11-29-2016, 04:11 PM
การศึกษาผลกระทบและพัฒนาเทคโนโลยีการจัดการผลผลิตด้านเกษตรภายใต้สภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในประเทศไทย
สมชาย บุญประดับ, วลัยพร ศะศิประภา, นฤนาท ชัยรังษี, อรัญญ์ ขันติยวิชย์, ชนินทร์ ศิริขันตยากุล, ทวีพงษ์ ณ น่าน, จิตอาภา จิจุบาล, พินิจ จิรัคคกุล, นรีรัตน์ ชูช่วย, นพดล แดงพวง, วราพงษ์ ภิระบรรณ์, มนัสชญา สายพนัส, ดรุณี สมณะ, จิระ สุวรรณประเสริฐ, นุชนารถ ตั้งจิตสมคิด, พรพิมล อธิปัญญาคม, มนต์ชัย มนัสสิลา, อุษณา สุขจันทร์, เวียง อากรชี, ธวัชชัย นิ่มกิ่งรัตน์, มานพ หาญเทวี, นลินี จาริกภากร, สุรไกร สังฆสุบรรณ และสมเจตน์ ประทุมมินทร์
สำนักผู้เชี่ยวชาญ กรมวิชาการเกษตร, ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศการเกษตรและการสื่อสาร, สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1, ศูนย์วิจัยและพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตรขอนแก่น, สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรน่าน, ศูนย์วิจัยเกษตรที่สูงเพชรบูรณ์, ศูนย์วิจัยเกษตรวิศวกรรมขอนแก่น, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเพชรบุรี, สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพัทลุง, สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ, สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช, กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร, ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเชียงใหม่
ได้ดำเนินการการวิเคราะห์พื้นที่อ่อนไหว การศึกษาผลกระทบ และศึกษาพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศต่อการระบาดแมลงศัตรูมะพร้าวในพื้นที่อ่อนไหว โดยนำร่องในพื้นที่แห้งแล้งอำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในระหว่างปี 2555 - 2558 จากผลการประเมินการระบาดของแมลงศัตรูมะพร้าวพบว่า มีการเข้าทำลายของแมลงศัตรูมะพร้าวหลายชนิด โดยมีหนอนหัวดำระบาดในระดับรุนแรงที่สุด รองลงมาเป็นแมลงดำหนาม และยังพบร่องรอยการทำลายของด้วงแรดและด้วงงวงในบางแปลง โดยพบการระบาดของหนอนหัวดำครั้งแรกที่ตำบลอ่าวน้อย อำเภอเมือง ต่อมาขยายไปที่ตำบลเขาล้าน อำเภอทับสะแก และการระบาดได้ขยายพื้นที่ขึ้นไปทางตอนเหนือของจังหวัด เนื่องจากมีสภาพอากาศร้อนและแห้งแล้ง จากผลการสำรวจภาคสนามพบว่า สภาพภูมิอากาศที่แห้งแล้งยาวนานและติดต่อกันหลายปี ทำให้การระบาดของแมลงยังปรากฏอยู่โดยระดับความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นเมื่อมีความแห้งแล้งยาวนาน รวมทั้งศัตรูธรรมชาติมีน้อยหรือไม่เพียงพอ ซึ่งอุณหภูมิที่สูงขึ้นแมลงศัตรูธรรมชาติอาจลดน้อยลงมาก นอกจากนี้ยังพบว่า แปลงที่ปลูกมะพร้าวร่วมกับพืชอื่น ในช่วงแล้งการทำลายจะไม่รุนแรงเมื่อเทียบกับแปลงที่ปลูกเป็นพืชเดี่ยว และแปลงมะพร้าวที่มีการให้น้ำได้ หรือแปลงพื้นที่ลุ่มมีร่องขังน้ำ มักไม่ค่อยพบการทำลายหรือพบในระดับน้อยและไม่แพร่ขยาย และหากฝนตกมากขึ้นโดยเฉพาะช่วงปลายฝนทำให้ระดับการระบาดของแมลงลดลงชัดเจน และได้ทำการประเมินผลการควบคุมแมลงศัตรูมะพร้าวในระดับพื้นที่ โดยการใช้แตนเบียนแมลงศัตรูธรรมชาติในการควบคุม และการเจาะต้นอัดฉีดสารเคมีเข้าต้นมะพร้าวที่อำเภอกุยบุรี ผลการดำเนินงานพบว่า การควบคุมจำเป็นต้องใช้วิธีการผสมผสานโดยการใช้แตนเบียน แมลงศัตรูธรรมชาติ และการเจาะต้นอัดฉีดสารเคมีเข้าต้นมะพร้าวให้เหมาะกับสภาพการระบาดที่เกิดขึ้น การปลูกพืชระหว่างแถวมะพร้าวและสวนที่น้ำชลประทานเข้าหล่อเลี้ยงสามารถรักษาใบไม่ให้ถูกทำลายรุนแรงได้ อย่างไรก็ตาม สภาพอากาศที่ร้อนและแห้งแล้งทำให้การเข้าทำลายรุนแรงขึ้นและการฟื้นฟูสวนมะพร้าวช้าลง
ได้ทำการศึกษาผลกระทบของเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต โดยเฉพาะจุลินทรีย์ ในพื้นที่อ่อนไหวลุ่มน้ำปาย ได้แก่ พื้นที่ต้นน้ำอำเภอปาย พื้นที่กลางน้ำอำเภอปางมะผ้า และพื้นที่ปลายน้ำอำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ในปี 2557/58 จากผลการสำรวจ รวบรวม และจำแนกชนิดของจุลินทรีย์พบว่า ในแปลงปลูกถั่วเหลือง ถั่วแดง และถั่วลิสง ตรวจพบไส้เดือนฝอยกลุ่มหากินอิสระในดิน 6 สกุล คือ Dorylaimus, Mononchus, Rhabditis, Alaimus, Nygolaimus และ Seinura และไส้เดือนฝอยศัตรูพืช 3 สกุล คือ Helicotylenchus, Hirschmaniella และ Hoplolaimus และจากการจำแนกชนิดของจุลินทรีย์ดิน ได้ตรวจพบแบคทีเรียตรึงไนโตรเจนอิสระและผลิตสารส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืชมีปริมาณมากกว่าเชื้อไรโซเบียม และเชื้อรา ตามลำดับ นอกจากนี้ ได้มีการสำรวจโรคและแมลงศัตรูพืชในพื้นที่ต้นน้ำในแปลงปลูกถั่วเหลือง พบเพลี้ยอ่อนถั่วเหลือง หนอนม้วนใบถั่ว หนอนแมลงวันเจาะต้นถั่ว และด้วงเต่าตัวห้ำ แต่ไม่พบโรค สำหรับในแปลงปลูกกระเทียม พบโรคใบไหม้ และโรคใบจุดสีม่วง พื้นที่กลางน้ำในแปลงปลูกกาแฟอราบิก้าพบเพลี้ยหอย และราดำ แปลงปลูกผักกาดจอ พบเพลี้ยอ่อน มวนปีกแก้ว และโรคใบจุด แปลงปลูกส้ม พบเพลี้ยอ่อน กรีนนิ่ง รากเน่าโคนเน่า ใบจุดแอนแทรคโนส แปลงปลูกอโวกาโด พบแมลงหวี่ขาว แต่ไม่พบโรค และพื้นที่ปลายน้ำในแปลงปลูกถั่วเหลือง พบหนอนแมลงวันเจาะต้นถั่ว หนอนม้วนใบถั่ว ด้วงหมัดผัก ด้วงเต่าแตงจุดขาว แต่ไม่พบโรค
ได้พัฒนาศูนย์สู่ความเป็นเลิศเพื่อพัฒนาองค์ความรู้และถ่ายทอดองค์ความรู้ เพื่อพัฒนาศักยภาพนักวิจัย ประกอบด้วยกิจกรรมการพัฒนาศักยภาพของนักวิจัยของศูนย์สู่ความเป็นเลิศดำนการจัดการดินและน้ำ และการสร้างและพัฒนาเครื่องมือตรวจวัดสภาพภูมิอากาศและความชื้นดินเพื่อติดตั้งในศูนย์สู่ความเป็นเลิศ ดำเนินการที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตรขอนแก่น ศูนย์วิจัยเกษตรวิศวกรรมขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น เป็นศูนย์วิจัยหลัก และศูนย์สู่ความเป็นเลิศภายในวิจัยต่างๆ ของกรมวิชาการเกษตรทั่วประเทศ ในปี 2555 - 2558 ผลการดำเนินงานพบว่า ได้จัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการแก่นักวิจัยของกรมวิชาการเกษตรจากศูนย์สู่ความเป็นเลิศของในหลักสูตรเรื่อง การจัดทำระบบฐานข้อมูล และแบบจำลองวิเคราะห์ระบบการผลิตเพื่อการจัดการที่เหมาะสมและเพิ่มศักยภาพพื้นที่ จำนวน 5 รุ่น รวม 100 คน โดยกำหนดให้ผู้ผ่านการฝึกอบรมนำความรู้และประสบการณ์ ไปดำเนินการศึกษาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อระบบการผลิตพืชภายในศูนย์สู่ความเป็นเลิศ เกี่ยวกับการจัดการดินและน้ำของพืชต่างๆ ได้แก่ ข้าวโพด มันฝรั่ง ลำไย มะนาว สับปะรด และถั่วลิสง และได้ดำเนินการสร้างและพัฒนาเครื่องมือตรวจวัดสภาพภูมิอากาศและความชื้นดิน เพื่อติดตั้งที่ศูนย์สู่ความเป็นเลิศทั่วประเทศ โดยมีอุปกรณ์ในการตรวจวัด จัดส่ง และเก็บข้อมูลเกี่ยวกับปัจจัยที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของพืช ได้แก่ อุณหภูมิและความชื้นอากาศแวดล้อม ความเข้มแสง ความชื้นในดิน โดยจะมีอุปกรณ์ตรวจวัดติดตั้งอยู่ในแปลงปลูกพืช พร้อมอุปกรณ์ประมวลผลส่งข้อมูลไปยังตัวรับ ณ ห้องทำงาน และได้ติดตั้งอุปกรณ์และทดสอบความถูกต้องและแม่นยำของเครื่องมือ จนกระทั่งประสบผลสำเร็จด้วยดี