วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตส้มแขกในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน
#1
วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตส้มแขกในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน
สโรชา ถึงสุข, อนงค์นาฏ พรหมทะสาร, วันเพ็ญ พฤกษ์วิวัฒน์ ฐิตาภรณ์ ภูมิไชย, ณัฎฐา ดีรักษา, โนรี อิสมาแอ และนาตยา ดำอำไพ

          ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรภูเก็ตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสังกัดกรมวิชาการเกษตร ได้ร่วมดำเนินการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตส้มแขกในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน โดยเริ่มการทดลองตั้งแต่ปี พ.ศ.2554 - 2558 งานที่ทำการวิจัย คือ สำรวจการกระจายพันธุ์ส้มแขกจากแหล่งต่างๆ คือ จ.ภูเก็ต, พังงา, นครศรีธรรมราชและกระบี่ ด้วยวิธีการสุ่มแหล่งปลูกแบบบังเอิญ (Accidental Sampling) โดยการสุ่มตัวอย่างแบบง่าย (Simple Random Sampling) ซึ่งจากการสำรวจพบส้มแขก 2 ลักษณะ ลักษณะที่ 1 คือ Garcinia atroviridis ผลคล้ายฟักทองขนาดเล็กพบมากในจังหวัดปัตตานี, นราธิวาสและยะลา ลักษณะที่ 2 คือ Garcinia pedunculata ผลคล้ายผลฝรั่งมีพูแต่เห็นไม่ชัดเจน สำรวจพบที่บ้านคีรีวง อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช อำเภอทับปุด จังหวัดพังงา และอำเภอถลาง อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต จากนั้นศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรภูเก็ตคัดเลือกต้นส้มแขกพันธุ์ดีจาก 4 จังหวัด คือ ภูเก็ต พังงา นครศรีธรรมราช และกระบี่ จังหวัดละ 2 ต้น ซึ่งส้มแขกพันธุ์ดีที่มีลักษณะเป็นแบบที่ 2 คือ Garcinia pedunculata วางแผนการทดลองแบบ RCB มีจำนวน 8 กรรมวิธี 10 ซ้ำ มีระยะปลูก 8x8 เมตร รวมพื้นที่ปลูก 3.5 ไร่ โดยปลูกเมื่อเดือนสิงหาคม 2556 การเจริญเติบโตหลังปลูก 3 ปี ต้นส้มแขกมีความสูงตั้งแต่ 64.25 - 124.67 เซนติเมตร กรรมวิธีที่มีการเจริญเติบดีที่สุด คือ กรรมวิธีที่ 6 คือ ต้นส้มแขกของคุณณัฐมน จังหวัดภูเก็ต มีความสูงของต้นเฉลี่ยสูงสุด คือ 124.67 เซนติเมตร และจากการศึกษาความแตกต่างของพันธุ์ส้มแขกทั้ง 8 กรรมวิธี โดยเทคนิค AFLP สามารถใช้ในการจัดจำแนกพันธุกรรมของส้มแขกได้ ผลที่ได้ คือ ทั้ง 8 กรรมวิธี ไม่มีความแตกต่างกันในแต่ละต้น แสดงว่าส้มแขกมีพันธุกรรมเดียวกัน

          การศึกษาปริมาณสารสำคัญ คือ กรดไฮดรอกซี่ซิตริกแอซิค (HCA) ในส้มแขกพบว่า ส้มแขก Garcinia pedunculata มีสารไฮดรอกซี่ซิตริกแอซิค (HCA) ตั้งแต่ 184.88 - 245.34 มิลลิกรัมต่อกรัม โดยกรรมวิธีที่ 7 คือ ส้มแขกของคุณสุนทร จังหวัดพังงามีปริมาณกรดไฮดรอกซี่ซิตริกแอซิคสูงที่สุด คือ 245.34 มิลลิกรัมต่อกรัม และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรยะลาและศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนราธิวาส ศึกษาปริมาณสาร HCA ในส้มแขก Garcinia atroviridis พบว่า ผลสดมีปริมาณสาร HCA อยู่ในช่วง 39.71 - 46.88 มิลลิกรัมต่อกรัม เฉลี่ย 45.48 มิลลิกรัม/กรัม แต่ผลแห้ง 1 ปี มีปริมาณสาร HCA เฉลี่ย 211.96 มิลลิกรัม/กรัม และผลแห้งเก็บรักษาเกิน 1 มีปริมาณสาร HCA เฉลี่ย 225.76 มิลลิกรัม/กรัม จะเห็นว่าผลส้มแขกสดมีปริมาณสาร HCA น้อยที่สุด ส่วนการนำผลส้มแขกไปตากแห้งจะทำให้ปริมาณสาร HCA เพิ่มขึ้นแต่ไม่แตกต่างกันหลังจากที่เกินรักษาเป็นเวลา 1 ปี และนานเกิน1 ปี ผลส้มแขกสดจากจังหวัดยะลามีปริมาณสาร HCA สูงที่สุด 51.35 มิลลิกรัม/กรัม และผลส้มแขกสดจังหวัดนราธิวาสมีปริมาณสาร HCA น้อยที่สุด 41.59 มิลลิกรัม/กรัม ส่วนผลส้มแขกแห้งของจังหวัดนราธิวาสมีปริมาณสาร HCA สูงที่สุด 275.00 มิลลิกรัม/กรัม และจังหวัดสตูลที่มีสาร HCA น้อยที่สุด 184.70 มิลิลิกรัม/กรัม

          การศึกษาสภาพการผลิตส้มแขกในเขตพื้นที่ภาคใต้ตอนบนนี้เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ โดยวิธีการสุ่มแหล่งปลูกแบบบังเอิญ (Accidental Sampling) ใช้แบบสัมภาษณ์เก็บรวบรวมข้อมูลประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 ข้อมูลทั่วไปของเกษตรกร ส่วนที่ 2 ข้อมูลสภาพการผลิต และส่วนที่ 3 ข้อมูลสภาพการตลาด เก็บรวบรวมข้อมูลในเขตจังหวัดพังงา ภูเก็ต และนครศรีธรรมราช ได้เกษตรกรตัวอย่างทั้งหมด 45 ราย จากการศึกษาพบว่าพื้นที่ทำการเกษตรร้อยละ 71.11 มีขนาดไม่เกิน 5 ไร่ รายได้จากการจำหน่ายส้มแขกส่วนใหญ่ร้อยละ 33.33 มีรายได้มากกว่า 15,000 บาทต่อรายต่อปี พื้นที่ปลูกส้มแขกร้อยละ 84.44 มีสภาพเป็นที่เชิงเขา รูปแบบการทำสวนเป็นแบบผสมผสานแหล่งน้ำที่ใช้อาศัยน้ำฝนแหล่งเดียว เกษตรกรแต่ละรายมีต้นส้มแขกไม่เกิน 10 ต้น ร้อยละ 71.11 อายุต้นมากกว่า 21 ปี ร้อยละ 80.00 การขยายพันธุ์โดยเสียบยอดร้อยละ 82.22 ใช้ปุ๋ยบำรุงต้นร้อยละ 24.44 ต้นส้มแขกออกดอกช่วงเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม ร้อยละ 77.78 ติดผลช่วงเดือนมกราคมร้อยละ 64.44 และทำการเก็บเกี่ยวผลผลิตช่วงเดือนมีนาคมร้อยละ 66.67 สำหรับปัญหาที่พบในการผลิตส้มแขกเกิดจากศัตรูพืชร้อยละ 86.66 การจำหน่ายส้มแขกเกษตรกรจะจำหน่ายที่จุดรับซื้อภายในท้องถิ่นร้อยละ 82.22 โดยทำการขนส่งเอง สำหรับผลผลิตมีการแปรรูปร้อยละ 75.56 เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดพังงามีผลตอบแทนเฉลี่ย 2,340 บาทต่อต้น อัตราผลตอบแทนต่อการลงทุน 3.4 และเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชมีผลตอบแทนเฉลี่ย 3,312 บาทต่อต้น อัตราผลตอบแทนต่อการลงทุน 3.3

          ต้นส้มแขกที่เสียบยอดด้วยกิ่งข้าง และต้นที่เสียบยอดด้วยกิ่งกระโดง ใช้สำหรับศึกษาการจัดการทรงพุ่ม ดำเนินการที่ศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง ระหว่างปี 2556 - 2558 หลังจากปลูกได้ 30 เดือน ต้นที่เสียบยอดด้วยกิ่งข้าง มีความสูงของต้นเฉลี่ย 77.68 เซนติเมตร เส้นรอบวงลำต้น 3.86 เซนติเมตร และมีจำนวนกิ่ง 1.06 กิ่งต่อต้น จาก 100 ต้น มีต้นที่แตกกิ่ง 41 ต้น และต้นที่เสียบยอดด้วยกิ่งกระโดงมีความสูง 57.63 เซนติเมตร เส้นรอบวงลำต้น 3.24 เซนติเมตร ไม่มีการแตกกิ่ง ยังไม่ได้มีการตัดแต่งกิ่งตามกรรมวิธีที่วางไว้ เพราะต้นที่แตกกิ่งมีน้อย และจำนวนกิ่งต่อต้นมีจำนวนน้อย


ไฟล์แนบ
.pdf   159_2558.pdf (ขนาด: 2.17 MB / ดาวน์โหลด: 5,785)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 3 ผู้เยี่ยมชม