การคัดเลือก และทดสอบประสิทธิภาพเชื้อ Bacillus spp. ในการควบคุมโรคใบไหม้หน้าวัว
#1
การคัดเลือกและทดสอบประสิทธิภาพเชื้อ Bacillus spp. ในการควบคุมโรคใบไหม้หน้าวัว สาเหตุจากแบคทีเรีย
ปิยรัตน์ ธรรมกิจวัฒน์, รุ่งนภา คงสุวรรณ์, เพลินพิศ สงสังข์, ณัฏฐิมา โฆษิตเจริญกุล และวงศ์ บุญสืบสกุล
กลุ่มวิจัยโรคพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

          คัดเลือกแบคทีเรีย Bacillus sp. ที่แยกเก็บจากหน้าวัว (epiphyte และ endophyte) และแบคทีเรียจาก culture collection เลือกแบคทีเรียไอโซเลทที่มีประสิทธิภาพยับยั้งการเจริญของแบคทีเรีย X. axonopodis pv. dieffenbachiae ด้วยเทคนิค paper disc diffusion บนอาหาร Nutrient Glucose Agar เกิดเป็นวงใส (clear zone) ขนาดกว้างและคงสภาพการยับยั้งเป็นเวลากว่า 7 วัน นำมาทดสอบการควบคุมโรคในสภาพโรงเรือนปลูกพืชทดลอง ปี 2551 ใช้หน้าวัวพันธุ์อ่อนแอ 2 พันธุ์ คือ โรเซตตา และทรอปิคอล โดยพ่นเซลล์แขวนลอยแบคทีเรียปฏิปักษ์ที่คัดเลือกได้และแบคทีเรีย Bacillus sp. ชีวภัณฑ์การค้า เปรียบเทียบกับพ่นน้ำเปล่าทุก 7 วัน เป็นเวลา 5 สัปดาห์ พบว่ากรรมวิธีที่พ่นด้วยเซลล์แขวนลอยเชื้อ Bacillus sp. สายพันธุ์ 1G7 และ 1G7 + KA2 ให้ผลในการควบคุมโรคดีกว่าการทดลองเปรียบเทียบแต่เปอร์เซ็นต์การเกิดโรคยังค่อนข้างสูง ปี 2552 คัดเลือกและทดสอบการควบคุมโรคบนหน้าวัวพันธุ์โรซ่าพบว่า กรรมวิธีการพ่นเซลล์แขวนลอยแบคทีเรียปฏิปักษ์ ไอโซเลท 1G7 + KA2 + 20W1 ให้ผลในการควบคุมโรคดีกว่ากรรมวิธีอื่น ๆ รองลงมาคือ 20W1 การทดลองปี 2553 เลือกแบคทีเรียปฏิปักษ์ไอโซเลท 20W1 และ KA2 มาพัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นผงอัดเม็ดฟู่ ทดสอบการควบคุมโรคบนหน้าวัวพันธุ์โรซ่า โดยพ่นเซลล์แขวนลอยเชื้อเปรียบเทียบกับชีวภัณฑ์พบว่า กรรมวิธีพ่นเซลล์แขวนลอยเชื้อไอโซเลท 20W1 รองมาคือ KA2 และการพ่นชีวภัณฑ์ไอโซเลท 20W1 + KA2 ควบคุมโรคได้ดีกว่ากรรมวิธีอื่นและกรรมวิธีเปรียบเทียบ แต่ทุกกรรมวิธีเปอร์เซ็นต์การเกิดโรคค่อนข้างสูง ทั้งนี้อาจเนื่องจากสภาพแวดล้อมที่ร้อนชื้นกว่าสภาพแปลงเกษตรกร การพัฒนาวิธีการเตรียมแบคทีเรียปฏิปักษ์เป็นชีวภัณฑ์รูปผงอัดเม็ดฟู่โดยผสมเซลล์แบคทีเรียปฏิปักษ์ ใส่สารเพิ่มปริมาณ สารก่อฟองฟู่ และสารกันติด แล้วอัดเป็นเม็ดน้ำหนักเม็ดละประมาณ 4 กรัม ชีวภัณฑ์ผงอัดเม็ดฟู่สามารถแตกตัวในน้ำได้ดีภายใน 1 นาที มีอัตราการอยู่รอดของเชื้อสูง ใช้งานง่ายสะดวก สามารถพัฒนาชีวภัณฑ์สำหรับเกษตรกรเพื่อควบคุมโรคในแปลงได้ โดยไม่ต้องเตรียมเชื้อสดทุกครั้ง


ไฟล์แนบ
.pdf   1721_2553.pdf (ขนาด: 365.52 KB / ดาวน์โหลด: 2,255)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม