คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร
การนำเข้าแตนเบียน Anagyrus lopezi เพื่อควบคุมเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีชมพู - printable_version

+- คลังผลงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร (https://www.doa.go.th/research)
+-- คลังข้อมูล: รายงานผลงานวิจัยและพัฒนา (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=1)
+--- คลังข้อมูล: ผลงานวิจัยและพัฒนา ปี 2553 (https://www.doa.go.th/research/forumdisplay.php?fid=8)
+--- เรื่อง: การนำเข้าแตนเบียน Anagyrus lopezi เพื่อควบคุมเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีชมพู (/showthread.php?tid=902)



การนำเข้าแตนเบียน Anagyrus lopezi เพื่อควบคุมเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีชมพู - doa - 12-23-2015

การนำเข้าแตนเบียน Anagyrus lopezi เพื่อควบคุมเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีชมพู
อัมพร วิโนทัย, ประภัสสร เชยคำแหง, รจนา ไวยเจริญ, ชลิดา อุณหวุฒิ, อิสระ พุทธสิมมา, วัชริน แหลมคม และเถลิงศักดิ์ วีระวุฒิ
สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช, ศูนย์วิจัยพืชไร่ขอนแก่น, ศูนย์วิจัยพืชไร่ระยอง และสถาบันวิจัยพืชไร่

          เพลี้ยแป้งมันสำปะหลังเริ่มระบาดในปี 2551 จากการศึกษาพบว่าเพลี้ยแป้งที่ระบาดมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 และสร้างความเสียหายรุนแรง กระทบต่อการผลิตหัวมันสด อุตสาหกรรมและการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของประเทศคือ เพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีชมพู Phenacoccus manihoti Matile and Ferrero (Homoptera: Pseudococcodae) จึงได้มีการนำแตนเบียน Anagyrus lopezi (Hymenoptera: Encyrtidae) จากสาธารณรัฐเบนินมาศึกษาทดสอบความปลอดภัยเพื่อนำมาใช้ควบคุมเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีชมพูภายในประเทศไทย โดยทดสอบกับแมลงที่มีประโยชน์ 6 ชนิด และแมลงศัตรูพืช 8 ชนิด พบว่าแตนเบียน A. lopezi มีความเฉพาะเจาะจงต่อแมลงอาศัยสุงมาก ลงทำลายเฉพาะเพลี้ยแป้ง P. manihoti เท่านั้น วงจรชีวิตของแตนเบียน A. lopezi เมื่อเลี้ยงในห้องปฏิบัติการพบว่าใช้เวลาเจริญเติบโตตั้งแต่ระยะไข่ถึงระยะตัวเต็มวัย 11-25 วัน มีอัตราขยายพันธุ์เพิ่มปริมาณได้ 67 ตัวต่อแตนเบียนเพศเมีย 1 ตัว ผลการทดสอบประสิทธิภาพในไร่ทดลอง 3 แห่งคือ ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่ระยอง พื้นที่ 350 ไร่ สถาบันพัฒนามันสำปะหลัง (ห้วยบง) และพื้นที่ 25 หมู่บ้านในตำบลห้วยบง อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา พื้นที่ 34,500 ไร่ และที่ศูนย์วิจัยพืชไร่ขอนแก่น พื้นที่ 200 ไร่ รวมพื้นที่ 35,150 ไร่ ระหว่างปี พ.ศ. 2552-2553 พบว่าแตนเบียน A. lopezi สามารถควบคุมเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีชมพูได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่หน่วยงานภาครัฐ เอกชน รวม 26 แห่ง เพื่อนำไปขยายผลทำการเพาะเลี้ยงแตนเบียน  A. lopezi และปลดปล่อยควบคุมเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีชมพูต่อไป