลผลิตและความชื้นดินในวันที่เก็บเกี่ยวอ้อย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการตัดสินใจในการไว้ตออ้อยจำนวน 30 แปลง เปรียบเทียบกับผลที่ได้จากแบบจำลองที่ใช้พบว่า ทั้งผลผลิตและความชื้นดินระดับต่างๆ ที่ได้จากการเก็บตัวอย่างและจากการจำลองไม่มีความสัมพันธ์กัน ชี้ให้เห็นว่าระบบสนับสนุนการตัดสินใจนี้ ยังไม่สามารถนำไปใช้ในระดับแปลงทดลองได้ การเปรียบเทียบชุดเทคโนโลยีการป้องกันกำจัดโรคใบขาวอ้อย โดยใช้ท่อนพันธุ์สะอาดร่วมกับการจัดการสมดุลธาตุอาหาร โดยใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ให้ผลผลิตและผลตอบแทนดีกว่าวิธีการเดิมของเกษตรกร และเป็นโรคใบขาวลดลงที่นครราชสีมา ขอนแก่น ร้อยเอ็ด และมหาสารคาม ถ้าไม่มีแปลงพันธุ์ การเลือกต้นพันธุ์ที่ไม่มีอาการโรคและการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน และขจัดต้นที่เป็นโรคทิ้ง ก็สามารถเพิ่มผลผลิตและอาการโรคได้ และการใช้จอบหมุนทั้งสองแบบในการสับกลบใบอ้อย คือ แบบสำหรับรถแทรกเตอร์ขนาดเล็ก 24 แรงม้า หรือที่เรียกว่าแบบวิ่งในร่องกับแบบสำหรับรถแทรกเตอร์ขนาดกลาง 45 แรงม้า หรือที่เรียกว่าแบบวิ่งคร่อมร่องนั้นให้ผลในเชิงประสิทธิภาพการสับกลบที่ไม่มีความแตกต่างกันแต่ในแง่การสิ้นเปลืองน้ำมันและราคาเครื่องจักรมีความแตกต่างกัน คือ เครื่องเล็กจะสิ้นเปลืองน้ำมันและมีราคาถูกกว่า



ไฟล์แนบ
.pdf   197_2558.pdf (ขนาด: 881.95 KB / ดาวน์โหลด: 7,409)
ตอบกลับ


ข้อความในเรื่องนี้
การวิจัยและพัฒนาการเพิ่มผลผลิตอ้อย - โดย doa - 12-02-2016, 03:22 PM



ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 2 ผู้เยี่ยมชม