11-23-2015, 01:47 PM
การศึกษาอนุกรมวิธานและการใช้ประโยชน์ของพืชวงศ์เหงือกปลาหมอใน ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย
วินัย สมประสงค์, จารุวรรณ จาติเสถียร, พงษ์ศักดิ์ พลตรี, กาญจนา พฤษพันธ์, วิลาสินี จิตต์บรรจง, บดินทร สอนสุภาพ, ปาจรีย์ อินทะชุบ, ภัทธรวีร์ พรมนัส และชัยนาท ชุ่มเงิน
สำนักคุ้มครองพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร
วินัย สมประสงค์, จารุวรรณ จาติเสถียร, พงษ์ศักดิ์ พลตรี, กาญจนา พฤษพันธ์, วิลาสินี จิตต์บรรจง, บดินทร สอนสุภาพ, ปาจรีย์ อินทะชุบ, ภัทธรวีร์ พรมนัส และชัยนาท ชุ่มเงิน
สำนักคุ้มครองพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร
จากการศึกษาพืชวงศ์เหงือกปลาหมอในประเทศไทย มีการใช้ประโยชน์หลายด้านซึ่งสัมพันธ์กับวงศ์ย่อยต่างๆ รวมทั้งสิ้น 17 สกุล 39 ชนิด 1 ชนิดย่อย 2 พันธุ์ พบว่า พืชที่ใช้ประโยชน์ในกลุ่มชาติพันธุ์ที่ศึกษาการใช้ประโยชน์ทั้ง 3 ภาค (ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) แบ่งเป็น พืชผัก (6 ชนิด) เป็นยาพื้นบ้าน (39 ชนิด) พืชสี (2 ชนิด) และเป็นพืชใช้หมักแป้งทำเหล้าอุ (2 ชนิด) แต่การศึกษาด้านอนุกรมวิธานของพืชวงศ์เหงือกปลาหมอในประเทศไทย ยังมีปัญหาด้านการจัดจำแนกในระดับวงศ์ย่อย จึงจำเป็นต้องมาศึกษาข้อมูลการจำแนกทางอนุกรมวิธาน นิเวศวิทยาการกระจายพันธุ์ การจำแนกชื่อวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้อง เพื่อการจำแนกพืชวงศ์นี้ในประเทศไทยให้ถูกต้อง จากการศึกษาพบว่า การจำแนกพืชวงศ์เหงือกปลาหมอในประเทศไทยทั้ง 3 ภาคดังกล่าว สามารถจำแนกได้ 3 วงศ์ย่อย ได้ทั้งสิ้น 26 สกุล 191 ชนิด คือ วงศ์ย่อย Nelsonoideae (3 สกุล 7 ชนิด) มีลักษณะสำคัญคือ การเรียงกลีบแบบ descending cochlear aestivation ที่ผิวใบไม่พบซิสโทลิท (cystolith) ผลแห้งแตก ไม่พบตะขอดีดเมล็ด วงศ์ย่อย Thunbergioideae (1 สกุล 6 ชนิด) มีลักษณะสำคัญคือ เป็นไม้เถา อับเรณูพบขนแข็ง ผลแห้งแตก หรือผลเมล็ดเดียวแข็ง และวงศ์ย่อย Acanthoideae (22 สกุล 89 ชนิด) มีลักษณะสำคัญคือ ผลแห้งแตก พบตะขอดีดเมล็ด
การศึกษาด้านอนุกรมวิธานของพืชวงศ์เหงือกปลาหมอในครั้งนี้ พบพืชวงศ์เหงือกปลาหมอที่เป็นชนิดใหม่ของโลก 3 ชนิด คือ ฮ่อมจิรายุพิน (Phlogacanthus chirayupinianus W. Somprasong & S. Vajarodhaya sp. nov.) ต้นตะขาบสาละวิน (Lepidagathis salawinensis W. Somprasong & S. Vajarodhaya sp. nov.) และเดือยงูแก่งกระจาน (Gymnostachyum kaengkrachanense W. Somprasong & N. Toonmal sp. nov.)