โครงการปรับปรุงพันธุ์มะพร้าว
#1
โครงการปรับปรุงพันธุ์มะพร้าว
ปริญดา หรูนหีม, เสงี่ยม แจ่มจำรูญ, ชัชมณฑ์ แดงกนิฐนาฐาวร, ทิพยา ไกรทอง, ปัญจพล สิริสุวรรณมา, สุนันท์ ถีรวุฒิ, หยกทิพย์ สุดารีย์, มานิต สารุณา, กลอยใจ คงเจี้ยง, ดารากร เผ่าชู, ชญานุช ตรีพันธ์, ศุกร์ เก็บไว้, ประภาพร ฉันทานุมัติ, ศุภลักษณ์ อริยภูชัย, นูรอาดีลัฮ เจะโด, วิไลวรรณทวิชศรี, พัชราภรณ์ หนูวิสัย, ดาริกา ดาวจันอัด, ยุพิน กสินเกษมพงษ์, ทวีป หลวงแก้ว, วลัยพร พุฒจันทึก, ถวิล ทวีรัตน์ และอุดมพร เสือมาก 
ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร, สถาบันวิจัยพืชสวน, ศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรชุมพร, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครพนม, ศูนย์วิจัยยางสุราษฎร์ธานี, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรตรัง, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรปัตตานี และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรรือเสาะ

          การผสมพันธุ์แบบผสมกลับมะพร้าวลูกผสมกะทิวางแผนการทดลองแบบ RCB จำนวน 5 ซ้ำ 4 กรรมวิธี ได้แก่ กรรมวิธีที่ 1 ต้นกล้ามะพร้าวที่ได้จากการผสมเปิด กรรมวิธีที่ 2 ต้นกล้ามะพร้าวที่ได้จากการผสมพันธุ์ด้วยละอองเกสรมะพร้าวกะทิ โดยไม่ทำหมันกรรมวิธีที่ 3 ต้นกล้ามะพร้าวที่ได้จากการทำหมัน และผสมพันธุ์ด้วยละอองเกสรมะพร้าวกะทิไม่คลุมถุง และกรรมวิธีที่ 4 ต้นกล้ามะพร้าวที่ได้จากการทำหมัน ผสมพันธุ์ด้วยละอองเกสรมะพร้าวกะทิและคลุมถุงจากนั้นนำคัพภะมาเพาะเลี้ยงในสภาพปลอดเชื้อส่วนผลมะพร้าวธรรมดานำมาเพาะ และปลูกเปรียบเทียบพันธุ์ลูกผสมแบบผสมกลับ 2 พื้นที่ ได้แก่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรชุมพร และศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง พบว่ากรรมวิธีที่ 4 มีเปอร์เซ็นต์เป็นกะทิมากที่สุด คือ 50.68 เปอร์เซ็นต์ ได้ผลมะพร้าวที่เป็นกะทิ มีจำนวนทั้งหมด 479 ผล ส่วนผลมะพร้าวที่ไม่เป็นกะทิจำนวน 1,270 ผล นำมาเพาะเป็นต้นกล้าเพื่อปลูกทดสอบโดยวัดการเจริญเติบโต ด้านความสูงต้น ขนาดรอบโคนต้น ความยาวก้านใบ ความยาวใบ จำนวนใบบนต้น จำนวนใบเพิ่ม และจำนวนใบย่อยของมะพร้าวลูกผสมกะทิ เมื่ออายุ 12, 18 และ 24 เดือน หลังปลูก พบว่าทุกกรรมวิธีมีการเจริญเติบโตที่ไม่มีความแตกต่างกันในทางสถิติและการสร้างความหลากหลายในพันธุ์มะพร้าวกะทิที่สวนผลิตพันธุ์มะพร้าวคันธุลีในแปลงเปรียบเทียบพันธุ์ทั้ง 5 พันธุ์ได้แก่ พันธุ์เวสอัฟริกันต้นสูงกะทิ, ทุ่งเคล็ดกะทิ, มลายูสีแดงต้นเตี้ยกะทิ, มลายูสีเหลืองต้นเตี้ยกะทิและน้ำหอมกะทิจำนวนทั้งสิ้น 179 ต้น เก็บข้อมูลการเจริญเติบโต และการพัฒนาของคัพภะ พบว่าการเจริญเติบโตมะพร้าวกะทิทั้ง 5 สายพันธุ์ ที่อายุ 4 - 7 ปี มีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง และดำเนินการเพาะเลี้ยงคัพภะในสภาพปลอดเชื้อจากแปลงเปรียบเทียบพันธุ์มะพร้าวกะทิดังกล่าวพบว่า คัพภะสามารถพัฒนาเป็นต้นได้ ซึ่งใช้ระยะเวลา 1 - 1.5 ปี มีอัตราการรอดของต้นกล้าทั้งหมด 426 ต้น จากจำนวนคัพภะทั้งหมด 1,296 คัพภะ และได้นำต้นกล้าจากการเพาะเลี้ยงคัพภะอนุบาลในโรงเรือนซึ่งใช้ระยะเวลาประมาณ 10 - 12 เดือน มีอัตราการรอดของต้นกล้าในโรงเรือนทั้งหมด 135 ต้น และขณะนี้ได้ดำเนินการเพาะเลี้ยงคัพภะเพื่อให้ได้ในปริมาณมากสำหรับสร้างเป็นแปลงมะพร้าวกะทิทั้ง 5 สายพันธุ์ ในพื้นที่ 20 ไร่ ต่อไปส่วนการสร้างสวนมะพร้าวน้ำหอมโดยการเพาะเลี้ยงคัพภะพบว่า สามารถเพาะเลี้ยงคัพภะจำนวนทั้งหมด 960 คัพภะ และคัพภะสามารถพัฒนาเป็นต้นอ่อนได้จำนวน 613 ต้น คิดเป็น 63.85 เปอร์เซ็นต์และเป็นต้นกล้าที่สมบูรณ์ ได้จำนวน 374 ต้น เป็น 38.9 เปอร์เซ็นต์ และนำต้นกล้าที่สมบูรณ์ปลูกลงแปลง จำนวน 90 ต้น และเก็บข้อมูลการเจริญเติบโตที่อายุ 12 - 27 เดือน โดยวัดขนาดเส้นรอบวงที่โคนต้นความสูงของต้นความยาวก้านทางใบ ความยาวก้านทาง นับจำนวนใบ และจำนวนใบย่อย พบว่าต้นมะพร้าวมีการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามอายุของมะพร้าว และมีความแข็งแรง และสมบูรณ์ของต้นดีจากนั้นได้มีการขยายพันธุ์และสร้างสวนผลิตพันธุ์น้ำหอม ดำเนินการที่ศูนย์วิจัยพืชสวนตรังเก็บข้อมูลด้านการเจริญเติบโต พบว่าความสูงต้นเฉลี่ย 87.47 เซนติเมตร เส้นรอบวงโคนต้นเฉลี่ย 15.35 เซนติเมตร และจำนวนทางใบเฉลี่ย 4.38 ทางใบ มีค่าความยาวใบเฉลี่ย 69.40 เซนติเมตร และมีค่าเฉลี่ยจำนวนใบย่อย 8.58 ใบ ด้านผลผลิตและคุณภาพผลผลิตพบว่า ต้นมีจำนวนต้นที่ออกจั่น และให้ผลผลิตแล้วจำนวน 84 ต้น วิเคราะห์ส่วนประกอบของผลที่อายุ 7 และ 9 เดือน พบว่าน้ำหนักผลโดยเฉลี่ย 1,840.07 และ 1,132.14 กรัม ความความกว้างโดยเฉลี่ย 16.66 และ 15.83 เซนติเมตร ความยาวโดยเฉลี่ย 17.90 และ 17.38 เซนติเมตร น้ำหนักเปลือกโดยเฉลี่ย 1,171.69 และ 463.34 กรัม น้ำหนักปอกเปลือกโดยเฉลี่ย 651.04 และ 665.28 กรัม ปริมาณน้ำโดยเฉลี่ย 375.76 และ 229.08 กรัม  น้ำหนักกะลาโดยเฉลี่ย 160.53 และ 147.41 กรัม น้ำหนักเนื้อโดยเฉลี่ย 115.85 และ 289.54 กรัม ความหวานโดยเฉลี่ย 6.60 และ 6.14 องศาบริกซ์ และมีค่า R เฉลี่ย 0.09 และ 0.32 ตามลำดับ และจากการคัดเลือกพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมยังพบความแปรปรวน ทั้งในเรื่องความหวานความหอม และการเจริญเติบโต จึงได้มีการสร้างสวนผลิตพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมในเขตภาคเหนือตอนล่าง เพื่อศึกษาหาพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมที่หอมหวานเพื่อใช้เป็นแปลงผลิตพันธุ์ ดำเนินการที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร พื้นที่ 20 ไร่ พบว่าต้นมะพร้าวน้ำหอมอายุ 3.6 ปี มีความสูงต้นเฉลี่ยที่ 351.27 เซนติเมตร มีความกว้างทรงพุ่มเฉลี่ยที่ 321.07 เซนติเมตร และมีเส้นรอบวงโคนต้นเฉลี่ยที่ 95.66 เซนติเมตร ทางด้านการออกจั่นและการติดผลพบว่า ต้นมะพร้าวน้ำหอมออกจั่นจำนวน 20 ต้น และสามารถติดผลได้จำนวน 2 ต้น ในขณะที่ต้นทุนการผลิตพบว่า มีต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 4,961.40 บาทต่อไร่ แต่ยังคงพบความแปรปรวนในบางต้น จึงต้องคัดทิ้งเพื่อป้องกันการผสมภายในแปลงและไม่ตรงตามพันธุ์ ส่วนการใช้เทคโนโลยีเครื่องหมายโมเลกุลเพื่อการปรับปรุงพันธุ์มะพร้าวได้นำมะพร้าวทั้งสิ้นจำนวน 42 สายพันธุ์ มาตรวจสอบลายพิมพ์ดีเอ็นเอโดยใช้เทคนิค DNA Fingerprint ในการจำแนกพันธุ์พบว่า การใช้โปรแกรม R สามารถจำแนกมะพร้าวทั้ง 42 สายพันธุ์ ได้ 4 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มที่ 1 นิวกินีสีน้ำตาล กลุ่มที่ 2 ประกอบด้วย ทุ่งเคล็ด เวสอัฟริกันต้นสูงศรีลังกา ชุมพร 60 นกคุ่ม มะพร้าวไฟ หมูสีน้ำตาล ทุ่งเคล็ดกะทิ มลายูสีเหลือต้นเตี้ยน้ำหอมพระราชทาน ทับสะแก เรนเนล หมูสีส้ม ประทิว ไทยพื้นเมือง สวี1 มลายูสีแดงต้นเตี้ยกะทิ มลายูสีเหลืองต้นเตี้ยกะทิ น้ำหอมกะทิ เวสอัฟริกันต้นสูงกะทิ ตาฮิติ น้ำหอม นครศรีธรรมราช น้ำหวาน และชุมพร 2 กลุ่มที่ 3 ประกอบด้วย มลายูสีเหลืองต้นเตี้ยลูกผสมทุ่งเคล็ดกะทิ ลูกผสมมลายูสีเหลืองต้นเตี้ยกะทิ เวสอัฟริกันต้นสูงลูกผสมเวสอัฟริกันต้นสูงกะทิ ลูกผสมน้ำหอมกะทิ และลูกผสมมลายูสีแดงต้นเตี้ยกะทิ และกลุ่มที่ 4 ได้แก่ กะโหลก ทะลายร้อย นาฬิเก คาเมรูนสีแดงปากจก พวงร้อย และลูกผสม 3 สายพันธุ์ และจากการเปรียบเทียบพันธุ์มะพร้าวลูกผสมกะทิ ชั่วที่ 2 ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครพนมคัดเลือกต้นกล้ามะพร้าวกะทิลูกผสมทั้ง 5 สายพันธุ์ ที่สมบูรณ์ตรงตามสายพันธุ์ ที่สวนผลิตพันธุ์มะพร้าวคันธุลี ได้แก่ น้ำหอม x กะทิ สีแดงมลายูต้นเตี้ย x กะทิ สีแดงมลายูต้นเตี้ย x กะทิทุ่งเคล็ด x กะทิ และเวสอัฟริกันต้นสูง x กะทิ โดยดำเนินการปลูกมะพร้าวพันธุ์ลูกผสมกะทิชั่วที่ 2 ทั้งหมด 5 กรรมวิธี จำนวน 4 ซ้ำ และได้ทำการเก็บข้อมูลวัดการเจริญเติบโตในช่วงอายุ 6 – 36 เดือนพบว่า การเจริญเติบโตในด้านต่างๆ ในช่วงอายุ 6 – 24 เดือน มีแนวโน้มการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง และค่อนข้างคงที่ในส่วนของจำนวนใบ และจำนวนใบเพิ่มมะพร้าว แต่มะพร้าวในช่วงอายุ 30 – 36 เดือน จะมีการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน โดยพันธุ์มะพร้าวลูกผสมกะทิชั่วที่ 2 ในคู่ผสมระหว่างเวสอัฟริกันต้นสูง x กะทิ และสีแดงมลายูต้นเตี้ย x กะทิ มีแนวโน้มการเจริญเติบโตดีกว่าคู่ผสมอื่นๆ ส่วนคู่ผสมระหว่างน้ำหอม x กะทิ มีแนวโน้มในการเจริญเติบโตช้าที่สุด เมื่อเทียบกับคู่ผสมอื่นๆ และได้ทำการศึกษาชิ้นส่วนและอาหารสูตรที่เหมาะสมต่อการชักนำให้เกิดไซโกติคและโซมาติคเอ็มบริโอของมะพร้าวกะทิบนอาหารเหลวสูตร Eeuwens (Y3)ร่วมกับกรรมวิธีที่ 1 ไม่มีการเติมสารควบคุมการเจริญเติบโตกรรมวิธีที่ 2 2,4-D อัตรา1 มิลลิกรัมต่อลิตร กรรมวิธีที่ 3 2,4-D อัตรา 1 มิลลิกรัมต่อลิตร + IAA อัตรา 1 มิลลิกรัมต่อลิตร กรรมวิธีที่ 4 2,4-D อัตรา 3 มิลลิกรัมต่อลิตร กรรมวิธีที่ 5 2,4-D อัตรา มิลลิกรัมต่อลิตร+ IAA อัตรา 1 มิลลิกรัมต่อลิตร กรรมวิธีที่ 6 2,4-D อัตรา 6 มิลลิกรัมต่อลิตร และกรรมวิธีที่ 7 2,4-D อัตรา 6 มิลลิกรัมต่อลิตร+ IAA อัตรา 1 มิลลิกรัมต่อลิตรและเติมผงถ่าน เป็นระยะเวลา 30 60 และ 90 วัน พบว่าการศึกษาการเกิดไซโกติคของมะพร้าวกะทิจากชิ้นส่วนเอ็มบริโอกรรมวิธีที่ 1 ไม่มีการเติมสารควบคุมการเจริญเติบโตเป็นเป็นระยะเวลา 90 วัน เป็นกรรมวิธีที่ดีที่สุด สามารถได้ต้นอ่อนที่เกิดจากการชักนำให้เกิดยอดได้ ในแต่ละเอ็มบริโอเพียงจำนวน 1 ยอด โดยเพาะเลี้ยงเอ็มบริโอ จำนวนทั้งสิ้น 1,425 เอ็มบริโอ และมีการพัฒนาเป็นต้นอ่อนได้จำนวน 1,052 ต้น แต่ไม่สามารถพัฒนาเป็นแคลลัส และกระตุ้นให้เกิดยอดได้ในปริมาณมาก (Multiple Shoot) ส่วนการศึกษาการเกิดโซมาติคของมะพร้าวกะทิจากชิ้นส่วนช่อดอกอ่อนพบว่า ในทุกกรรมวิธีชิ้นส่วนของช่อดอกอ่อนไม่สามารถพัฒนาไปเป็นแคลลัสได้ และได้ปรับเปลี่ยนสูตรอาหารให้เหมาะสมต่อการพัฒนาชิ้นส่วนของช่อดอกอ่อนเพื่อชักนำให้เกิดแคลลัส และพัฒนาเป็นต้นอ่อนต่อไปนอกเหนือจากการปลูกมะพร้าวกะทิน้ำหอมในเขตภาคใต้ตอนบนแล้ว เพื่อขยายพื้นที่ปลูกมะพร้าวกะทิน้ำหอมมากขึ้น จึงได้ประเมินศักยภาพโดยการทดสอบเปรียบเทียบการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิตมะพร้าวกะทิน้ำหอมในจังหวัดตรัง ปัตตานี และนราธิวาส พบว่ามะพร้าวกะทิน้ำหอมที่ปลูกในพื้นที่จังหวัดตรังมีการเจริญเติบโตดี มากกว่าปลูกในพื้นที่จังหวัดปัตตานี และนราธิวาส


ไฟล์แนบ
.pdf   92_2558.pdf (ขนาด: 3.59 MB / ดาวน์โหลด: 4,815)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 3 ผู้เยี่ยมชม