การนำเข้าแตนเบียน Anagyrus lopezi เพื่อควบคุมเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีชมพู
#1
การนำเข้าแตนเบียน Anagyrus lopezi เพื่อควบคุมเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีชมพู
อัมพร วิโนทัย, ประภัสสร เชยคำแหง, รจนา ไวยเจริญ, ชลิดา อุณหวุฒิ, อิสระ พุทธสิมมา, วัชริน แหลมคม และเถลิงศักดิ์ วีระวุฒิ
สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช, ศูนย์วิจัยพืชไร่ขอนแก่น, ศูนย์วิจัยพืชไร่ระยอง และสถาบันวิจัยพืชไร่

          เพลี้ยแป้งมันสำปะหลังเริ่มระบาดในปี 2551 จากการศึกษาพบว่าเพลี้ยแป้งที่ระบาดมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 และสร้างความเสียหายรุนแรง กระทบต่อการผลิตหัวมันสด อุตสาหกรรมและการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของประเทศคือ เพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีชมพู Phenacoccus manihoti Matile and Ferrero (Homoptera: Pseudococcodae) จึงได้มีการนำแตนเบียน Anagyrus lopezi (Hymenoptera: Encyrtidae) จากสาธารณรัฐเบนินมาศึกษาทดสอบความปลอดภัยเพื่อนำมาใช้ควบคุมเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีชมพูภายในประเทศไทย โดยทดสอบกับแมลงที่มีประโยชน์ 6 ชนิด และแมลงศัตรูพืช 8 ชนิด พบว่าแตนเบียน A. lopezi มีความเฉพาะเจาะจงต่อแมลงอาศัยสุงมาก ลงทำลายเฉพาะเพลี้ยแป้ง P. manihoti เท่านั้น วงจรชีวิตของแตนเบียน A. lopezi เมื่อเลี้ยงในห้องปฏิบัติการพบว่าใช้เวลาเจริญเติบโตตั้งแต่ระยะไข่ถึงระยะตัวเต็มวัย 11-25 วัน มีอัตราขยายพันธุ์เพิ่มปริมาณได้ 67 ตัวต่อแตนเบียนเพศเมีย 1 ตัว ผลการทดสอบประสิทธิภาพในไร่ทดลอง 3 แห่งคือ ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่ระยอง พื้นที่ 350 ไร่ สถาบันพัฒนามันสำปะหลัง (ห้วยบง) และพื้นที่ 25 หมู่บ้านในตำบลห้วยบง อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา พื้นที่ 34,500 ไร่ และที่ศูนย์วิจัยพืชไร่ขอนแก่น พื้นที่ 200 ไร่ รวมพื้นที่ 35,150 ไร่ ระหว่างปี พ.ศ. 2552-2553 พบว่าแตนเบียน A. lopezi สามารถควบคุมเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีชมพูได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่หน่วยงานภาครัฐ เอกชน รวม 26 แห่ง เพื่อนำไปขยายผลทำการเพาะเลี้ยงแตนเบียน  A. lopezi และปลดปล่อยควบคุมเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีชมพูต่อไป


ไฟล์แนบ
.pdf   1796_2553.pdf (ขนาด: 371.38 KB / ดาวน์โหลด: 831)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม