ศึกษาช่วงความถี่ที่เหมาะสมในการพ่นสารฆ่าแมลงป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟฝ้ายในกล้วยไม้
#1
ศึกษาช่วงความถี่ที่เหมาะสมในการพ่นสารฆ่าแมลงป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟฝ้ายในกล้วยไม้
สิริกัญญา ขุนวิเศษ, พฤทธิชาติ ปุญวัฒโท, สุชาดา สุพรศิลป์, สรรชัย เพชรธรรมรส และสิริวิภา พลตรี
กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

          ทำการศึกษาช่วงความถี่ที่เหมาะสมและประสิทธิภาพในการพ่นสารฆ่าแมลงป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟฝ้าย (Thrips palmi Karny) ในกล้วยไม้ ทำการทดลอง 2 การทดลอง ในแปลงกล้วยไม้ของเกษตรกร อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม

          การทดลองที่ 1 ศึกษาช่วงเวลาที่เหมาะสมในการพ่นสารป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟฝ้ายในกล้วยไม้ ระหว่างเดือนพฤศจิกายน ถึงธันวาคม 2553 วางแผนการทดลองแบบ RCB มี 4 ซ้ำ จำนวน 6 กรรมวิธี ได้แก่ กรรมวิธีที่ 1 พ่นสารทุก 4 วัน กรรมวิธีที่ 2 พ่นสารทุก 5 วัน กรรมวิธีที่ 3 พ่นสารทุก 6 วัน กรรมวิธีที่ 4 พ่นสารทุก 7 วัน กรรมวิธีที่ 5 พ่นสารทุก 8 วัน และกรรมวิธีที่ 6 ไม่พ่นสาร โดยทุกกรรมวิธีใช้สาร emamectin benzoate (Proclaim 1.92% EC) อัตรา 20 มล./น้ำ 20 ลิตร ผลการทดลองพบว่า กรรมวิธีที่พ่นสารทุก 5 วัน และกรรมวิธีที่พ่นสารทุก 7 วัน มีประสิทธิภาพในการควบคุมเพลี้ยไฟได้ดี และทุกกรรมวิธีที่พ่นสารมีประสิทธิภาพในการควบคุมเพลี้ยไฟได้ดีกว่ากรรมวิธีไม่พ่นสาร

          การทดลองที่ 2 ทดสอบประสิทธิภาพสารป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟฝ้ายในกล้วยไม้ ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ ถึงมีนาคม 2555 วางแผนการทดลองแบบ RCB 4 ซ้ำ จำนวน 6 กรรมวิธี ได้แก่ กรรมวิธีที่ 1 พ่นสาร imidacloprid (Confidor 10% SL) กรรมวิธีที่ 2 พ่นสาร fipronil (Ascend 5% EC) กรรมวิธีที่ 3 พ่นสาร spinosad (Success 12% SC) กรรมวิธีที่ 4 พ่นสาร imidacloprid (Provado 10% SL) สลับกับ fipronil (Ascend 5% EC) (แบบ 1 : 1) กรรมวิธีที่ 5 พ่นสาร imidacloprid (Provado 10% SL) สลับกับ spinosad (Success 12% SC) (แบบ 1 : 1) โดยทุกกรรมวิธีพ่นสารทุก 5 วัน ใช้สารอัตรา 20 มล./น้ำ 20 ลิตร และกรรมวิธีที่ 6 ไม่พ่นสาร พ่นสารจำนวน 5 ครั้ง ผลการทดลองพบว่า ทุกกรรมวิธีที่พ่นสารมีประสิทธิภาพในการควบคุมเพลี้ยไฟได้ดีกว่ากรรมวิธีไม่พ่นสาร


ไฟล์แนบ
.pdf   2433_2555.pdf (ขนาด: 283.69 KB / ดาวน์โหลด: 700)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม