11-19-2015, 03:44 PM
การใช้และอนุรักษ์ไรตัวห้ำ Amblyseius cinctus เพื่อควบคุมไรแมงมุมเทียมกล้วยไม้ Tenuipalpus pacificus
มานิตา คงชื่นสิน, พิเชฐ เชาวนวัฒนวงศ์, พลอยชมพู กรวิภาสเรือง และวิมลวรรณ โชติวงศ์
กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช
มานิตา คงชื่นสิน, พิเชฐ เชาวนวัฒนวงศ์, พลอยชมพู กรวิภาสเรือง และวิมลวรรณ โชติวงศ์
กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช
ทำการศึกษาการใช้ไรตัวห้ำ Amblyseius cinctus Corpuz-Raros & Rimando เพื่อควบคุมไรแมงมุมเทียมกล้วยไม้, Tenuipalpus pacificus Baker ในระหว่างปี 2554 – 2555 ณ ห้องปฏิบัติการและเรือนทดลอง กลุ่มงานวิจัยไรและแมงมุม กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช โดยศึกษาวิธีการเพาะเลี้ยงไรตัวห้ำ A. cinctus เป็นปริมาณมาก ผลการทดลองพบว่า สามารถเพาะเลี้ยงไรตัวห้ำ A. cinctus เป็นปริมาณมากด้วยการใช้ไรขาวพริกเป็นเหยื่อ นอกจากนั้น ไรตัวห้ำ A. cinctus ยังสามารถกินเกสรธูปฤาษี และเกสรหญ้าตีนต๊กแกเป็นอาหารได้ด้วย ไรตัวห้ำมีประสิทธิภาพกินไรแมงมุมเทียมกล้วยไม้ได้เฉลี่ยวันละ 14.75 ตัว วางไข่ได้เฉลี่ยวันละ 1.3 ฟอง การทดสอบประสิทธิภาพของไรตัวห้ำ A.cinctus ในการควบคุมไรแมงมุมเทียมกล้วยไม้ในเรือนทดลองพบว่า การปล่อยไรตัวห้ำอัตรา 2 ตัวต่อต้น และ 5 ตัวต่อต้น ทุกสัปดาห์รวม 7 ครั้ง และกรรมวิธีพ่นสารฆ่าไร pyridaben 20% WP อัตรา 15 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร จำนวน 2 ครั้ง ห่างกัน 2 สัปดาห์ ให้ผลในการควบคุมไรแมงมุมกล้วยไม้ได้ผลดีแตกต่างทางสถิติจากกรรมวิธีควบคุม และเมื่อเปรียบเทียบระหว่างกรรมวิธีปล่อยไรตัวห้ำทั้ง 2 อัตรา และกรรมวิธีพ่นสารฆ่าไร pyridaben 20%WP พบว่า ทั้งการปล่อยไรตัวห้ำและการพ่นสารฆ่าไรให้ผลการควบคุมไรแมงมุมเทียมกล้วยไม้ได้ไม่แตกต่างกันทางสถิติ การปล่อยไรตัวห้ำอัตรา 2, 5 ตัวต่อตน และการพ่นสาร pyridaben 20% WP สามารถควบคุมไรแมงมุมเทียมกล้วยไม้ได้เฉลี่ย 64.8, 75.6 และ 88.4 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ