11-24-2016, 11:21 AM
การปรับปรุงพันธุ์และเทคโนโลยีการผลิตมะนาว
วสรรญ ผ่องสมบูรณ์, ณรงค์ แดงเปี่ยม, อนุรักษ์ สุขขารมย์, นลินี ศิวากรณ์, สุดาวรรณ มีเจริญ, ทวีป หลวงแก้ว, ดรุณี เพ็งฤกษ์, เสงี่ยม แจํมจำรูญ, วราพงษ์ ภิระบรรณ์, มนัสชญา สายพนัส, พจนา ตระกูลสุขรัตน์ และรุ่งนภา คงสุวรรณ
วสรรญ ผ่องสมบูรณ์, ณรงค์ แดงเปี่ยม, อนุรักษ์ สุขขารมย์, นลินี ศิวากรณ์, สุดาวรรณ มีเจริญ, ทวีป หลวงแก้ว, ดรุณี เพ็งฤกษ์, เสงี่ยม แจํมจำรูญ, วราพงษ์ ภิระบรรณ์, มนัสชญา สายพนัส, พจนา ตระกูลสุขรัตน์ และรุ่งนภา คงสุวรรณ
การสำรวจ รวบรวม และอนุรักษ์เชื้อพันธุ์มะนาว ในสภาพแปลงปลูก ( Ex situ) ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร อ.เมือง จ.พิจิตร ระหว่าง พ.ศ.๒๕๕๔ และ ๒๕๕๘ ดำเนินการศีกษาลักษณะประจำพันธุ์ทางพฤกษศาสตร์ (botanical characteristics) และลักษณะทางการเกษตร (descriptors) ของมะนาว จำนวน 50 พันธุ์ และได้ข้อมูลตามแบบการจัดเก็บบันทึกฐานข้อมูลของ IBPGR เพื่อใช้ประโยชน์เป็นแหล่งเชื้อพันธุ์ในการจัดการด้านพันธุ์มะนาวตามวัตถุประสงค์ต่างๆ
การเปรียบเทียบพันธุ์มะนาวลูกผสมที่คัดเลือกได้จากการผสมพันธุ์ จำนวน 13 สายพันธุ์ เพื่อพัฒนาพันธุ์ใหม่ที่ให้ผลผลิตเพิ่ม คุณภาพดี และทนทานโรคแคงเกอร์ ดำเนินการ ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร อ.เมือง จ.พิจิตร พบว่าใน ปี พ.ศ. 2558 พันธุ์ พจ.53-1 ให้ผลผลิตสูงสุด เฉลี่ย 144 ผลต่อต้น และพันธุ์ พจ.6-47 ให้ผลผลิตต่ำสุดเฉลี่ย 3 ผลต่อต้น
การเปรียบเทียบสายต้นคัดเลือกมะนาวพิจิตร1 ที่ผ่านการฉายรังสีและมีเมล็ดน้อยหรือไม่มีเมล็ดจำนวน 24 สายต้นที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร โดยมีมะนาวสายต้นพันธุ์พิจิตร1 ที่ไม่ได้รับการฉายรังสีเป็นพันธุ์เปรียบเทียบ พบว่าต้นมะนาวมีการเจริญเติบโตทั้ง 3 ลักษณะ ได้แก่ ด้านความสูงต้น เส้นผ่านศูนย์กลางทรงพุ่มและเส้นรอบวงโคนต้นมีความแตกต่างทางสถิติทั้งในปี 2557 และปี 2558 เริ่มออกดอกติดผล แต่ยังไม่ให้ผลผลิต
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร ศึกษาเปรียบเทียบมะนาวสายพันธุ์แป้นที่ให้ผลผลิตดีและเป็นโรคแคงเกอร์น้อย ผลผลิตคุณภาพดี ที่ได้คัดเลือกจำนวน 12 สายพันธุ์ จากการคัดเลือกและรวบรวมพันธุ์จากแหล่งปลูกในจังหวัดต่างๆ ได้จำนวน 32 สายพันธุ์ ในแปลงปลูก เปรียบเทียบกับมะนาวพันธุ์แป้นรำไพ (check) พบว่ามะนาวแป้นสายพันธุ์ที่คัดเลือกทั้ง 12 สายพันธุ์ มีการเจริญเติบโต ไม่แตกต่างกับมะนาวพันธุ์แป้นรำไพ มะนาวสายพันธุ์ พจ.55-03 มีผลผลิตเฉลี่ย 558.0 ผลต่อต้น สูงกว่าพันธุ์แป้นรำไพ (เฉลี่ย 360.0 ผลต่อต้น) ส่วนมะนาวสายพันธุ์พจ.55-12 และพจ.55-04 เป็นโรคแคงเกอร์ที่กิ่งและใบน้อยกว่า มะนาวพันธุ์แป้นรำไพ
ปัญหาการขาดแคลนผลผลิตมะนาวในช่วงฤดูแล้ง (นอกฤดูกาล) และล้นตลาดในช่วงฤดูฝน (ในฤดูกาล) ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกไม่ประสบความสำเร็จในการผลิตมะนาวเป็นการค้า การควบคุมให้ต้นมะนาวสามารถสร้างดอก และติดผลก่อนฤดูได้หนาแน่นมากขึ้น ในระหว่างเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน จะทำให้มีผลผลิตแก่เก็บเกี่ยวออกสู่ตลาดได้ในช่วงเวลาระหว่างเดือนมกราคม กุมภาพันธ์ มีนาคม เมษายน และพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ตลาดมีความต้องการมาก ผลจากการศึกษาพบว่า การให้สารพาโคลบิวทราโซลทางใบความเข้มข้น 400 มิลลิกรัมต่อลิตร ระหว่างกลางเดือนสิงหาคมและต้นเดือนกันยายน เหมาะสมในการบังคับการออกดอกก่อนฤดูและให้ผลผลิตเพิ่มมากในช่วงฤดูแล้งได้ทั้งในปี พ.ศ. 2554 - 2555 และพ.ศ. 2555 - 2556 นอกจากนี้ยังพบว่าวิธีให้สารยูนิคอนาโซล ทางดินปริมาณ 0.1, 0.2 และ 0.4 กรัมต่อความกว้างทรงพุ่ม 1 เมตร และวิธีให้สารยูนิคอนาโซล ทางใบความเข้มข้น 5, 10 และ 20 มิลลิกรัมต่อลิตร มีผลให้ต้นมะนาวสามารถออกดอกนอกฤดูระหว่างเดือนตุลาคม 2557 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2557 ได้ไม่แตกต่างกับการให้สารพาโคลบิวทราโซลทางดินร่วมกับวิธีควั่นและรัดกิ่งต้นด้วยเชือก และวิธีให้สารละลายพาโคลบิวทราโซลทางใบความเข้มข้น 400 มิลลิกรัมต่อลิตร
การศึกษาอัตราและระยะเวลาที่เหมาะสมในการใช้ชีวภัณฑ์ที่ผลิตได้จากเชื้อแบคทีเรีย Bacillus subtilis เพื่อป้องกันกำจัดโรคแคงเกอร์ของมะนาวที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Xanthomonas axonopodis pv. citri (synonym X. campestris pv. citri ) พบว่าสารเคมีคอปเปอร์ออกซี่คลอไรด์มีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดโรคแคงเกอร์ดีที่สุดโดยแสดงระดับคะแนนการเกิดโรคต่ำที่สุดเฉลี่ย 2.3 รองลงมา ได้แก่ การใช้ชีวภัณฑ์จากเชื้อ Bacillus subtilis อัตรา 5 กรัม/น้ำ 1 ลิตร และ10 กรัม/น้ำ 1 ลิตรโดยให้ระดับคะแนนการเกิดโรคเฉลี่ย 2.5 และ 2.4 และกรรมวิธีเปรียบเทียบ (น้ำ) แสดงคะแนนการเกิดโรคสูงสุดเฉลี่ย 3.3 ส่วนระยะเวลาในการฉีดพ่นทุก 7 วันไม่มีความแตกต่างกับการฉีดพ่นทุก 14 วัน
ประสิทธิภาพของน้ำหมักจากกระเทียมและสมุนไพรอื่นต่อโรคแคงเกอร์ของมะนาวในแปลงปลูกอำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร พบว่าน้ำหมักจากกระเทียมและกำยานในแอลกอฮอล์ 7% มีผลลดการเกิดโรคแคงเกอร์ของมะนาวได้ดีที่สุด (ระดับคะแนนการเกิดโรค 2.36) รองลงมา ได้แก่ น้ำหมักจากกำยานในแอลกอฮอล์ 7% และแอลกอฮอล์ 7% อย่างเดียว มีผลลดการเกิดโรคแคงเกอร์ของมะนาวได้ (ระดับคะแนนการเกิดโรค 2.64 และ 2.73 ตามลำดับ) ส่วนน้ำหมักจากกำมะถันในแอลกอฮอล์ และน้ำ มีผลให้ระดับคะแนนการเกิดโรค 3.55 และ 4.64 ตามลำดับ
การศึกษาหาชนิดต้นตอที่เหมาะสมกับมะนาวพันธุ์การค้า โดยการปลูกต้นมะนาวพันธุ์แป้นรำไพที่เจริญบนต้นตอชนิดต่างๆ 13 ชนิด ในสภาพแปลงปลูกยกร่อง ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร ปรากฏว่าการเจริญเติบโตของลำต้น มะนาวพันธุ์แป้นรำไพที่เจริญบนต้นตอส้มพันธุ์ Cleopatra ต้นตอส้มโอพันธุ์ขาวแตงกวา ต้นตอส้ม volkameriana และต้นตอ rangpur lime มีขนาดของเส้นรอบวงโคนต้นทั้งยอดพันธุ์และส่วนต้นตอที่เพิ่มขึ้นมากที่สุด ส่วนต้นมะนาวพันธุ์แป้นรำไพที่เจริญบนต้นตอมะขวิด ต้นตอส้มโอพันธุ์พล และส้มโอพันธุ์อีเตี้ย มีขนาดเส้นรอบวงโคนต้นทั้งส่วนยอดพันธุ์และส่วนต้นตอเพิ่มขึ้นน้อยที่สุด ในระยะอายุต่างๆ เป็นเวลา 12, 23, 26 และ 32 เดือน หลังปลูก ตามลำดับ ต้นมะนาวพันธุ์แป้นรำไพที่เจริญบน ต้นตอ rangpur lime มะนาวพันธุ์พิจิตร 1 และส้มพันธุ์ cleopatra มีความสูงของต้นที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยสูงที่สุด ในขณะที่ต้นมะนาวพันธุ์แป้นรำไพที่เจริญบน ต้นตอส้มโอพันธุ์ทองดี มะขวิด และส้มโอพันธุ์ขาวแตงกวา ซึ่งมีความสูงของต้นที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยต่ำที่สุด ในระยะอายุต่างๆ หลังปลูกดังกล่าว ต้นมะนาวพันธุ์แป้นรำไพที่เจริญบนต้นตอ rangpur lime มะนาวพันธุ์น้ำหอม และมะนาวพันธุ์พิจิตร1 มีเส้นผ่านศูนย์กลางทรงพุ่มต้นที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยสูงที่สุด ในขณะที่ต้นมะนาวพันธุ์แป้นรำไพที่เจริญบน ต้นตอมะขวิด ส้มโอพันธุ์พล และมะกรูด ซึ่งมีเส้นผ่านศูนย์กลางทรงพุ่มต้นที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยต่ำสุด ในระยะอายุต่างๆ หลังปลูกดังกล่าว
การศึกษาหารูปแบบที่เหมาะสมในการตัดแต่งกิ่งควบคุมขนาด และทรงต้นมะนาวที่เจริญบนต้นตอกับต้นมะนาวพันธุ์แป้นรำไพที่เจริญบนต้นตอส้มพันธุ์ volkameriana ในสภาพแปลง เมื่อเดือนสิงหาคม 2556 ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร จังหวัดพิจิตร กรรมวิธีการตัดแต่งกิ่งแบบต่างๆได้แก่กรรมวิธีที่ 1, 2 และ 3 ตัดแต่งทรงพุ่มแบบพีรามิดแปลงหรือแบบดัดแปลงยอดกลาง (modified leader or delayed-open center type) ให้ชั้นเรือนยอดสูง 2.0, 1.5 และ 1.0 เมตรเหนือพื้นดิน ตามลำดับ และเปรียบเทียบกับกรรมวิธีที่ 4 ตัดแต่งกิ่งให้ทรงพุ่มโปร่งตาม GAP มะนาว (วิธีเปรียบเทียบ) ระหว่างเดือนตุลาคม 2556 และเดือนกันยายน 2558 ปรากฏว่าต้นมะนาวที่ได้รับกรรมวิธีทั้ง 4 มีขนาดความกว้างทรงพุ่มเฉลี่ยไม่แตกต่างกันทางสถิติ และ %แสงภายในทรงพุ่มต้นมะนาวที่ได้รับกรรมวิธีตัดแต่งต่างๆ ไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ ในปี พ.ศ. 2558 วิธีการตัดแต่งต้นให้มีชั้นเรือนยอดสูง 1 เมตร เหนือพื้นดิน มีค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติและดูแลรักษาตลอดปีต่ำสุดเฉลี่ยเท่ากับ 4,822.40 บาท