การเฝ้าระวังการเกิดและการแพร่กระจายของรา Guignardia citricarpa สาเหตุโรคจุดดำของส้มโอ
#1
การเฝ้าระวังการเกิดและการแพร่กระจายของรา Guignardia citricarpa สาเหตุโรคจุดดำของส้มโอ
พรพิมล อธิปัญญาคม, สุณีรัตน์ สีมะเดื่อ และศรีสุรางค์ ลิขิตเอกราช
กลุ่มวิจัยโรคพืช และสำนักผู้เชี่ยวชาญ กลุ่มวิจัยโรคพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

          จากการติดตามสถานการณ์การเกิดและการแพร่กระจายของรา Phyllosticta citricarpa สาเหตุโรคจุดดำของส้มโอนั้นพบการระบาดของโรคทั้ง 2 ปี การพบโรคที่ใบในช่วงเดือนตุลาคมถึงมิถุนายน อาการที่ใบไม่รุนแรง และเมื่อนำมาแยกเชื้อพบรา P. citricarpa เท่ากับ 20%, P. mangiferae เท่ากับ 65% นอกนั้นเป็นการปนเปื้อนที่เกิดจากแบคทีเรีย

           ในการศึกษาครั้งนี้ได้ตรวจหารา Guignardia citricarpa ซึ่งเป็นเชื้อสาเหตุในระยะ sexual state ของรา Phyllosticata citricarpa และรา G. citricarpa อาศัยอยูบนเศษใบส้มโอที่ตกอยู่ที่พื้นดิน โดยทำการเก็บเศษซากใบส้มโอมาตรวจหาเชื้อในห้องปฏิบัติการ ผลการทดลองตรวจหารานี้พบรา Colletotrichum gloeosporioides และ Phomopsis sp. ในช่วงเดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม จากการตรวจหาเชื้อภายใต้กล้องจุลทรรศน์และแยกเชื้อไม่พบระยะ sexual state : Guignardia citricarpa ของ Phyllosticta citricarpa ในเศษใบส้มโอที่ตกอยู่ที่พื้นดินเลย จากการติดตามสถานการณ์ของโรคจุดดำของส้มโอในประเทศไทย พบโรคจุดดำบนผลส้มโอที่จังหวัดสมุทรสงคราม ราชบุรี ตราด เชียงราย เชียงใหม่ ชุมพร นครศรีธรรมราช และสงขลา ระหว่างเดือนสิงหาคม 2550 – พฤศจิกายน 2551 พบโรคจุดดำบนส้มโอพันธุ์ทองดี ที่อำเภอนครชัยศรี อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม อำเภอบางคณฑี จังหวัดสมุทรสงคราม อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี อำเภอเกาะช้าง จังหวัดตราด อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย อำเภอเมือง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา พบโรคจุดดำบนส้มโอพันธุ์ขาวใหญ่ และพวงชมภู ที่อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย พันธุ์จ้าวเสวย พบโรคจุดดำที่อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร และพันธุ์ทับทิมสยาม พบโรคจุดดำที่อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยพบโรคจุดดำทุกแหล่งที่ทำการสำรวจ ความรุนแรงของโรคพบตั้งแต่ 1-100 จุดแผลต่อผล จากการสำรวจพบโรคมากบนผลส้มโอที่เก็บเกี่ยวเมื่ออายุมากส่วนผลที่มีอายุน้อยพบจำนวนแผลที่น้อยกว่า


ไฟล์แนบ
.pdf   1671_2553.pdf (ขนาด: 437.77 KB / ดาวน์โหลด: 733)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 7 ผู้เยี่ยมชม