01-17-2019, 01:38 PM
ความต้านทานและการจัดการความต้านทานสารกำจัดไรต่อไรแมงมุมคันซาวา T. kanzawai ในกุหลาบ
อัจฉราภรณ์ ประเสริฐผล, พิเชฐ เชาวน์วัฒนวงศ์, พลอยชมพู กรวิภาสเรือง และอทิติยา แก้วประดิษฐ์
สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช
อัจฉราภรณ์ ประเสริฐผล, พิเชฐ เชาวน์วัฒนวงศ์, พลอยชมพู กรวิภาสเรือง และอทิติยา แก้วประดิษฐ์
สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช
ไรแมงมุมคันซาวา Tetranychus kanzawai Kishida เป็นศัตรูสำคัญของกุหลาบ ฝ้ายและพืชเศรษฐกิจอีกหลายชนิด ปัจจุบันในแหล่งปลูกกุหลาบที่สำคัญในประเทศไทย เกษตรกรมีการใช้สารเคมีอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดปัญหาสารเคมีที่แนะนำเริ่มมีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดน้อยลงการทดลองนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความต้านทานและการจัดการความต้านทานสารกำจัดไรต่อไร แมงมุมคันซาวา T. kanzawai ในกุหลาบ ดำเนินการทดลองระหว่างเดือนตุลาคม 2559 – กันยายน 2560 ในห้องปฏิบัติการที่อุณหภูมิ 26.49 ± 0.07 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 60.04 ± 0.86 %RH ผลการทดลองพบว่า เปอร์เซ็นต์การตายของไรแมงมุมคันซาวา T. kanzawai ต่อสารป้องกันกำจัดไรต่างๆ ที่อัตราแนะนำ สารป้องกันกำจัดไรไพริดาเบน (pyridaben) มีผลต่อการตายของไรแมงมุมคันซาวาจากทุกพื้นที่ 100% สารป้องกันกำจัดไรที่ให้ผลรองลงมาและสามารถฆ่าไรได้มากกว่า 85% ขึ้นไป คือ ไซฟลูมีโทเฟน (cyflumetofen) และอะมิทราซ (amitraz) จาก ต.ช่องแคบ อ.พบพระ จ.ตาก (Tak 1) ต.สมเด็จเจริญ อ.หนองปรือ จ.กาญจนบุรี และ ต.วังน้ำซับ อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี ส่วนสารป้องกันกำจัดไรชนิดอื่น คือ เฟนไพรอกซิเมต (fenpyroximate) สไปโรมีซิเฟน (spiromesifen) และเฟนบูทาทินออกไซด์ (fenbutatin oxide) สามารถฆ่าไรได้ประมาณ 20 - 80% เท่านั้น ซึ่งผลการทดลองนี้สามารถทำให้ทราบประสิทธิภาพสารกำจัดไรที่ดีในการป้องกันกำจัด ณ ช่วงเวลาปัจจุบันสามารถนำมาใช้ในการหมุนเวียน เพื่อลดปริมาณไรแมงมุมคันซาวาในแปลงกุหลาบ และลดปัญหาความต้านทาน รวมไปถึงสามารถวางแผนจัดการความต้านทานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น